posttoday

ม.44 หลังรัฐธรรมนูญใหม่ อำนาจเบ็ดเสร็จที่มีข้อจำกัด

06 เมษายน 2560

เริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญกำหนดกรอบกติกาสูงสุดของประเทศ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการกับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญกำหนดกรอบกติกาสูงสุดของประเทศ อันจะมีผลต่อทิศทางการบริหาร ดำเนินการ ในภาคส่วนต่างๆ ​อันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ เพื่อพาประเทศก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งอย่างที่มุ่งหวัง

จากนี้กระบวนการต่างๆจะเริ่มเดินหน้าไปตามเส้นทางที่วางไว้ ทั้งการออกกฎหมายลูก กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อเตรียมความพร้อมพาประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง

ทว่า การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้หลายฝ่ายจับตาไปที่ “อำนาจพิเศษ” ตามมาตรา 44 ที่เหมือนดาบอาญาสิทธิ์เปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ใช้ผ่าทางตันแก้ไขปัญหาหลายเรื่องที่ผ่านมาจะยังศักดิ์สิทธิ์มีมนตร์ขลังเช่นเดิมหรือไม่

ที่ประชุม ครม.นัดล่าสุด วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบเรื่องรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้​ 4-5 ประการ ทั้ง​การสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. คสช. เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งและมีการเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ

สนช.จะหมดวาระเมื่อ 15 วันก่อนวันเลือกตั้งและ สปท.จะหมดอายุทันทีที่เสนอกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติและกฎหมายปฏิรูป ต่อมาคือ กรธ.จะต้องอยู่ทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 8 เดือน

ส่วนประเด็นเรื่องอำนาจตามมาตรา 44 ที่เคยใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้รวมทั้งที่จะออกใหม่ในวันข้างหน้า แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้แล้วก็ยังสามารถที่จะดำเนินการได้ เพราะมีการกำหนดเอาไว้ในมาตรา 265 ว่าอำนาจเดิมของ คสช.จะมีผลต่อไปจนกว่า คสช.จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ ​ส่วนการยกเลิกต้องออกเป็น พ.ร.บ.ในการยกเลิก

ไม่แปลกที่ระยะหลังจะเห็น คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 หลายต่อหลายเรื่องมากขึ้น ล่าสุด “เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง” เด้ง 6ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ เชียงราย ภูเก็ต ราชบุรี สิงห์บุรี ไปเป็นผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ

ต่อเนื่องด้วยการออกคำสั่งเรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ” จำนวน 18 ข้อ แก้ไขกฎหมาย 4 ฉบับ ในกลุ่มธุรกิจลงทุนยาก เพื่อแก้ปัญหาหลังจากรายงานผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ไทยในอันดับที่ 46 จาก 190 ​

แม้รัฐธรรมนูญใหม่มาตรา 265 จะเปิดทางการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช. และ คสช.ไว้เหมือนเดิมแต่ด้วยบทบัญญัติอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ ย่อมทำให้การใช้อำนาจตามมาตรา 44 มีข้อจำกัดจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้น ​

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิที่ถือเป็นจุดเด่นและได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่นี้การใช้มาตรา 44 ย่อมต้องไม่ไปละเมิดสิทธิกับคนอื่น ​ที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาให้เกิดการตีความและสร้างปัญหาได้

สอดรับกับที่ ​มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 44 จะต้องไม่ขัดกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ที่รัฐธรรมนูญใหม่ให้การรองรับไว้ มีเพียงเพื่อแก้ปัญหาที่มันขัดข้อง แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไปละเมิด หรือแก้รัฐธรรมนูญได้

นี่ย่อมทำให้ความคล่องตัวของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือต้องลดลงไปพอสมควร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย พักงาน การปลดออกจากตำแหน่ง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงานของรัฐ ​เรื่อยไปจนถึงเรื่องการ​ออกกฎระเบียบ แก้ไขกฎหมาย ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมาย เพราะมาตรา 77 วรรคสอง รัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้ “ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ”

“รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป”

ยิ่งในช่วงที่กฎหมายลูกเริ่มบังคับใช้และทาง คสช.ยกเลิกคำสั่งเดิมผ่อนปรนให้พรรคการเมืองออกมาเคลื่อนไหว ดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองได้เสรี เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งไปจนถึงเรื่องการเคลื่อนไหวแสดงความคิดความเห็นที่มีเสรีภาพมากขึ้น

ทั้งหมดจะยิ่งกดดันการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