เบียร์สองขวดก่อนขี่รถ เปลี่ยนชีวิตที่สมบูรณ์สู่ “ความพิการ”
เปิดใจ สรัล กุลสิงห์ ชายหนุ่มที่ดื่มก่อนขับจนเป็นเหตุให้เขาต้องประสบกับความพิการแขนขวาใช้งานไม่ได้ตลอดชีวิต
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ต้นอ้อ-สรัล กุลสิงห์ ชายหนุ่มวัย 29 ปี จำอะไรไม่ได้เลย เเม้เเต่ความเจ็บปวด คาวเลือดและเเรงกระเเทกบนสะพานข้ามแยกดินแดง มุ่งหน้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันที่ประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์คว่ำเมื่อสองปีก่อน
ชีวิตเปลี่ยนจากชายหนุ่มที่มีร่างกายสมบูรณ์สู่คนพิการแขนขวาใช้งานไม่ได้ตลอดชีวิต....
ในวันที่ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากจักรยานยนต์ สรัล พร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดบทเรียนให้กับผู้ขับขี่ทุกคนฟัง
ชีวิตเปลี่ยนเพราะเบียร์สองขวด
สรัล สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ มาพร้อมกับจักรยานพับได้คันเล็กๆ สีเงิน แตกต่างเหลือเกินกับภาพชายหนุ่มเสื้อการ์ดดำ รองเท้าบู้ทสุดเท่เมื่อวันวาน แต่เขายังคงยิ้มแย้มแจ่มใสเมื่อต้องเอ่ยถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุที่ไม่มีวันลืม
“ผมจำอะไรไม่ได้เลย เท่าที่เพื่อนเล่าให้ฟัง วันนั้นไปถ่ายรูปให้เพื่อนในงานแต่งงาน ระหว่างย้ายไปปาร์ตี้กันที่ร้านอื่น ผมทำผิดกฎหมายเลือกขึ้นสะพานข้ามแยกดินแดง จังหวะทำความเร็วเพื่อแซงรถแท็กซี่ รถเกิดแฉลบเสียหลักชนเข้ากับแบริเออร์ ผมกรามแตก ฟันแถบซ้ายหัก ลิ้นขาด หนังตาตก เส้นปราสาทแขนขวาขาด แต่เพื่อนที่ซ้อนมาด้วยกันแค่ถลอกเหมือนคนวิ่งหกล้ม ส่วนรถก็แค่กระจกหน้าหัก ตัวถังด้านขวาเป็นรอยนิดหน่อย ศูนย์คิดค่าซ่อมราวๆ 6,000 บาท”
สรัลมารู้ภายหลังว่า อุบัติเหตุครั้งนี้มีต้นตอมาจากแอลกอฮอล์ โดยโพสต์สุดท้ายในเฟซบุ๊กของเขาก่อนรถคว่ำ คือ ภาพเบียร์ 2 ขวดพร้อมข้อความประกอบว่า “เมาอีกแล้วว่ะ เมาได้ไงวะ” จากโพสต์ดังกล่าวทำให้เขาไม่เคยคิดโทษมอเตอร์ไซค์แม้แต่นิดเดียว ยกความผิดให้กับความประมาทของตัวเองล้วนๆ
“นอนที่โรงพยาบาลประมาณ 1 เดือนจำอะไรไม่ได้เลย จนมาเปิดเฟซบุ๊ก เห็นโพสต์สุดท้ายของตัวเองคือ ภาพเบียร์ 2 ขวด และผมบอกด้วยว่า เมา แต่ไม่รู้ว่าเมาจริงหรือเปล่า เพราะปกติเป็นคนดื่มบ้าง ดื่มได้ประมาณ 4 ขวดใหญ่ถึงจะเมา แต่ไม่สำคัญ บทเรียนคือ มันทำให้รู้ว่า แค่คุณดื่ม สติคุณก็ไม่สมบูรณ์อีกแล้ว ลองนึกดูว่าถ้าไม่ดื่ม ผมอาจจะไม่ตัดสินใจขึ้นสะพาน ไม่ตัดสินใจแซงรถแท็กซี่ก็ได้”
สภาพรถหลังจากประสบอุบัติเหตุ
สวมใส่หมวกกันน็อค ปฎิบัติตามกฎหมาย อย่ามักง่าย
นอกจากดื่มไม่ขับแล้ว เรื่องที่สรัลอยากถ่ายทอดก็คือ การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุให้ครบครัน โดยเฉพาะอุปกรณ์พื้นฐานอย่างหมวกกันน็อค ซึ่งสำคัญมากและเป็นเหตุผลให้เจ้าตัวรอดจากความตาย
เขาแนะนำว่า ให้ลงทุนซื้อเลือกหมวกกันน็อคแบบเต็มใบที่มีมาตรฐาน ป้องกันร่างกายและรักษาชีวิตได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันยังถือเป็นข้อกำหนดตามกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด อย่ามักง่ายและคิดบนพื้นฐานของความประมาท
