posttoday

แมวเก้าชีวิต... เทคนิคการทำงาน "อารีพงศ์"

10 กันยายน 2558

"ถ้าคนบางคนทำแล้วมีการคอร์รัปชั่น เป็นตายผมไม่ยอมแน่นอน ผมปรี๊ดแน่ ผมทำงานด้วยไม่ได้แน่ เพราะชีวิตการทำงานราชการ ผมถือเรื่องนี้เป็นที่สุด"

โดย...บากบั่น บุญเลิศ / พีรดา ปราศรีวงค์

กลายเป็นข้าราชการระดับสูงที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดในขณะนี้ไปแล้ว สำหรับ อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ายกลับมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานอีกรอบ หลังจาก ครม.โยกย้ายไปเมื่อไม่นานมานี้แล้ว 2 รอบ

ข้าราชการหลายคนบอกว่า เป็นลูกปิงปองบ้าง เป็นลูกชิ้นเด้งบ้าง เด้งเป็นลูกบอล โดนเตะไปเตะมา...

บ้างก็กังขาว่า... ตกลงเป็นข้าราชการคนเก่ง คนดี หรือเส้นแข็งกันแน่ ถึงเหนียวแน่นถูกย้ายไปในระดับปลัดกระทรวงอย่างต่อเนื่อง ไม่เหมือนปลัดกระทรวงคนอื่นที่โดนแขวน...

โพสต์ทูเดย์ได้ซักถาม ปลัดตุ้ม อารีพงศ์ ในประเด็นดังกล่าว คำตอบที่ได้รับคือ เสียงหัวเราะลั่น...ก่อนบอกว่า “ลูกปิงปอง ลูกบอล เส้นเหนียว ผมได้ยินข้าราชการพูดถึงผมมาเหมือนกัน...แต่ถามว่ารู้สึกอย่างไร ก็ปกติดีนะ...ผมรู้ว่าผมได้ทำอะไร และทำได้ดีแค่ไหนในขณะนี้ที่ทำหน้าที่ ผมภูมิใจ นี่จะรอดูว่า ในเวลาการทำงานที่เหลืออยู่อีก 2 ปี จะโดนย้ายไปตำแหน่งไหนอีกเนี่ย...” ก่อนจะหัวเราะร่วนยิ้มร่า อย่างสบายใจ

เมื่อซักต่อไปว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ถูกรัฐบาลย้ายไปย้ายมาจนไม่เป็นอันทำงาน

อารีพงศ์ บอกว่า “ปลัดกระทรวงคือคนสุดท้าย เป็นคนเปิดประตูด่านสุดท้ายที่จะปล่อยให้นโยบายผ่านจากข้าราชการออกไปสู่การปฏิบัติ ระบบราชการกำหนดแนวทางการทำงานไว้เป็นแบบนั้น ผมไม่ใช่คนที่แข็งที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ต้องอ่อนที่จะปล่อยให้อะไรผ่านเลยไป จนผิดหลักการอย่างรุนแรง ผมไม่ยอมปล่อยแน่

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าปล่อยเรื่องค่าไฟฟ้าที่ถูกเสนอมาออกไปประชาชนจะเดือดร้อน ผมอยู่ไปก็ไม่มีความสุข เพราะตำแหน่งปลัดกระทรวงเขามอบหมายมาให้ดูแลขั้นตอนสุดท้ายที่ปล่อยออกไป หากการทำงานจะเอื้อให้กลุ่มทุนและนักการเมือง คำถามคือประชาชนจะพึ่งใคร ผมต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง”

ปลัด 4 หน่วยงาน กล่าวว่า “มีบางช่วงที่อาจทำให้กลัดกลุ้ม อัพเซตกับการโยกย้ายไม่เป็นธรรม ก็มีกระทบกับจิตใจ แต่ผมก็รับได้ ในบางเคส ถ้าคนบางคนทำแล้วมีการคอร์รัปชั่น เป็นตายผมไม่ยอมแน่นอน ผมปรี๊ดแน่ ผมทำงานด้วยไม่ได้แน่ เพราะชีวิตการทำงานราชการ ผมถือเรื่องนี้เป็นที่สุด”

&O5279;“การที่ย้ายแต่ละแห่ง ผมถือเป็นกำไรของชีวิต ถ้าไปดูจุดเปลี่ยนแปลง แต่ละจุดที่ไปมันเป็นที่คีย์ทั้งนั้น กระทรวงการคลัง คือ เสธ.ในการดูแลการเงิน การคลัง การใช้งบของรัฐบาล กระทรวงพลังงาน ก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ น้ำ พลังงาน อาหาร ที่ต้องวางรากฐานของประเทศ เมื่อถูกมอบหมายให้ทำที่นี่ ก็ถือว่าได้รับเกียรติ ให้ไปทำใหม่ก็ได้รับเกียรติ

