โจทย์ใหญ่ร่างรธน. อย่าเป็นประชาธิปไตยมักง่าย
รัฐธรรมนูญฉบับแทนคุณแผ่นดินที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แม้ว่าไม่ได้เริ่มร่างจากศูนย์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
รัฐธรรมนูญฉบับแทนคุณแผ่นดินที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แม้ว่าไม่ได้เริ่มร่างจากศูนย์ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโจทย์คือการยอมรับจากคนในประเทศและสากล ดังนั้นอะไรจะเป็นตัวชี้วัดว่าการยอมรับนั้นจะสามารถแก้ปัญหาในระยะยาวของประเทศได้
ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวตั้งคำถามก่อนถึงเหตุที่ว่า ทำไมต้องมีคนไม่ยอมรับด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างขึ้น แต่ถ้าจะมีคนไม่ยอมรับคงต้องไม่ยอมรับในช่องทางการทำประชามติ
“คำว่าประชาธิปไตย ที่สุดโต่ง แบบในสมัยประชาธิปไตยเอเธนส์ ที่ให้ประชาชนเข้าไปตัดสินทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจตุลาการ อำนาจประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง ผมคิดว่ามันจบสิ้นไปตั้งแต่สมัยเอเธนส์แล้ว ประชาธิปไตยใหม่ต้องเป็นเรื่องราวการผสมผสานและการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจทั้ง สส. หรือนายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร แต่อย่าลืมว่าต้องตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของประชาชนด้วย ถ้าคิดว่าประชาชนเท่าเทียมกันจริงๆ ประชาชนมีอำนาจทางการเมือง ต่อไปนี้ก็ล้มระบบ สส. ล้มระบบเลือกตั้ง ให้จับสลากเอาประชาชนเข้ามาตัดสินเรื่องราวของประชาชนเลย รู้หรือไม่ว่าการมีระบบเลือกตั้งเป็นการสะท้อนว่าคนไม่เท่ากัน ดังนั้นเราต้องมีระบบตรวจสอบ ตีกรอบการใช้อำนาจของเขา นายกรัฐมนตรี ศาล เองก็ต้องมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุล ผมคิดว่าอย่าใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” มักง่าย อย่างอ้างอำนาจประชาชน อำนาจของปวงชนอย่างพร่ำเพรื่อ”
ไชยันต์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญก่อน 22 พ.ค. 2557 ไม่ได้มีความหมายเลย กลุ่มมวลชนปิดสถานที่ราชการ รัฐบาลก็อ้างว่าลาออกไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญต้องมีเครื่องมือว่าใครเข้มแข็งพอจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญเมื่อเกิดปัญหา ให้รัฐธรรมนูญมีเสถียรภาพจึงไม่พ้นทหาร คนอาจจะมองว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นปัญหา แต่อาจเป็นเครื่องมือที่จำเป็นก็ได้ที่จะพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้มีความเข้มแข็งเสียก่อน แล้วค่อยๆ แก้ปัญหา
สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง ปฏิรูปการเมืองให้พ้นจากวิกฤต สอดคล้องกับการแก้ปัญหาของประเทศได้
“กรธ.ต้องวิเคราะห์ว่า ทำไมประเทศไทยใช้ระบบรัฐสภามาแล้ว 83 ปี ยังล้มลุกคลุกคลาน เราสามารถทำให้ระบบรัฐสภาสอดคล้องกับการเมืองไทยให้ก้าวหน้า มีเสถียรภาพ มั่นคง ได้อย่างไรและไม่กลับไปตกหลุมดำอีก เมื่อเราใช้ของที่ใช้มาแล้ว 83 ปี แต่ไม่รู้จักถอดบทเรียนว่ามีปัญหาอะไร ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ออกมาจะไม่มีอะไรดีไปกว่าเดิม” สมบัติ กล่าว
อดีต สปช. กล่าวอีกว่า วันนี้จะไปร่างรัฐธรรมนูญภายใต้ระบบรัฐสภาให้ไปดีกว่า หรือก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ ปี 2550 ก็ยากมาก เพราะยังคิดใหม่ไม่ได้ ทุกอย่างยังอยู่ภายใต้กรอบเก่าๆ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2540 และปี 2550 เมื่อเทียบที่มานายกรัฐมนตรี และที่มาของ สว. ปรากฏกว่าล้าหลังกว่า ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย อีกทั้งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สำคัญ และต้องตอบคำถามประชาชน คือ การแก้ไขปัญหาซื้อสิทธิขายเสียง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่การเมืองไทยทำได้หรือไม่ การออกแบบที่ให้มีรัฐบาลอ่อนแอ ซึ่งต้องระมัดระวัง เพราะระบอบประชาธิปไตยที่ดีต้องออกแบบรัฐธรรมนูญที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ มีกลไกตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน คปป.ต้องทบทวนใหม่ การไปเอาตัวอย่างแนวคิดจากรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส มาตรา 16 มาใช้ เป็นการนำมาใช้เฉพาะแง่เทคนิคทางกฎหมาย แต่ไม่ได้นำจิตวิญญาณหรือปรัชญาตามระบอบประชาธิปไตยมาใช้ หลักของเขาคนที่ใช้คือคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ที่มีตัวประธานไม่ได้มาจากการเลือกตั้งประชาชน
“ถ้าคิดว่าจะร่างรัฐธรรมนูญในระยะยาว กรธ.ต้องทำให้เห็นว่า หลักการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามหลักการระบอบประชาธิปไตยสากล ทำให้เกิดการยอมรับหากจะมีกลไกอะไรที่จะใช้ในช่วงเวลาเฉพาะกิจ ก็ต้องแยกออกให้ไปอยู่ในบทเฉพาะกาล และทำให้ประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นมีความก้าวหน้าไม่ใช่ล้าหลัง แรงเสียดทานการร่างรัฐธรรมนูญจะสูงมาก เนื่องจากสังคมไทยยังมีความขัดแย้งสูง เพราะฉะนั้น กรธ.หากร่างมีมติใดออกมา ที่ทางฝ่ายการเมืองไม่เห็นด้วย ตอนนี้เขาจะไม่รอให้ร่างเสร็จ แต่เขาจะส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทันที เพราะเขาไม่ต้องการให้เสียเวลาต่อไป ถ้าหากว่า กรธ.ร่างมาแล้วสอดคล้องกับหลักการสากล ฝ่ายการเมืองก็จะโต้แย้งไม่ขึ้น” สมบัติ กล่าว