posttoday

2ปีไฟใต้ในยุคทหาร เดินหน้าคุยเห็นผลแต่ไม่คืบ

12 กรกฎาคม 2559

12 ปีแล้ว ความรุนแรงของสถานการณ์ชายแดนใต้ยังคงเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจคือในช่วงเดือนรอมฎอน เหตุการณ์มักจะรุนแรงขึ้นในทุกปี

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

12 ปีแล้ว ความรุนแรงของสถานการณ์ชายแดนใต้ยังคงเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าสนใจคือในช่วงเดือนรอมฎอน เหตุการณ์มักจะรุนแรงขึ้นในทุกปี

แม้จะมีการริเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับตัวแทนผู้ก่อความไม่สงบมากว่า 3 ปี แต่ความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการสันติภาพ ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังต้องทนทุกข์กับปัญหาความรุนแรง

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ที่ศึกษาปัญหาความรุนแรงของไฟใต้มาโดยตลอด ให้คำตอบว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการเข้ามาแก้ปัญหา มีความต่อเนื่องของนโยบายจากรัฐบาลก่อนหน้า คือ ใช้วิธีการสันติภาพ พูดคุยแสวงหาทางออกกับกลุ่มที่เห็นต่าง แต่จะมีการปรับโครงสร้างของทีมพูดคุยบ้างเพื่อประสิทธิภาพ รวมถึงคำสั่งของ คสช.ที่เกี่ยวกับชายแดนใต้ ก็เป็นลักษณะการหาทางออกด้วยทางทหาร และที่น่าสนใจคือมีกลุ่มเห็นต่างที่เริ่มเข้ามาคุยมากขึ้นด้วย ทั้งกลุ่มที่ใช้อาวุธ และกลุ่มทางความคิด

และจุดเด่นของการแก้ไขปัญหาไฟใต้อย่างหนึ่ง คือ ผู้นำที่เป็นรัฐบาลทหาร การจัดการแบบทหาร การควบคุมกลไกภายในประเทศทุกอย่างจะทำอย่างเข้มแข็ง เป็นเอกภาพ นี่คือลักษณะของการใช้ทหารนำการเมือง

“เห็นได้จากรัฐบาลให้ความสำคัญกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. เดินหน้าขับเคลื่อนการพูดคุย และลดบทบาทศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่เป็นหน้าที่ของพลเรือน โดยให้มุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนาพื้นที่และสังคม ส่วนการดูแลจัดการความปลอดภัย และการพูดคุยเจรจา ในยุคนี้อำนาจที่ว่าอยู่ในมือทหารทั้งหมด” 

ศรีสมภพ อธิบายว่า จุดสำคัญอีกประการสำหรับการแก้ไขปัญหาคือเรื่องงบประมาณ ที่รัฐบาล คสช.เบ็ดเสร็จในการสั่งการ คุมงบ บริหารงบลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกของงานจัดการทางทหาร และการใช้งบประมาณสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้ก็มุ่งเน้นในเรื่องป้องกันและควบคุมเป็นหลัก ภาพที่ออกมาจะชัดเจนว่า การพูดคุยทหารก็ทำ งบประมาณทหารก็จัดการ ผลลัพธ์ที่ทหารต้องการตามรูปแบบ คือ เป็นเอกภาพ เห็นผล และเกิดการพัฒนา

“เมื่อทหารเข้ามาจัดการปัญหาในเวลา 2 ปี ก็จะเห็นได้ชัดว่าเกิดผลดีอยู่ไม่น้อยในเรื่องการพูดคุย เพราะมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการอย่างเต็มที่ แผนปฏิบัติการชัดเจนเป็นเรื่องดี เพราะวัดค่าประสิทธิภาพได้เลย แต่ก็มีข้อเสีย เพราะหากแผนผิดหรือเคลื่อนไป ก็จะทำให้แผนเดินหน้าการพูดคุยหลุดไปเลย อีกทั้งอย่าลืมว่างบประมาณของทหารที่จัดการเอาลงพื้นที่มีโอกาสที่จะเกิดคอร์รัปชั่นได้ เพราะไร้การตรวจสอบจากภาคประชาสังคม หรือภาคการเมือง ความโปร่งใสจึงยังไม่ชัดเจน” 