ตอนถูกย้ายมาที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถือเป็นจุดไฮไลต์ ทุกวันนี้ทำสนุกสนาน สร้างสิ่งที่สวยงาม เป็นโอกาสสร้างรายได้ของประเทศ ที่จะทำให้เพิ่มขึ้นเป็น 20% ของจีดีพีประเทศไทยในอนาคต ในขณะนี้รายได้การท่องเที่ยวก็เพิ่มเป็น 17.8% แล้ว

ดังนั้น การถูกย้ายไปแต่ละที่ แม้ใครจะว่าเป็นหัวปิงปอง มนุษย์ปิงปอง แต่อย่าลืมว่าแต่ละจุดสำคัญทั้งสิ้น”

แมวเก้าชีวิต... เทคนิคการทำงาน \"อารีพงศ์\"

ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า การทำงานของข้าราชการไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหน ควรทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดมั่นต่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งเหล่านี้จะคุ้มครองและส่งผลดีในระยะยาว หากยึดถือในแนวทางปฏิบัติดังกล่าว

“ผมเชื่อว่าการรับราชการไม่จำเป็นต้องวิ่งเต้นเล่นเส้นสายก็เติบโตได้ แต่ต้องตั้งใจที่จะทำงานจริง และเป็นคนดี คนที่ทำดีไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ดี ไม่ต้องพึ่งพาวิ่งเต้น เส้นสาย ก็จะก้าวหน้าและเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ และก้าวหน้าอย่างตลอดรอดฝั่ง”

อารีพงศ์เชื่อเช่นนั้นและยึดเป็นแนวปฏิบัติ เขากล่าวว่า “ถ้าไปย้อนไปดูที่ผ่านมาจะเห็นการทำงานเต็มที่ในแต่ละจุด ในกระทรวงพลังงานช่วงเวลาตก 9 เดือนกว่าๆ ได้วางรากฐานด้านพลังงานของประเทศให้ทุกหน่วยงานวางแผนเพื่อความยั่งยืน มีกรอบแนวคิด มีหลักชัดเจน ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ผมวางรากฐานของ SLA มีระบบคุณธรรมกับหน่วยงานมาลงนามในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนมาเป็นตัววัดประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นพื้นฐานของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ผลักดันทำคลอดออกมาในขณะนี้

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผมได้รับปากกับรัฐมนตรี กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ว่าจะทำการขับเคลื่อนให้เสร็จ ผมบอกท่านรัฐมนตรีว่า ผมจะเป็นปลัดกระทรวงที่ไม่เน้นการไปเปิดงานนะ ผมมีแผนจะชุบชีวิตความตื่นเต้นของกรุงเทพฯ ออกมาอีกรอบ จะทำเป็นเฟสๆ เฟสแรกจะเห็นออกมาภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีกอบกาญจน์จะประกาศออกมากับแผนของ ‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ ที่จะบริหารจัดการ เพิ่มมูลค่า ทรัพย์สิน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และการสร้างมรดกที่มีอยู่ให้มีมูลค่าสูงขึ้น

...อย่าง วัดอรุณราชวราราม สมัยก่อนนี้ เมื่อไม่มีไฟส่อง ก็เป็นอีกแบบ แต่พอส่องไฟก็มีอีกแบบ เป็นทรัพย์สินของประเทศที่มีมูลค่าขึ้นมา นี่คือการบริหารจัดการแบบใหม่ กทม.ก็ต้องทำแบบนี้ นี่คือ เนชั่นแนล โปรเจกต์ ของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ”

“ผมยังมีเวลา 1 เดือนที่จะทำเรื่องนี้ ผมได้มีการพูดคุยกับชุมชนมาหลายปีแล้วเรื่องโครงการนี้ ผมเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลังมาก่อน เห็นที่ดินกรมธนารักษ์ สัมผัสโครงการต่างๆ ผมว่ามันสุกงอมผมว่าในเวลาไม่กี่ปีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นบวก จะเป็นแคปปิตอล ยิลด์ ที่จะติดท็อปของโลกให้ได้ แต่ต้องให้รัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ และนายกรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบก่อน

ผมมาจากกระทรวงเศรษฐกิจ ผมเห็นประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใกล้เรามากขึ้น แต่เรามีแต่ปัญหา บ้านเมืองเราคงแก้ไม่ได้ แต่ในส่วนที่ผมอยู่ เราต้องลงล็อกให้ได้ มีเวลาสั้นหรือยาว ผมทำเต็มที่

