ยกเครื่องขุมอำนาจประเทศ
"เมื่อมีการปฏิรูปภาษีและงบประมาณ จะทำให้การเมืองเปลี่ยน เพราะประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น และจะคุมนักการเมืองท้องถิ่นได้"
โดย...อนัญญา มูลเพ็ญ
จะหมดวาระอย่างเป็นทางการวันที่ 6 ก.ย.นี้แล้ว สำหรับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ ส่งต่อให้กับรัฐบาลแล้ว โดยเฉพาะข้อเสนอปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่ต้องจับตาว่าทีมเศรษฐกิจ “ประยุทธ์ 3” จะรับไปสานต่อมากน้อยเพียงใด
“โพสต์ทูเดย์” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “สมชัย ฤชุพันธุ์” ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สปช. เกี่ยวกับข้อเสนอแนวทางปฏิรูป และความคาดหวังต่อการปฏิรูปนั้น
“ในส่วนที่ผมรับผิดชอบ คือ เป็นกรรมาธิการเศรษฐกิจการเงินและการคลัง เราเสนอแนวทางปฏิรูป 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ด้านการต่างประเทศ และด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนอีกชุดหนึ่งเสนอแนวทางปฏิรูปภาคเศรษฐกิจจริง เช่น เกษตร อุตสาหกรรม โดยมี เกริกไกร จีระแพทย์ เป็นประธาน” สมชัย เกริ่น
สมชัย เริ่มต้นว่า ข้อเสนอปฏิรูปที่สำคัญที่สุดและเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจ คือ การปฏิรูปด้านการคลัง ซึ่ง สปช.เสนอปฏิรูปใน 2 ประเด็น คือ เรื่องภาษี และงบรายจ่ายของประเทศ
สมชัย ขยายความว่า การปฏิรูปภาษีมีข้อเสนอ 5 ด้าน คือ 1.จัดเก็บภาษีให้ครบฐานภาษีต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งฐานภาษีรายได้ ฐานภาษีรายจ่าย ฐานภาษีทรัพย์สิน และฐานภาษีส่งออก-นำเข้า โดยเฉพาะฐานภาษีทรัพย์สินของประเทศไทยที่จะต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น
“ฐานทรัพย์สิน เรามีก็จริง แต่ไม่แอ็กทีฟ ตอนนี้เราเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนเป็นรายปี เหมือนเก็บค่าเช่าบ้าน แต่ฐานราคาที่ดินยังอิงราคาปี 2523 นี่ผ่านมา 35 ปี แต่ราคายังไม่เปลี่ยน ภาษีจึงถูกมากเหมือนไม่ได้เก็บ คนจึงถือที่ดินไว้เก็งกำไรสบายๆ แต่ถ้ามีการเสียภาษีทรัพย์สินที่เป็นจริงเมื่อไหร่ จะลดการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภัยคุกคามใหญ่ของเศรษฐกิจ”
สมชัย ย้ำว่า การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ยังทำให้เกิดการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน ซึ่งเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ และเกิดความสูญเปล่าของที่ดิน เพราะคนถือที่ดินเก็งกำไรรอให้ราคาที่ดินขึ้น โดยไม่ทำอะไร หากนำที่ดินไปใช้ประโยชน์เต็มที่จีดีพีจะเพิ่มอีกมาก ทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำด้วย
2.แบ่งภาษีที่เก็บในประเทศเป็น 2 ระดับ คือ ภาษีระดับชาติและภาษีท้องถิ่น ซึ่งภาษีระดับชาติจะจัดเก็บเข้ารัฐบาลแห่งชาติ และใช้ในกิจการระดับประเทศโดยตรง ส่วนภาษีท้องถิ่นจะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นนั้นจริงๆ
“ระบบการปกครองแบบเอกรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ ทำให้ประเทศเป็นปึกแผ่น และพัฒนาจนไทยพ้นจากการเป็นประเทศยากจน ขณะนี้ไทยเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลางระดับสูง แต่เราย่ำอยู่แบบนี้มาเป็น 10 ปี ไม่อาจก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้ จึงต้องปรับรูปแบบใหม่ คือ เป็นเอกรัฐที่กระจายอำนาจ แม้ว่าเราจะทำมาตั้งแต่ปี 2540 แต่รายได้ของท้องถิ่นโอนมาส่วนกลางในรูปเงินอุดหนุน ทำให้รัฐบาลกลางตัดสินใจแทนท้องถิ่นแทบทุกเรื่อง”
ดังนั้น สปช.จึงเสนอว่า การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากนี้ไป ต้องแยกการปกครองเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าภารกิจใดเป็นภารกิจระดับชาติ และภารกิจใดจะให้ท้องถิ่นทำ เมื่อภารกิจชัดเจนแล้วจากนั้นก็กำหนดว่าท้องถิ่นควรมีรายได้จากภาษีอะไรบ้าง เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน หากที่ดินอยู่ที่ไหนรายได้ภาษีก็ต้องเป็นของท้องถิ่นนั้นๆ
“จังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง และสงขลา ไม่ต้องอุดหนุน เพราะเขาจะมีรายได้ของเขาเอง ต่อไปจะมีเมืองใหญ่อีกหลายเมือง โดยเฉพาะหลังเปิด เออีซี ไม่เหมือนตอนนี้ที่เมืองไทยมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบทสูง กรุงเทพฯ เป็นศูนย์รวมอำนาจ และอำนาจที่ว่านั้นได้เป็นแม่เหล็กดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งไหลมารวมที่กรุงเทพฯ กลายเป็นความเหลื่อมล้ำมหาศาล ประเทศจึงไม่สามารถเจริญได้เร็ว
สมชัย ยอมรับว่า “ข้อเสนอนี้เหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่เป็นเรื่องยาก เรื่องใหญ่และสำคัญ ถ้าทำได้จะแก้ปัญหาต่างๆ ได้หลายเรื่อง”
3.ปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้ใหม่ โดยปัจจุบันไทยจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า ซึ่งคนที่มีรายได้ 4 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียภาษี 35% แต่ฐานรายได้นี้ใช้มา 23 ปีแล้ว และรายได้คนไทยเปลี่ยนไปมากตามภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ คนที่มีรายได้ 4 ล้านบาทไม่ใช่คนรายได้สูงอีกแล้ว จึงต้องปรับฐานภาษีขั้นสูงใหม่ เช่น คนมีรายได้ 8 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท จะเสียภาษี 35% หากรายได้ต่ำลงมาจะเสียภาษีน้อยลง และปรับฐานภาษีรายได้ขั้นต่ำที่จะเก็บภาษีให้สูงขึ้นด้วย
“ตอนที่อยู่คลังผมเคยลดภาษีมาเยอะและหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่ลดภาษีรายได้จะเพิ่มขึ้น เพราะการหนีภาษีมันมีต้นทุน และเรื่องนี้ถ้าทำได้ ทำดีๆ จะจูงใจให้คนขยันมากขึ้น และนี่ก็เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น”
4.ปฏิรูประบบการบริหารจัดเก็บภาษีได้ขยายฐานมากขึ้นและทำให้คนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น และสุดท้าย 5.ยกเลิกอากรแสตมป์ เพราะเป็นภาษีที่จุกจิก โดย สปช.เสนอให้ยกเลิกอากรแสตมป์แล้วเปลี่ยนเป็นภาษีไปเลย เช่น ใบโอนที่ดินเดิมต้องติดแสตมป์ที่ 0.5% อันนี้ทำง่ายๆ คือ ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินจาก 2% เป็น 2.5% ไปเลย กระทรวงก็ไม่ต้องจ้างพิมพ์อากรแสตมป์อีก
ด้านข้อเสนอการปฏิรูปด้านงบประมาณ สมชัย อธิบายว่า สปช.เสนอปฏิรูปใน 2 ประเด็น คือ 1.การทำงบประมาณโดยคำนึงถึงพื้นที่ โดยระบบงบประมาณต้องตอบได้ว่าพื้นที่ไหนได้รับงบประมาณเท่าไหร่ จากปัจจุบันที่ไทยจัดสรรงบตามหน้าที่ เช่น งบศึกษา งบคมนาคม งบสาธารณสุข แต่เราไม่เคยรู้เลยว่างบสร้างถนนลงไปจังหวัดใดบ้าง งบการศึกษาไปที่ไหนบ้าง จึงต้องรีดีไซน์ระบบงบประมาณใหม่