ศรีสมภพ ย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปี กลุ่มต่างๆ ยังไม่เปลี่ยนแนวคิดรวมทั้งเป้าหมาย แม้ว่าการพูดคุยสันติภาพเกิดขึ้นแล้ว แต่ไม่ได้คืบหน้ามากนัก ทหารสามารถหยุดชะงักการก่อเหตุ หรือจำกัดการก่อเหตุในวงแคบๆ ได้ ส่วนหนึ่งเพราะกำลังทหารที่ลงไปมากขึ้น จึงสามารถกดเอาไว้ได้อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้กลุ่มก่อเหตุรุนแรงต้องหยุดปฏิบัติการ เพียงแต่มีโอกาสก่อเหตุน้อยลงเท่านั้น

“แผนของทหารคือจะเน้นอุดในเขตเมืองไม่ให้มีเหตุการณ์ใดๆ เลย ความรุนแรงในเขตเมืองก็จะลดน้อยลง แต่ที่มากขึ้นคือพื้นที่รอบนอก ชาวบ้านยังตกเป็นเป้าหมาย นี่คือปัญหาที่ทหารยังแก้ไม่ตก ที่ผ่านมาการพูดคุยทั้งแบบเปิดเผยและทางลับ บอกชัดเจนว่าถ้าจะทำก็ทำกับทหาร อย่าทำชาวบ้าน ก็ได้ผลแค่ชั่วครู่ แต่ท้ายสุดชาวบ้านก็ยังเป็นเป้าอยู่ดี ทหารต้องวางหมากในการแก้ไขใหม่” 

แต่ทั้งนี้ การเจรจาพูดคุยสันติภาพ สำหรับศรีสมภพแล้ว เห็นว่ามีประโยชน์และควรจะเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นทางออกสำหรับสถานการณ์อันยาวนานที่ดีที่สุดแล้ว แต่ที่รัฐบาลทหารควรจะมุ่งเน้นและเพิ่มเติมให้มากขึ้น คือการมีส่วนร่วมของภาคสังคม ประชาชนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นตนเองด้วย จะทำให้เกิดการสร้างความเข้าใจ ปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้อง เพราะอย่างไร คนในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ฟังกันเองมากกว่ารัฐบาล

“แม้ว่าการเจรจาอาจไม่เห็นผลเร็วนัก แต่การเทงบประมาณและเพิ่มจำนวนทหารลงไปอาจจะเห็นผลเร็วกว่า เพราะทหารมากก็สามารถกดกลุ่มเคลื่อนไหวเอาไว้ได้ แต่ก็แค่ชั่วครู่เท่านั้น หากรัฐบาลเอาเต็มที่ปราบรุนแรง คนจะหันไปหาฝ่ายก่อเหตุแน่นอน” ศรีสมภพให้ความเห็น

ในภาพรวม ศรีสมภพบอกว่า เหตุรุนแรงลดลงไปเมื่อเทียบสถิตินับตั้งแต่ที่ คสช.เข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่ในรายละเอียดจะพบว่า ความรุนแรงของเหตุก็ดูจะหนักขึ้นกว่าเดิมไม่น้อย สังเกตได้จากช่วงต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ที่เป็นห้วงสุดท้ายของการถือศีลอด หรือช่วงรอมฎอน ที่เหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และศรีสมภพมองเรื่องนี้ว่า เป็นเหตุปกติ

“แต่ในปี 2556 ครั้งนั้นรัฐบาลคุยกับกลุ่มเห็นต่างอย่างลับๆ ว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ขอกันตรงนั้นเลย และน่าจะเป็นปีเดียวที่ได้ผล ไม่มีเหตุในช่วงรอมฎอน” ศรีสมภพย้ำ

ศรีสมภพ ทิ้งท้ายว่า ทิศทางปัญหาไฟใต้ เชื่อว่ารัฐบาลพยายามคุมขอบเขต และป้องกันความรุนแรง แต่คงทำได้ในระดับหนึ่ง กลุ่มเห็นต่างคงไม่หยุด เพราะกุญแจของการแก้ไขปัญหาอยู่ในกระบวนการทางการเมือง คือการพูดคุย เปิดพื้นที่ให้ประชาชนขับเคลื่อนด้วย หากรัฐไม่สามารถสร้างความคืบหน้าในการพูดคุยได้ สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น เนื่องด้วยคนรุ่นใหม่ก็จะเติบโตขึ้น และขับเคลื่อนกลุ่มด้วยการมุ่งใช้ความรุนแรงต่อไป