"เดวิด รูฟโฟโล" นักวิทย์ดีเด่นปี'60
เปิดเส้นทางพัฒนาวงการฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ในประเทศไทยผ่านมุมมอง "ศ.พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล"
โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด
“ถ้าเราอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เราต้องมีบัณฑิตที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ฉะนั้นการให้นักศึกษาได้ทำโจทย์วิจัย แม้เป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐาน แต่เมื่อเขาจบ เขาก็พร้อมที่จะทำงานวิจัยประเภทอื่นๆ ต่อไปได้” นี่คือแนวคิดการพัฒนาจาก ศ.พิเศษ ดร.เดวิด รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2560 ผู้ริเริ่มงานวิจัยฟิสิกส์ในประเทศไทยอันดับแรกๆ เมื่อ 25 ปีก่อน
รูฟโฟโล เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสีรอบโลก ผู้พัฒนาความรู้โปรแกรมคำนวณอนุภาคพลังงานสูงที่เกิดจากพายุสุริยะ-ลมสุริยะที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบการสื่อสารและการบินของโลกอีกด้วย
ชาวอเมริกันโดยกำเนิดวัย 49 ปี ได้รับสัญชาติไทยเมื่อปี 2555 หลังเรียนจบปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ในวัยเพียง 23 ปี ก็ได้เดินทางมาทำงานในประเทศไทย และพยายามมุ่งมั่น ทุ่มเท ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ของรูฟโฟโลเกิดจาก เห็นคุณพ่อซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ทำงาน จึงอยากทำงานเหมือนคุณพ่อบ้าง ประกอบกับในวัยเด็กเป็นคนชอบดูดาว รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้คิดเรื่องนอกโลก จึงพยายามค้นคว้าหาความรู้ด้านดาราศาสตร์ และตั้งใจเรียนจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ตั้งแต่อายุ 13 ปี ก่อนจะจบระดับปริญญาตรีพร้อมกัน 2 ใบ ในสาขาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ขณะอายุเพียง 17 ปี
ช่วงอายุ 19 ปี รูฟโฟโล ได้เดินทางมาเมืองไทย และชื่นชอบมาก หลังจบปริญญาเอกจึงคิดว่าหากจะทำประโยชน์ตอบแทนสังคม การเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แค่ในสหรัฐคงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะมีนักฟิสิกส์-นักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เมื่อส่วนตัวชอบเมืองไทยเป็นทุนเดิม จึงได้เดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพื่อช่วยพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ในไทยให้มีนักวิจัยเพิ่มมากขึ้น
รูฟโฟโล ย้อนไปเมื่อ 25 ปีก่อน ว่า การทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์ในไทยมีอุปสรรคมาก เพราะยังไม่มีอินเทอร์เน็ต จึงต้องศึกษาหาข้อมูลด้วยตนเอง ประกอบกับสังคมไทยขณะนั้นมองงานวิจัยเป็นเพียงงานอดิเรก ความสนใจด้านนี้จึงไม่มาก แต่หลังจากผลงานได้ตีพิมพ์ลงวารสาร ถือเป็นก้าวแรกการพิสูจน์ตนเองว่าสามารถทำงานในประเทศนี้ได้ และยังเป็นสะพานให้ได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศมากขึ้นด้วย
นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นกล่าวอย่างภูมิใจว่า ถึงการพัฒนาผลงานวิจัย 25 ปี อาทิ โปรแกรมคำนวณอนุภาคพายุสุริยะ-ลมสุริยะที่เดินทางมาถึงโลก ทฤษฎีเกี่ยวกับอนุภาคเคลื่อนที่ในอวกาศ และโปรแกรมจำลองทฤษฎีต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ ในขณะเดียวกันผลงานวิจัยในวงการวิชาการไทยถูกพัฒนาขึ้นมาก รวมถึงทำให้สังคมเห็นคุณค่างานทางด้านนี้
“รังสีในธรรมชาติที่มาจากนอกโลก หรือรังสีคอสมิก หากมีอนุภาคขนาดใหญ่จะส่งผลกระทบต่อระบบการสื่อสารและการเดินอากาศโดยเฉพาะเครื่องบิน แม้ปรากฏการณ์ที่เป็นผลกระทบนานๆ จะเกิดครั้ง แต่ไม่อาจปล่อยไปได้” นักฟิสิกส์
ระบุ
สำหรับความกังวลที่ว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่บนพื้นดินจะได้รับผลกระทบจากพลังงานเหล่านี้หรือไม่ รูฟโฟโล อธิบายว่าคงไม่ได้รับรังสีจากนอกโลกมาก เพราะโลกมีสนามแม่เหล็กและชั้นบรรยากาศคอยป้องกัน
นอกจากนี้ งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยังมีประโยชน์ด้านสังคม อาทิ ทำให้เข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ พายุสุริยะและลมสุริยะมากขึ้น เมื่อสังคมเกิดการใฝ่รู้ก็จะทำให้ประเทศมีผู้เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น ประโยชน์ด้านการศึกษา เมื่อผู้เรียนได้ฝึกฝนทำงานวิจัย คอยแก้โจทย์ปัญหาต่างๆ เท่ากับเป็นการฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเมื่อเจออุปสรรค ขณะที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจสื่อสาร ดาวเทียม การเดินอากาศยานบนฟ้า เพราะงานด้านนี้หัวใจสำคัญจะทำให้ตระหนักรู้ถึงเรื่องระบบสุริยะ
ขณะเดียวกัน การศึกษาเรื่องนี้นอกจากป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับระบบสื่อสารและการเดินอากาศ ในอีกด้านยังเปรียบเสมือนงานศิลปะชนิดหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ได้ไขปริศนาอะไรบางอย่างในธรรมชาติ และเมื่อคนมีความเข้าใจพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ จะเป็นช่องทางช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
รูฟโฟโล ทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยความเพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ จึงตั้งเป้าสอนนักเรียน นักศึกษาให้สนใจและเข้ามาทำงานด้านนี้มากขึ้น เพื่อช่วยกันพัฒนานวัตกรรมโดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