“ผมสูญเสียความทรงจำไปหลายอย่าง ช่วงแรกจำอะไรไม่ได้เลย ร่ายกายไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ เนื่องจากสมองกระทบกระเทือนอย่างหนัก ถ้าไม่มีหมวกกันน็อคก็คงตายไปแล้ว แต่ผมเรียนรู้ว่า เราไม่ควรใส่แบบเปิดคาง เพราะมันไม่ได้ป้องกันใบหน้าด้างล่างเพียงพอ ตอนกระแทกพื้น ตัวล็อคมันจะหัก ตัวปิดคางจะถูกเปิดออก และทำให้กรามของผมแตก ไม่ต้องพูดถึงหมวกแบบครึ่งใบเลย แบบนั้นหน้าผมเละไปแล้ว”
พิการแล้วได้เห็นหัวใจคน
หลังต่อสู้ทำกายภาพบำบัดมาเกือบ 2 ปี วันหนึ่งคุณหมอแจ้งว่า เขาจะไม่สามารถใช้งานแขนขวาได้อีกต่อไป ด้วยความที่ก่อนหน้านี้มีอาชีพเป็นช่างภาพและอยากทำงานต่อ ทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดและเสียใจกับสิ่งที่ได้ยิน
“เฮ้ย..เราจะถ่ายรูปยังไง แว๊บหนึ่งคิดว่า อย่างนี้ถ้าตายไปเลยง่ายกว่าปะ” สรัลระลึกถึงความคิดเมื่อครั้งได้ยินคุณหมอแจ้งข่าวร้าย
ทว่าผู้ชายคนนี้ไม่ใช่คนมองโลกในแง่ลบและจมปลักอยู่กับความดราม่า ไม่นานก็สลัดตัวออกจากความทุกข์ สิ่งแรกที่เขาเปลี่ยนแปลงคือ คติประจำตัวในการดำเนินชีวิตจากที่เคยคิดว่า ‘ยังไงก็ไม่ตาย’ เป็น ‘จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อยากทำอะไร ทำเลย’ ขณะที่แขนด้านขวาก็ถูกจารึกข้อความผ่านรอยสักว่า I CAN BECAUSE I THINK I CAN ซึ่งแปลว่า ฉันทำได้ ก็เพราะฉันคิดว่าฉันทำได้
"คนถามว่าไม่ลำบากหรอ ไม่เครียดเหรอ ลำบากสิ ลำบากมากๆ ด้วย เอาแค่ใส่เสื่อผ้ามันก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่คิดมากไปจะมีอะไรดีขึ้น ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ดราม่าไปแล้ว แขนผมจะหายหรอ ก็ไม่ สู้เอาเวลามาพัฒนา ทำตัวเองให้มีความสุขดีกว่าไหม อย่างที่บอกจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้"
ในฐานะผู้พิการ เขาได้รับสวัสดิการเป็นเงินช่วยเหลือจากสำนักงานประกันสังคม ได้นั่งรถเมล์ในราคาครึ่งเดียวของคนทั่วไป ได้นั่งรถไฟฟ้าฟรี ได้สัมผัสกับสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการที่แสนย่ำแย่ในเมืองไทย ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้ ‘หัวใจคน’ ที่พร้อมให้โอกาสและไม่รังเกียจคนพิการ โดยทุกวันนี้เขามีอาชีพเป็นช่างภาพอินทีเรียผู้ลั่นชัตเตอร์ด้วยมือข้างเดียว ทำงานให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
"ตอนส่งใบสมัครไป ไม่รู้เขาอ่านหรือเปล่าว่าผมเป็นผู้พิการ เรียกไปสัมภาษณ์และให้ทดลองงาน ผมถ่ายด้วยมือข้างเดียว ใช้นิ้วกลางกดชัตเตอร์ ครบ 3 เดือนผมทำได้ดีตามมาตรฐานที่เขากำหนด ถึงวันนี้ก็เกือบ 1 ปีที่แล้ว ขอบคุณที่เขาเลือกคนจากความสามารถและผลงาน ถ้าเป็นบริษัททั่วไปใน 100 คนอาจมีคนพิการ 1 คน แต่บริษัทของผมมีไม่ถึง 10 คน แต่เขายอมให้มีคนพิการเป็นหนึ่งในนั้น"
เช่นกันกับเรื่องความรัก สรัลเจอผู้หญิงที่ให้โอกาสและเห็นว่า หัวใจสำคัญของความเป็นมนุษย์อยู่ที่นิสัย การกระทำและผลงานมากกว่าสิ่งที่ปรากฏผ่านทางร่างกาย โดยท้ายที่สุดนี้เขาย้ำว่า สิ่งที่อยากให้ทุกคนเรียนรู้ก็คือ ความประมาท การดื่มแล้วขับ รวมถึงการรู้จักยอมรับความจริงและเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่ต้องการความสงสารจากผู้คน
ทั้งหมดนี้คือบทเรียนชีวิตจากชายหนุ่มผู้เคยประมาทและดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่
ชมผลงานการถ่ายภาพของเขาที่ http://tonorkorpai.wixsite.com/portfolio