“หลักการทำงานของปลัดคือต้องกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนงานลงไปให้ชัดเจน ถูกจุด และต้องสื่อสารทางนโยบายกับข้าราชการให้มองเห็นภาพเดียวกัน เมื่อเขาเข้าใจ เขาจึงนำนโยบายไปปฏิบัติได้ถูก ไม่ว่าไปที่ไหน ผมต้องหาหาโจทย์สำคัญในภารกิจขององค์กรให้เจอ เมื่อเจอก็เข้าไปบริหารจัดการ วางนโยบายในการพัฒนาเพื่อสร้างรากฐาน และทำความเข้าใจกับข้าราชการให้เข้าใจ เห็นภาพของการปฏิบัติ เพื่อให้สามารถเดินสู่เป้าหมายร่วมกัน และต้องปฏิบัติเพื่อคนส่วนรวม เพราะเราไม่ได้ทำงานเพื่อเอกชน เราต้องทำเพื่อส่วนรวม”

อารีพงศ์ เล่าว่า ตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการรับราชการเมื่ออายุ 30 ปี หลังจากจบปริญญาเอก สาขาการเงิน จากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี สหรัฐ ปริญญาโท สาขาการเงิน มหาวิทยาลัยมาร์แชล สหรัฐ ปริญญาตรี สาขาการจัดการระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สหรัฐ ในตำแหน่งนักวิชาการคลัง 4 กองธนาธิการ กรมบัญชีกลาง ซึ่งดูแลระบบการคลังของประเทศ ก่อนที่จะโยกย้ายไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จนได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของ สคร. และมาดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ เป็นปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการ กพร. ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ...

ทำให้รู้ถึงโครงสร้างการทำงานและมองเห็นแนวทางการวางแผน ด้านนโยบายต่างๆ ให้เห็นผลในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า สาเหตุที่ทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐไม่ถูกขับเคลื่อนไปได้นั้น เพราะขั้นตอนการสื่อสารระหว่างฐานบนกับฐานล่างไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกัน นั่นคือโจทย์ที่ปลัดกระทรวง ต้องทำให้ผู้ใต้บังคัญชาเห็นเหมือนกัน ทำไม่ได้ต้องให้โอกาส ทำได้ต้องดูแลให้เติบโตก้าวหน้า

สำหรับภารกิจรีเทิร์นกลับไปกระทรวงพลังงานอีกรอบ ถือว่าเป็นภารกิจหินที่ต้องฟาดฟันฟันฝ่ากับอุปสรรครอบทิศทาง ไหนจะสัมปทานปิโตรเลียม ไหนจะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไหนจะเรื่องผลประโยชน์ของยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน

อารีพงศ์ บอกว่า จะสานต่อยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศที่เคยวางไว้และเตรียมประกาศกับบุคลากรในอีก 2-3 สัปดาห์ ก่อนถูกคำสั่งโยกย้ายให้ไปนั่งที่ ก.พ.ร.เป็นรอบที่ 2

“ตอนนั้นรู้สึกเสียดายที่แผนงานที่วางไว้ยังไม่ถูกผลักออกไปให้ผู้ปฏิบัติได้รับรู้ แต่ในที่สุดทางรัฐมนตรีก็ใช้แนวทางดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวด้านพลังงานของประเทศ ตอนนี้ผมจะกลับไปทำมันอีกครั้ง...”

แผนกลยุทธ์พลังงานชาติที่อารีพงศ์ประกาศเดินหน้าทำมีไม่มากแค่ 5 กลยุทธ์ ประกอบด้วย 1.แผนประหยัดพลังงาน 2.การหาพลังงานทดแทน 3.การผลิตไฟฟ้า 4.การผลิตน้ำมัน การวางท่อน้ำมัน และ 5.แผนการผลิตก๊าซ ลดการผูกขาดให้ได้

ทำได้ไม่ได้ โดนย้ายอีกรอบหรือไม่ ชวนติดตาม...

แมวเก้าชีวิต... เทคนิคการทำงาน \"อารีพงศ์\"

ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด

ในฐานะข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ต้องถือว่า ปลัดตุ้ม-อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ได้สร้างประวัติศาสตร์การทำงานของข้าราชการประจำขึ้นมาในประเทศไทยที่ยากจะหาใครมาทำลายสถิติอีกแล้ว

เนื่องจากในระยะเวลาอันสั้น อารีพงศ์โดนคำสั่งโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่เป็นปลัดกระทรวงและเทียบเท่าสิริรวม 6 ครั้ง มากครั้งที่สุดที่ถูกบันทึกไว้ในทำเนียบข้าราชการไทย

อารีพงศ์ก้าวขึ้นครองตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2553-2556 ก่อนถูกโยกย้ายไปเป็นเลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพราะขัดแย้งกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากปัญหาโครงการรับจำนำข้าวตันละ 1.5 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นพยายามที่จะผลักดันให้กระทรวงการคลังอนุมัติเงินกู้มาใช้ในโครงการ แต่อารีพงศ์ยืนกรานปฏิเสธ

