ปฏิรูปสังคมไร้ผลคสช.ท่าดีทีเหลว
ภารกิจสำคัญหลังการรัฐประหารของคสช.คือ “การปฏิรูป” ในทุกด้าน ก่อนส่งมอบประเทศสู่รัฐบาลชุดต่อไป
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
ภารกิจ สำคัญหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร่ำบอกตลอดเวลา ถึงขั้นเขียนเป็นคำมั่นสัญญาไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็คือ “การปฏิรูป” ในทุกด้าน ก่อนส่งมอบประเทศสู่รัฐบาลชุดต่อไป
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้จึงมีภารกิจสำคัญ นอกจากการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังต้องเป็นตัวกลางนำการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างให้ได้ด้วย
เป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลเร่งปลุกปั้นก็คือการปฏิรูปด้าน “สังคมจิตวิทยา” ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านการศึกษา และด้านสาธารณสุข ที่บิ๊กตู่คาดหวังไว้ว่าการดึงหัวกะทิในด้านต่างๆ ให้เข้ามาช่วยงานจะสามารถ “เขยื้อนภูเขา” ได้
หัวกะทิที่ถูกดึงมา อาทิ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีคนหัวแถวอย่าง ศ.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้คร่ำหวอดด้านการศึกษา มาอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังการปฏิรูปการศึกษา และคนอย่างศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มาเป็นประธานกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพ เพื่อปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำกองทุนสุขภาพ
ขณะที่ด้านวิทยาศาสตร์ รัฐบาลดึงเอา พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ จากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ ที่เคยมีบทบาทโดดเด่นเรื่องนโยบายวิทยาศาสตร์ มาเป็นรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ส่วนอีก 2 กระทรวงอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงานนั้น คนในเครื่องแบบเข้ามาควบคุมการบริหารงานด้วยตัวเอง
นี่ยังไม่นับรวมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อีก 150 คน ที่ถูกตั้งความหวังให้เป็นส่วนเสริม คอยเสนอแนะนโยบาย และปฏิรูปคู่ขนานไปด้วยกันกับรัฐมนตรี เป็นทีมงานพร้อมสรรพเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
อย่างไรก็ตาม 1 ปีที่ผ่านมา ผลงานด้านสังคมยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มากไปกว่าการทำงาน “รูทีน” อย่างที่รัฐบาลในอดีตเคยทำ
ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ หลังรัฐบาลเข้ามาทำงานใหม่ๆ “บิ๊กตู่” ดูจะสนใจการลดชั่วโมงเรียน เพิ่มการทำกิจกรรม รวมถึงลดการเรียนกวดวิชา เพื่อให้เด็กมีเวลามากขึ้น นอกจากนี้ยังสั่งการให้พัฒนาทักษะเด็กอาชีวะอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการย้ายข้าราชการระดับสูงล็อตใหญ่ ทั้งในกระทรวงและในระดับ “5 เสือ” ของกระทรวงศึกษาฯ ไม่ต่ำกว่า 10 คน โดยครั้งหลังสุดเป็นการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 โดยระบุเหตุผลชัดเจนว่า “ย้ายเพื่อปฏิรูปการศึกษา”
แต่หลังจากนั้น การปฏิรูปก็ไม่ได้มีความคืบหน้าใดๆ สิ่งใหม่ที่ออกมามีเพียงเน้นย้ำให้เด็กปฏิบัติตาม “ค่านิยม 12 ประการ” เท่านั้น ส่วนงานอื่นๆ ยังเป็นภาระหน้าที่ปกติให้ข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน
หากกระทรวงศึกษาฯ ยังไม่น่าผิดหวังพอ ขอให้จับตาไปยังกระทรวงสาธารณสุข หนึ่งในกระทรวงที่ถูกคาดหวังว่าจะมีการยกเครื่องครั้งใหญ่เช่นกัน
