ศักยภาพ อี-คอมเมิร์ซ อาเซียน (1)
การค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจ
โดย...วิมล ปั้นคง
การค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดในภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสูงถึง 199 ล้านคน มีผู้เป็นสมาชิกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก สูงสุดถึง 177 ล้านบัญชีในปี 2556
แม้มูลค่าการค้าของอี-คอมเมิร์ซแบบธุรกิจสู่ลูกค้า (บีทูซี) มีมูลค่าประมาณ 500-1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 0.2% ของยอดค้าปลีกของอาเซียน แต่มีโอกาสขยายตัวมากขึ้นในอนาคต จากปัจจัย คือ 1.การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง และแนวโน้มการปรับตัวลดลงของอุปกรณ์ไอทีทั้งโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต 2.ความพร้อมของโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม 3.ทางเลือกที่หลากหลายด้านบริการขนส่งสินค้า 4.ทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยผู้ให้บริการในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่มีระบบบริหารจัดการการชำระเงินและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ
จากการศึกษาแบ่งกลุ่มประเทศและระดับการพัฒนาในอาเซียน พบว่า ประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากร 100 คน มากกว่า 60% ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 20-60% ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย ส่วนประเทศที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตต่ำกว่า 20% ได้แก่ อินโดนีเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา
จากการประเมินขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วและขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุด กลุ่มที่ 2 มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันรองลงมา กลุ่มที่ 3 อินโดนีเซียและเวียดนาม กลุ่มที่ 4 ซึ่งถือเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพต่ำสุด ประกอบด้วย เมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว และบรูไน
จำนวนการใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตและมีผู้บริโภคในตลาดอี-คอมเมิร์ซ ได้ซื้อสินค้าและบริการผ่านมือถือจากราคาสมาร์ทโฟนปรับตัวลดลง โดยประเทศที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด 4 อันดับสูงสุด ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไทย โดยในช่วงปี 2556-2557 ประเทศเมียนมามีอัตราการเพิ่มขึ้นของการใช้โทรศัพท์มือถืออย่างเห็นได้ชัด
อาเซียนมีแผนแม่บทไอซีที 2015 ได้กำหนดให้การพัฒนาอาเซียน อี-คอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงานตามแผนแม่บท แต่ประเด็นที่ประเทศสมาชิกต้องเร่งร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา คือ ระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา และมีความเหลื่อมล้ำกัน กรณีสิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูง เนื่องจากได้พัฒนานโยบายและกฎระเบียบด้านดิจิทัลในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเด็นปัญหาสำคัญของการค้าอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เช่น การไม่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น