เขาไม่ยอมขยายวงเงินเพิ่มเติมและเสนอให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์เร่งระบายข้าวออกไป เพื่อนำเงินจากการขายมาใช้ในการรับจำนำรอบต่อไป

นอกจากนี้ อารีพงศ์ไม่ยอมลงนามในคำสั่งย้าย สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ออกจากประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ อารีพงศ์ถูกแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ที่กำลังเข้าสู่โหมดการปฏิรูปอย่างคึกคัก

แต่ทำงานกับ ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานขณะนั้น ได้เพียง 9-10 เดือน ก็ถูกคำสั่งย้ายกลับมาเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร.อีกครั้ง เมื่อเกิดความขัดแย้งทางนโยบายในเรื่องพลังงาน และ คำสั่งลับที่เปิดเผยไม่ได้ จนมีผู้ใหญ่ใน คสช.ลงมาเป็นตัวกลางเคลียร์ปัญหาคาใจ แต่อารีพงศ์ไม่ยอมลงให้ จึงต้องย้ายอีกคำรบ

ทำงานในฐานะเลขาธิการ ก.พ.ร.รอบ 2 ได้ไม่ถึง 3 เดือน ก็ถูก รัฐมนตรีน้อง กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพราะเห็นว่ารู้เรื่องเศรษฐกิจดี และน่าจะเข้ามาวางกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยที่กำลังเป็นหัวรถจักรในระบบเศรษฐกิจให้ขยายตัว ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา เหี่ยวเฉา จนการส่งออกติดลบอย่างต่อเนื่อง

แต่แทบไม่น่าเชื่อ เขาก้าวไปทำงานเป็นปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอย่างเต็มตัวได้ไม่ถึง 2 เดือน ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีมติแต่งตั้งให้กลับมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานอีกครั้ง ท่ามกลางความตะลึงพรึงเพริดของข้าราชการในกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงพลังงาน

อารีพงศ์ บอกว่า “หลายคนบอกว่าผมถูกโยกย้ายแต่งตั้งเป็นลูกปิงปอง เด้งไปเด้งมา แต่ผมภูมิใจและไม่เสียใจในการทำหน้าที่ และตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด...

เพราะการโยกย้ายแต่ละครั้ง นายกรัฐมนตรีท่านดูแลผมอย่างเต็มที่ ท่านเชื่อมั่นในตัวผม ท่านเข้าใจในการทำงานของข้าราชการประจำ และให้อำนาจของรัฐมนตรีที่กำกับทางนโยบาย ผมจึงไม่เสียใจและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ในทุกที่ที่ถูกมอบหมายให้เข้าไปทำงาน”

อารีพงศ์ บอกว่า “ที่พึ่งทางใจทุกครั้งที่เกิดปัญหา จะปรับทุกข์เล่าเรื่องราวให้กับภรรยาคู่ใจ ที่ผ่านมาไม่ได้เก็บปัญหามาทุกข์ใจอะไรมากนัก ไม่ยึดติดว่าจะไปที่ไหน ส่วนหนึ่งเพราะผมไม่มีภาระอื่นที่ต้องกังวล เพราะไม่มีลูก ไม่มีห่วงอะไร ผมจึงตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายตามภารกิจที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด

การโยกย้ายในแต่ละครั้งจึงไม่เป็นปัญหาให้ทุกข์ แต่มีบ้างที่รู้สึกว่าเรากระทำในสิ่งถูกต้อง แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับถูกย้าย ไม่เป็นธรรม เศร้า การโยกย้ายครั้งสองครั้งแรก ภรรยารู้สึกกังวลและเครียดแทนเรา”

“แต่เมื่อโดนย้ายอีก 2-3 ครั้ง ภรรยาคู่ชีวิตและผมก็เกิดประสบการณ์สร้างความเคยชิน” และว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงานรอบ 2 เล่า พร้อมหัวเราะร่วน

“ช่วงหลังๆ ที่ถูกโยกย้ายไม่ว่าไปไหนมาไหน บางคนว่า เราเป็นลูกบอล ลูกปิงปอง ก็ไม่ได้นำกลับมาคิดหรือใส่ใจ เพราะมุ่งมั่นว่าอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ และจะเป็นคนทำงานที่พร้อมคัดท้ายวางรากฐานให้กับทุกจุดที่เข้าไปอยู่ เมื่อคิดดังนั้น พอหัวถึงหมอน ไม่เกิน 5 นาทีก็หลับสบาย...

เราต้องเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เราทำในขณะนั้นคือ เราทำดีที่สุดแล้ว ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศของเราแล้ว