posttoday

ส่องผลเลือกตั้ง"ทำไมพท.ผวาประชามติ?"

26 กรกฎาคม 2555

ประเด็นที่ “เพื่อไทย” ยังเป็นห่วงคือเสียงที่เคยสนับสนุนพรรคจะยังยืนสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยหรือไม่

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

“ประชามติ” กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญหากรัฐบาลยังดึงดันจะเดินหน้าลุยแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เมื่อเนื้อหาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตีกรอบเอาไว้ชัดว่า ควรทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือไม่ก็กลับไปแก้ไขแบบรายมาตราโดยรัฐสภา

ล่าสุดสัญญาณจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยค่อนข้างชัดไม่เอาการทำประชามติแล้ว

ประการแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 165 วรรค 4 ระบุว่า “การจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลจะกระทำมิได้”

ดังนั้น หากทำประชามติว่าในหัวข้อเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ย่อมมีเสียงค้านและอาจนำไปสู่การยื่นเรื่องให้ตีความว่าขัดมาตรา 165 หรือไม่

ประการที่สอง “คะแนนเสียง” ซึ่งเวลานี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า การชี้ขาดผลประชามตินั้นวัดกันอย่างไร เมื่อ มาตรา 165 ระบุว่า การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ

พรรคเพื่อไทย อธิบายว่า ถ้าเป็นแนวนี้ต้องได้เสียงข้างมากกว่า 23.35 ล้านเสียง จาก 46.7 ล้านคน ถึงจะผ่านประชามติเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้

ส่องผลเลือกตั้ง\"ทำไมพท.ผวาประชามติ?\"

นอกจากอ้างอิงมาตรา 165 รัฐธรรมนูญแล้ว ยังต้องตีความผลประชามติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2552 มาตรา 9 ที่ระบุว่า การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติ ต้องมีผู้มาออกเสียงเป็นจำนวนเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงและมีจำนวนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามติ

“สดศรี สัตยธรรม” กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายว่า ส่วนแรกต้องมีผู้มาลงมติเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง สมมติมีผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 45 ล้านเสียง ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกิน 22.5 ล้านเสียง จากนั้นจึงมาดูในส่วนที่สอง ที่สมมติมีผู้มาลงประชามติ 22.5 ล้านคน เสียงชี้ขาดจะต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียง คือ 11.25 เสียง

ทั้งนี้ หากเทียบเคียงจากคะแนนเสียงเลือกตั้ง 5 ก.ค. 2554 ขณะนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46.7 ล้านเสียง หากตีความแบบแรกคือยึดตามมาตรา 165 รัฐธรรมนูญ จะต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ดังนั้นหากประชามติจะผ่านความเห็นชอบจะต้องได้รับเสียงอย่างน้อย 23.35 ล้านเสียง

ซึ่งหากดูจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย มีคะแนน 15.7 ล้านเสียง หากทุกเสียงโหวตเห็นด้วยกับการทำประชามติรวมกับพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ อีกประมาณ 4.6 ล้านเสียง รวมแล้วยังอยู่แค่ 20.3 ล้านเสียง ไม่ถึง 23.35 ล้านเสียง

รวมทั้งหากย้อนไปดูคะแนนเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสต์ และระบบสัดส่วนเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา พรรคพลังประชาชนได้ 12.3 ล้านเสียง หรือช่วงที่พรรคไทยรักไทยยุครุ่งเรืองได้ 18.9 ล้านเสียง ก็ไม่พอสำหรับเสียงประชามติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แต่หากยึดตามที่ “สดศรี” อธิบายโดยยึด พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ แค่มีผู้มาลงประชามติเกิน เกิน 23.35 ล้านเสียง ก็ถือว่าผ่านเปลาะแรก ส่วนเปลาะที่สองหากเทียบตามจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5 ก.ค. 2554 จำนวน 32.5 ล้านเสียง หากมีคนลงมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะต้องใช้เสียงประมาณเกิน 16.25 ล้านเสียง

ถ้าเป็นกรณีนี้แค่เสียงที่สนับสนุนเพื่อไทยในการเลือกตั้งที่ผ่านมา 15.7 ล้านเสียงกับพรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ 4.6 ล้านเสียง ก็สามารถผ่านประชามติได้ไม่ยาก

ทว่าประเด็นที่ “เพื่อไทย” ยังเป็นห่วงเวลานี้คือเสียงที่เคยสนับสนุน “เพื่อไทย” จะยังยืนสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วยหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกเดินหน้าประชามติ เบิกทางแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป

ส่องผลเลือกตั้ง\"ทำไมพท.ผวาประชามติ?\"