อียูเสี่ยงแตกหลายชาติจ่อตามรอยอังกฤษ
การลงประชามติออกจากอียู ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่ก่อให้เกิดความตกตะลึงและความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
โดย... ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์
การลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ หรือเบร็กซิต ได้สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ที่ก่อให้เกิดความตกตะลึงและความปั่นป่วนต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หลังผลออกมาว่าชาวอังกฤษมีมติออกจากอียูด้วยคะแนนเสียง 52% ต่อ 48% เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ที่ผ่านมา และยังได้เสริมความเป็นไปได้ถึงความแตกแยกทั้งในอังกฤษเองและในกระแสการขอแยกตัวออกจากอียูใน ประเทศอื่นๆ ตามมา
ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ผู้นำฝ่ายอยู่ต่อกับอียู ลาออกจากตำแหน่งไม่กี่ชั่วโมงหลังผลประชามติออกมาอย่างชัดเจน โดยคาดว่าจะได้ผู้นำคนใหม่ก่อนเดือน ต.ค.นี้
สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ อดีตที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า การออกจากอียูทำให้มีแนวโน้มที่สกอตแลนด์จะเรียกร้องขอทำประชามติออกจากอังกฤษอีกครั้ง เพื่อเข้าไปอยู่ร่วมกับอียู หลังผลการลงประชามติพบชาวสกอตแลนด์ที่ต้องการอยู่ต่อกับอียูมีคะแนนนำที่ 62% ต่อ 38% ประกอบกับกระแสชาตินิยมของสกอตแลนด์ที่ต้องการเป็นอิสระจากอังกฤษก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับ ณัฐนันท์ คุณมาศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่ามีแนวโน้มการทำประชามติออกจากอังกฤษของสกอตแลนด์ตามมา
นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีของสกอตแลนด์ เปิดเผยว่า การทำประชามติแยกตัวจากอังกฤษมีแนวโน้มจะเป็นไปได้มาก เพราะอังกฤษเลือกที่จะออกจากอียู และทางสเตอร์เจียนจะทำงานเพื่อให้สกอตแลนด์อยู่กับอียู ซึ่งหมายถึงการทำประชามติ
ฝ่ายขวาจัดร้องประชามติออกจากอียูบ้าง
สมชาย กล่าวว่า เบร็กซิตจะทำให้เกิดกระแสกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัดรุนแรงขึ้นในหลายประเทศยุโรป สอดคล้องกับสถานการณ์ในฝรั่งเศสที่ มารีน เลอ เปน ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมสุดขั้วของฝรั่งเศส กล่าวล่าสุดว่า เบร็กซิตเป็นชัยชนะของเสรีภาพประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสมีสิทธิลงประชามติเช่นเดียวกัน ขณะที่กระแสชาตินิยมในอิตาลี สเปน เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ก็เริ่มชัดเจนและได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ เกิร์ต วิลเดอร์ส แกนนำพรรคฝ่ายขวาจัดของเนเธอร์แลนด์ ก็ได้ประกาศว่า หากชนะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค. ปีหน้านี้ จะจัดให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกอียูเช่นเดียวกัน
"เบร็กซิตทำให้เกิดกระแสกลุ่มขวาจัดและซ้ายจัดรุนแรงขึ้นมาในหลายประเทศยุโรปตามมา ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ได้ปลุกระดมกระแสความไม่พอใจต่ออียูมาสักระยะหนึ่งแล้ว แม้แต่ในฝรั่งเศสที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งอียู" สมชาย ระบุ
ณัฐนันท์ คาดการณ์ว่า กระแสชาตินิยมและกระแสต่อต้านอียูที่ขยายตัวในหลายประเทศยุโรปขณะนี้ อาจจะทำให้ประเทศเหล่านี้จัดทำประชามติโหวตออกจากอียูในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ การขอถอนใบสมัครเข้าร่วมอียูของบางประเทศไปก่อนหน้านี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยกระตุ้นการต่อต้านอียูด้วย
ทั้งนี้ ผลที่จะตามมาจากการที่อังกฤษออกจากอียู ก็คือการเจรจาต่อรองและปรับนโยบายใหม่ของอังกฤษ โดยเฉพาะในนโยบายด้านความมั่นคงและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ที่อาจจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทันที
อียูต้องปรับใหม่
สมชาย ระบุว่า ผลการลงประชามติที่เหนือความคาดหมายนี้ เป็นสิ่งที่อียูหวาดกลัวมาตลอดและได้สร้างบทเรียนให้กับอีก 27 ประเทศที่เหลือ ให้ร่วมหาทางประนีประนอมใหม่เพื่อยับยั้งความคิดต่อต้านยุโรป เนื่องจากการ บูรณาการอย่างเข้มข้นในรูปแบบเหนือรัฐ ซึ่งนำมาสู่การก้าวล้ำอธิปไตยในการตัดสินใจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญให้อังกฤษต้องการออกจากอียู ดังนั้น รูปแบบ การบูรณาการในอนาคตหลังจากนี้อาจจะต้องหยุดชะงักลง เพื่อลดพื้นที่ตัดสินใจแบบศูนย์รวมให้เป็นที่พอใจของทุกๆ ฝ่าย
วิโทล วาสซีโควสกี รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ ระบุภายหลังผลประชามติออกมาว่า โปแลนด์ยังต้องการอยู่ในอียู แต่อาจจะต้องพิจารณารูปแบบใหม่ หลังจากที่เห็นแล้วว่าอังกฤษต้องการออกจากอียู เป็นเพราะการรวมตัวในรูปแบบของอียูไม่ได้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวยุโรปส่วนใหญ่อีกแล้ว ยุโรปจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการรวมตัวในอนาคตใหม่
"พวกเรารู้สึกเสียดายต่อการตัดสินใจของอังกฤษ ไม่มีข้อกังขาเลยว่านี่จะส่งผลกระทบต่อยุโรปและการรวมยุโรปให้เป็นหนึ่งเดียว" นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมนี กล่าว