ในช่วงแรกมีการพูดถึงการจัดโครงสร้าง “กองทุนสุขภาพ” 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำแต่ละกองทุน โดยดึงเอาเครือข่ายจากองค์กรอิสระในกระทรวงหมอ (องค์กรตระกูล ส.) ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาเป็น Think Tank ข้างกาย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม 1 ปีผ่านไป เรื่องการบูรณาการ 3 กองทุนก็ยังคงเป็นเพียง “แนวคิด” ที่ไม่อาจนำไปสู่การปฏิบัติได้
ยกตัวอย่างเรื่องง่ายที่สุดอย่างการจัดระบบ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” ซึ่งเจ้ากระทรวงประกาศจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตั้งแต่เดือน มี.ค. แต่จนถึงวันนี้ก็ยังค้างอยู่ในกระทรวง ส่วนเรื่องที่ยากกว่าอย่างการบูรณาการ 3 กองทุน ให้เป็น “สภาประกันสุขภาพแห่งชาติ” รวมอำนาจการตัดสินใจเรื่องสิทธิประโยชน์ภายใต้คณะกรรมการชุดเดียว ก็ยังคงติดกับดักความขัดแย้งในบรรดาหมอกับหมอ
ชัดเจนว่าการย้าย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และสะท้อนชัดว่าการที่งานไม่เดิน ไม่ใช่ฝีมือของปลัดณรงค์ แต่อยู่ที่ความแข็งแกร่งของรัฐมนตรีเองที่ไม่สามารถคุมคนชุดขาวให้อยู่มือเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปได้
หันไปมองกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล้วนตกอยู่ในสถานะเดียวกัน คือไม่มีผลงานเด่นในการปฏิรูป
จริงอยู่ตัวเลข “การค้ามนุษย์” อาจจะลดลง ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ แต่ก็ลดลงโดยอาศัยอำนาจของฝ่ายความมั่นคงที่มี “มาตรา 44” คุมอยู่อย่างเข้มงวด
ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ ก็ยังอยู่ในสถานะกระทรวงปราบเซียน คือไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหารงาน ผลงานกระทรวงนี้ก็ยังจบอยู่ในซอกมืด และปรากฏออกมาอย่างยากลำบากทั้งนั้น
ส่วนการทำงานของ สปช.ที่แบ่งการปฏิรูปด้านต่างๆ ออกเป็นจำนวนมาก ก็ยังอยู่ในสถานะง่อนแง่น เพราะเรื่องที่ต้องผลักดันนั้น ไม่ได้เป็นฉันทามติที่ทุกฝ่ายเอาด้วย เห็นได้ชัดจากการที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตัดสินใจถอด “หมวดปฏิรูป” ออกจากรัฐธรรมนูญ 2558 เพื่อลดความขัดแย้ง และให้ไป “ลุ้น” ให้ออกเป็นกฎหมายลูกแทน
เหตุและปัจจัยเหล่านี้ทำให้กองเชียร์ซึ่งจำนวนมากเป็นข้าราชการในหน่วยงานเหล่านี้ เริ่มหันหลังให้กับบิ๊กตู่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่เห็นว่าอนาคตหลังบิ๊กตู่ลงหลังเสือจะมีทิศทางแบบใด
จึงไม่น่าแปลกใจที่เสียงกลัวเสียของจะดังขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงคำว่า “ขาลง” ก็เป็นกระแสขาลงจริงๆ ไม่ได้เป็นเพียงเสียงเย้ยหยันจากฝ่ายตรงข้ามแบบที่เกิดขึ้นตอนแรก
ความล้มเหลวเกิดขึ้นเพราะเมื่อเริ่มปฏิรูปไม่ได้ดึง “คนทุกกลุ่ม” เข้ามาเป็นพวก และยังฟัง “ข้าราชการ” ที่รายล้อม มากกว่าจะฟังเสียงประชาชนที่หลากหลาย
ส่วนคนที่ดึงเอามาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ รวมถึงอำนาจ บารมี ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเพียงพอ และยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นชัดด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้กระตือรือร้นกับการปฏิรูปอย่างที่ลั่นวาจาไว้
ทั้งหมดนี้โทษใครไม่ได้ เพราะเมื่ออยากเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เต็มตัว หากปฏิรูปอะไรไม่ได้ คนที่รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวก็คือ “พล.อ.ประยุทธ์”