โค้ชผู้บริหารรับมือต่างวัฒนธรรม (1)
การโค้ชเน้นที่การลงมือปฏิบัติด้วย ตัวของผู้บริหารเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านดีที่ เป็นรูปธรรม
ดร.อัจฉรา จุ้ยเจริญ
การโค้ชคืออะไร สมาพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) ระบุความหมายของการโค้ชไว้ว่า การเป็นคู่คิดของผู้ได้รับการโค้ช ในกระบวนการการพัฒนาที่สร้างสรรค์และกระตุ้นให้ผู้ได้รับการโค้ชเกิดความคิดหรือใช้ความคิดของตนเอง เพื่อสนับสนุนให้ผู้ได้รับการโค้ชได้นำศักยภาพของตนเองออกมาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในอาชีพ
ผู้บริหารคนไทยที่กำลังจะไปประจำในต่างประเทศ ได้มาปรึกษาว่า ต้องการโค้ชผู้ใต้บังคับบัญชาในทีมใหม่และควรเตรียมตัวในด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมอย่างไร ดิฉันมักถามผู้บริหารให้มั่นใจก่อนว่า “ท่านอยากให้ผลการโค้ชออกมาเป็นอย่างไร” และคำถามต่อไป “ผลลัพธ์นั้นมีความหมายต่อท่านอย่างไร” เพื่อให้มั่นใจก่อนว่าท่านอยากพัฒนาเรื่องนี้จริงๆ เพราะเมื่อพูดถึงการโค้ช ไม่ใช่เป็นเพียงการถ่ายทอดความรู้จากโค้ชไปหาผู้ได้รับการโค้ช (โค้ชชี่) แบบนั้นคือการอบรมมากกว่าการโค้ชค่ะ
วิธีการที่โค้ชเคยบริหารคนสำเร็จมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารนำไปใช้แล้วจะใช้ได้ในสถานการณ์ของท่าน เหมือนที่เราได้ยินว่า “แผนที่ไม่ใช่ดินแดน” นั่นเอง แต่การโค้ชเน้นที่การลงมือปฏิบัติด้วยตัวของผู้บริหารเอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงด้านดีที่เป็นรูปธรรม
ต่อไป ดิฉันให้ท่านประเมินตนเองตามแนวทางนี้ก่อนค่ะ โดยถามก่อนว่าเมื่อพบกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีวัฒนธรรมต่างกัน ท่านมีทัศนคติและปฏิบัติต่อความแตกต่างอย่างไรดังต่อไปนี้
-ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ “คนเราก็เหมือนๆ กันหมดนั่นแหละ”
-สนใจ แต่ไม่ยอมรับ ยังเชื่อว่าวัฒนธรรมของตนเองเหนือกว่า ดีกว่า
-สนใจและยอมรับในความแตกต่าง แต่คิดว่าไม่ต้องทำอะไรก็ได้
-สนใจและอยากเรียนรู้เพื่อปรับตัวและวิธีการติดต่อสื่อสารให้เข้ากับวัฒนธรรมนั้นๆ
-สนใจ อยากเรียนรู้ และมองเชิงรุก ว่าสามารถนำความแตกต่างมาสร้างพลังร่วมได้อย่างไร (Synergy)
จะเห็นว่าการที่โค้ชชี่ได้ประเมินความคิดและความรู้สึกของตนเอง ก่อน จะทำให้เข้าใจชัดเจนว่าตนเองจะเริ่มพัฒนาจากจุดใด จากความเชื่อลึกๆ หรือจริงๆ ความเชื่อพร้อมแล้ว แต่ขาดความรู้และทักษะเท่านั้นเองรูปแบบความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น ด้านการสื่อสาร (Communication Patterns) คือ หนึ่ง สื่อสารแบบดูกาลเทศะ อาจไม่พูดอย่างที่คิด/ไม่ดูกาลเทศะ คิดอะไร พูดอย่างนั้นสอง สื่อสารตรงไปตรงมา/สื่อสารอ้อม สาม สื่อสารเป็นทางการ/แบบเป็นกันเอง
ด้านการบริหารเวลา คือ หนึ่ง เชื่อว่าเวลามีจำกัด/เวลามีเหลือเฟือ สอง ทำทีละอย่าง/ทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน สาม ติดอดีต/อยู่กับ ปัจจุบัน สี่ มองระยะสั้น/มองระยะยาว ด้านเป้าหมาย หนึ่ง อิงตนเอง/อิง กลุ่ม สอง เน้นกระบวนการ/เน้นผลลัพธ์ นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบอื่นๆ อีก
โค้ชเองก็ควรประเมินว่า วัฒนธรรมความเชื่อตนเองอยู่ในแบบใด เหมือนตระหนักว่าเลนส์ของแว่นที่เราใส่อยู่เป็นสีอะไร ทำให้เราตีความสิ่งต่างๆ ตามสีนั้น และเข้าใจเลนส์ของโค้ชชี่ โดยที่ก่อนการโค้ช โค้ชสามารถ
ใช้เครื่องมือ เช่น แบบสอบถามให้โค้ชชี่กรอก ว่าอะไรที่สำคัญสำหรับเขา อะไรที่เขาให้คุณค่าเป็นพิเศษ (Values) เช่น ถ้าโค้ชชี่ให้ความสำคัญว่าเวลามีจำกัด โค้ชควรใช้เวลากับเขาอย่างคุ้มค่าและตรงเวลาที่ตกลงกัน หากไม่มีแบบสอบถามก็พูดคุยซักถามกันได้ การเข้าใจวัฒนธรรมของโค้ชชี่ ยังทำให้โค้ชช่วยสนับสนุนให้เกิดบริบทที่โค้ชชี่เกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติพัฒนาตนเองอีกด้วย
ครั้งหน้าจะยกตัวอย่างการสนทนากับผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมค่ะ