ปชป.-พท.ชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯชี้ชะตาสนามใหญ่
เปิดฉากศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ กับการเปิดรับสมัครวันแรก (21 ม.ค. 2556)
โดย...ธนพล บางยี่ขัน
เปิดฉากศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างเป็นทางการ กับการเปิดรับสมัครวันแรก (21 ม.ค. 2556) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ก่อนที่ผู้สมัครแต่ละคนจะเริ่มต้นลุยหาเสียงกันแบบเต็มตัว หลังจากได้เบอร์ที่จะนำไปใช้หาเสียง
ช่วงระยะเวลาเดือนกว่าจากนี้ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 3 มี.ค. จึงว่ากันว่าจะเป็นการขับเคี่ยวดุเดือดอีกครั้ง โดยเฉพาะกับ “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” สองพรรคใหญ่ที่ต่างก็ท่องคาถา “แพ้ไม่ได้”
ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ไม่ได้มีความหมายเฉพาะแค่การเลือกตั้ง “ท้องถิ่น” ในพื้นที่ กทม.เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อทิศทางการเมืองในระดับชาติ
เมื่อด้านหนึ่ง “ประชาธิปัตย์” เจ้าของฐานที่มั่นใน กทม. และผูกขาดเก้าอี้ตัวนี้มา 3 สมัย แต่ในภาพรวมจะเป็นเพียงแค่พรรคฝ่ายค้าน 159 เสียงที่ยากจะไปทัดทานเสียงข้างมากจากรัฐบาลกว่า 300 เสียงในสภา
อย่าลืมว่า นอกจากฐานเสียงแน่นปั้กในพื้นที่ภาคใต้แล้ว พื้นที่ กทม.ยังเป็นฐานที่มั่นสำคัญของประชาธิปัตย์ที่ยังเหลืออยู่เวลานี้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องรักษาสุดชีวิต ไม่ให้ “เพื่อไทย” เข้ามาแทรกตัวขยายฐานการเมืองในพื้นที่ได้
ไม่ว่าจะเป็นแง่ขวัญและกำลังใจ รวมไปถึงทิศทางการทำงานต่อไปในอนาคต และการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ เก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ตัวนี้ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ประชาธิปัตย์ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจะต้องรักษาไว้ให้ได้
ขณะที่ “เพื่อไทย” แม้จะได้เสียงท่วมท้นในสนามใหญ่ จนทำให้การบริหารงานในสภาเสมือนจะเบ็ดเสร็จไร้อุปสรรคขัดขวางในการผลักดันเรื่องวาระที่ต้องการ
แต่ในแง่ “ยุทธศาสตร์” พื้นที่ กทม.ยังเป็น “จุดอ่อน” สำคัญของ “เพื่อไทย” ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็งเพื่อการบริหารงานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพต่อไปในอนาคต เมื่อบทเรียนที่ผ่านมายังวนเวียนอยู่กับ “สองนคราประชาธิปไตย” ทฤษฎีคลาสสิกของ อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล คน กทม.ล้มรัฐบาล
ในขณะที่ “ผู้สมัครอิสระ” เวลานี้ก็ยังดูจะไม่โดดเด่นเพียงพอที่จะฝ่าฐานเสียงของพรรคใหญ่เข้ามาร่วมลุ้นชิงตำแหน่งพ่อเมือง กทม.รอบนี้ การขับเคี่ยวครั้งนี้ ระหว่าง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” และ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” จึงหนีไม่พ้นที่จะสะท้อนการต่อสู้ระหว่าง “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องงัดทุกกลไกทุกทรัพยากรในมือออกมาห้ำหั่นกัน
ไล่ดูตั้งแต่ “ประชาธิปัตย์” ในฐานะแชมป์เก่า ซึ่งสร้างผลงานทำแฮตทริก 3 สมัยติด ในระยะเวลาเกือบ 10 ปี ย่อมมีความได้เปรียบในกลไก กทม. ทั้งผู้อำนวยการเขตหรือเจ้าหน้าที่ระดับอื่นๆ ที่วางเครือข่ายเอาไว้เป็นไม้เป็นมือในการทำงานในช่วงที่ผ่านมา
ยังไม่รวมกับ สส. สก. สข.ของประชาธิปัตย์ ที่เปรียบเทียบแล้วยังมีจำนวนมากกว่าเพื่อไทยไม่น้อย แถมยังวางเครือข่ายเหนียวแน่นในพื้นที่จนถือเป็นจุดแข็งที่ได้เปรียบคู่แข่ง สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา
แต่อีกด้านหนึ่ง “เพื่อไทย” ถึงจะเสียเปรียบในเรื่องเครือข่าย กทม. แต่ก็ทดแทนด้วยเครือข่ายตำรวจ ที่ไล่มาตั้งแต่ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่เติบโตมาจนถึงระดับ รอง ผบ.ตร. และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เสียงสนับสนุนจากแวดวงสีกากีย่อมมีไม่น้อย
ที่สำคัญเวลานี้ยังมีแรงหนุนจาก “บิ๊กแจ๊ด-พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” ผบช.น. ที่ออกหน้าช่วยเดินหาเสียงเต็มตัว ยังไม่รวมถึงกลไกในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่กำกับดูแล สน.ในแต่ละพื้นที่ทั่ว กทม.