และ 2.ป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม หรือนโยบายที่มุ่งสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง โดยใช้เงินของหลวงและไม่คำนึงถึงผลกระทบระบบเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่านโยบายประชานิยมมีลักษณะใกล้เคียงกับระบบสวัสดิการสังคมมาก แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ ความยั่งยืน หากรัฐบาลจะจัดสวัสดิการสังคม ต้องมั่นใจว่าฐานะการคลังของประเทศจะสามารถรองรับได้ในระยะยาว
“อย่าไปสอนให้คนหวังพึ่งรัฐบาล ต้องสอนให้คนเข้มแข็งช่วยตัวเองได้ และเรื่องการป้องกันประชานิยมผมเสนอให้เขียนในรัฐธรรมนูญด้วย”
ในขณะที่ข้อเสนอการปฏิรูปภาคการเงิน สมชัย ระบุว่า หลักๆ ใหญ่ คือ ปรับปรุงรูปแบบการกำกับดูแลธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) เพราะตอนหลังสถาบันการเงินทำหน้าที่หลายอย่างจนคล้ายธนาคารพาณิชย์ โดย สปช. เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตรวจสอบแบงก์รัฐได้ ไม่ใช่ให้แค่กำกับ เพื่อไม่ให้แบงก์รัฐตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่แบงก์รัฐยังสามารถทำตามนโยบายรัฐบาลได้ แต่จะดำเนินการภายใต้กฎหมาย PSA (Public service account)
สมชัย บอกว่า ส่วนข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจะคาบเกี่ยวกับ สปช.หลายชุด แต่ สปช.เศรษฐกิจ เสนอเรื่องการพัฒนาระบบการเงินรากฐาน เช่น สร้างเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน เพราะวันนี้คนจน 20-30% เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน ส่วนการลดความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน จะเน้นเรื่องมาตรการภาษีเป็นหลัก แต่ส่วนที่เสริมเข้ามา คือ เรื่องโฉนดชุมชน
สำหรับความคาดหวังต่อการปฏิรูป สมชัย กล่าวว่า “ผมเห็นว่าเรื่องข้อเสนอปฏิรูปภาษีที่เราเสนอไปสำคัญที่สุด เพราะเมื่อมีการปฏิรูปภาษีและงบประมาณ จะทำให้การเมืองเปลี่ยน เพราะประชาชนจะมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น และจะคุมนักการเมืองท้องถิ่นได้ เพราะเขาเป็นคนเสียภาษีให้ท้องถิ่น จากที่เมื่อก่อนนักการเมืองท้องถิ่นเอาเงินจากรัฐบาลไปให้ท้องถิ่น แล้วเคลมว่านี่คือผลงานที่ไปวิ่งเต้นมา ความภักดีและความสวามิภักดิ์ของนักการเมืองจึงไม่ได้อยู่ที่ประชาชนในท้องถิ่น แต่อยู่ที่รัฐบาลกลาง”
สมชัย ทิ้งท้ายว่า “เมื่อมีการกระจายอำนาจรัฐมากขึ้น แน่นอนว่าจะมีเจ้าพ่อหลายคน แต่เจ้าพ่อเหล่านี้จะคานอำนาจกัน ส่วนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นหลายคนก็เชื่อว่ามันยังมีอยู่ แต่เงินมันจะไหลไปสู่หลายกระเป๋า เพราะมีบอสหลายคน จากเดิมที่มีบิ๊กบอสที่กรุงเทพฯ คนเดียว ในขณะที่ประชาชนในท้องถิ่นจะมีอำนาจต่อรองได้มากขึ้น เพราะเขาเป็นคนเสียภาษี เขาจะตามดูว่าเอาภาษีของเขาไปทำอะไร เมื่อเขาเห็นก็จะคอนโทรลได้ง่ายกว่า เพราะทุกอย่างจะมีผลกระทบต่อเขาทั้งนั้น และส่วนตัวคงบอกไม่ได้ว่าข้อเสนอปฏิรูปที่เสนอไปจะเห็นผลในอีกกี่ปี แต่ต้องทำ ทำดีกว่าไม่ทำ”