ในแง่ “ทัพใหญ่” ประชาธิปัตย์ เวลานี้ได้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขวัญใจแฟนคลับชาวกรุง ไปช่วยหาเสียงได้อิสระเต็มที่ ไม่ต้องติดเงื่อนไขเหมือนเมื่อเป็นฝ่ายบริหาร
ยิ่งกว่านั้นยังดันแกนนำระดับแม่เหล็กอย่าง กรณ์ จาติกวณิช อภิรักษ์ โกษะโยธินองอาจ คล้ามไพบูลย์ มาช่วยทั้งวางยุทธศาสตร์ ทั้งลงพื้นที่ช่วยหาเสียงแบบเป็นระบบ ยิ่งกว่านั้นยังดึง สส.กทม. สส.พื้นที่ มามีส่วนร่วมในศึกครั้งนี้แบบเต็มตัว แบ่งซอยพื้นที่รับผิดชอบ 9 โซน ให้ไปช่วยงานในระดับพื้นที่
ทว่าทาง “เพื่อไทย” ในฐานะพรรครัฐบาลย่อมเสียเปรียบตรงเงื่อนไขการหาเสียงที่ทำให้ทั้ง นายกฯ และรัฐมนตรี ที่จะมาช่วยหาเสียงต้องเป็นไปในช่วงนอกเหนือเวลาราชการ
ที่สำคัญความระหองระแหงใน สส.กทม. เพื่อไทย ที่แตกออกเป็นกลุ่มก๊วน ย่อมจะทำให้การผนึกกำลังลุยศึกอาจเป็นไปแบบไม่เต็มที่หรือเป็นไปแบบเฉพาะพื้นที่ตัวเองรับผิดชอบ จนกระทบต่อการหาเสียงในภาพรวม
ส่องดูแค่ “ยุทธศาสตร์” เวลานี้ “เพื่อไทย” ประกาศสโลแกน “ไร้รอยต่อ” ที่ต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม.กับรัฐบาลเป็นพรรคเดียวกัน เพื่อจะได้ไม่มีอุปสรรคความขัดแย้งทางนโยบายตามที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยกตัวอย่างเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำท่วมช่วงที่เป็นปัญหากับ กทม.มาตอกย้ำ
“ยังไม่พูดถึงเนื้องานอื่นที่ยุทธศาสตร์จังหวัดที่ไปคนละทางกับรัฐบาล จะส่งผลต่อประเทศ ถามว่าทำคนละทางได้หรือไม่ บอกว่าได้ แต่จะเกิดพลังหรือประสิทธิภาพสูงขึ้นอาจจะไม่เต็มที่ ทำให้งบประมาณลงไปไม่ตรงกับภาพรวม เป็นสิ่งที่รัฐบาลมองว่าเมืองใหญ่มีความสำคัญที่จะเป็นต้นทางในเรื่องของยุทธศาสตร์และความเจริญต่างๆ ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับประเทศ”
ส่วนประชาธิปัตย์ยังพยายามเน้นจุดขายเรื่องการทำงานต่อเนื่องได้ทันที ไม่มีสะดุด ด้วยการหยิบยกผลงานที่ผ่านมาและแนวทางที่จะสานต่อไปมาเป็นแนวทางการหาเสียง
รวมไปถึงแนวคิดเลือกเพื่อถ่วงดุลให้เกิดการตรวจสอบการทำงานระหว่างรัฐบาลและ กทม. ไม่ให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างที่ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์“ บิ๊กประชาธิปัตย์ ที่พูดระหว่างการหาเสียงที่เขตสวนหลวง การสร้างกระแสไร้รอยต่อเพื่อกำจัดก้างขวางคอพร้อมประดิษฐ์วาทกรรม “ไร้รอยต่อ หวานคอแร้ง” เกิดการรวบรัดอำนาจเบ็ดเสร็จทำอะไรได้ตามใจชอบ
ทว่านี่ยังเป็นแค่ศึกยกแรกที่ต่างฝ่ายต่างก็เริ่มชิงจังหวะออกหมัดกันชุลมุน และคงจะดุเดือดเข้มข้นต่อเนื่องเรื่อยๆ เมื่อสนามเลือกตั้ง กทม.ครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังถือเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตที่สำคัญทางการเมืองของทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยอย่างมีนัยสำคัญ