6หลักสูตรผู้บริหารแหล่งผูกขาดชนชั้นนำ
เศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯเผยผลวิจัย พบ 6 หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเป็นแหล่งผูกขาดชนชั้นนำขยายความไม่เท่าเทียมของสังคม
โดย...ทีมข่าวการเมือง
ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเสวนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย “สู่สังคมไทยเสมอหน้าที่อาคารสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” หนึ่งในนั้นเป็นงานวิจัย เรื่อง “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา” ของ นวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บทสรุปของงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เกิดหลักสูตรที่เน้นการฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูงในวิชาชีพต่างๆ เพื่อฝึกอบรมความเชี่ยวชาญ|ชำนาญเฉพาะเพิ่มขึ้นมาก โดยหลาย|หลักสูตรเน้นการผสมผสานผู้บริหารระดับสูงในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคราชการ ทั้งข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ภาคการเมือง และภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการระหว่างบุคคลในรุ่นเดียวกัน และระหว่างรุ่น ภายใต้คำถามว่า เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นในลักษณะกลุ่มผู้มีอิทธิพลระดับสูงหรือไม่ และเครือข่ายก่อให้เกิดผลกระการใดในเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไทย
งานวิจัยดังกล่าว ได้ศึกษาเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงในเครือข่ายทางการศึกษา 6 หลักสูตร ได้แก่ 1.หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2.หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม 3.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) และ 6. หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ของหอการค้าไทย
โดยทุกหลักสูตรมีลักษณะสำคัญ คือ 1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ หรือแนวคิดของผู้เข้าเรียน 2.มีเนื้อหาวิชาการและเงื่อนไขสำเร็จการศึกษาที่เข้มข้น 3.เป้าหมายมีลักษณะกว้างและเป็นประโยชน์สาธารณะ และ 4.เครือข่ายที่หลักสูตรสร้างขึ้นไม่มีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ของเจ้าของหลักสูตรมากนัก โดยหลักสูตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ได้แก่ วตท. และ TEPCoT มอบหมายภาระการศึกษาน้อยกว่า รวมถึงมุ่งเน้นการศึกษาเพื่อลดความขัดแย้งและความแตกต่าง นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันข้อตกลงหรือแนวคิด หรือมีเป้าหมายตามลักษณะเฉพาะของกลุ่มแตกต่างจากอีก 4 หน่วยงานที่เหลือ
หลักสูตรกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ มีเป้าหมายหลักคือเน้นผู้ที่มีศักยภาพจะเป็นผู้นำในอนาคต ส่วนผู้เข้าร่วมอื่นๆ จะเน้นผู้นำในภาคธุรกิจ ขณะที่ วตท. และ TEPCoT จะเน้นการคัดเลือกผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กรในภาคส่วนต่างๆ เข้าเรียน ทั้งนี้ภายในหลักสูตรจะมีการสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของหลักสูตรในระหว่างการศึกษาเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างผู้เรียนด้วยกัน รวมถึงมีการตอกย้ำหรือการรักษาความสัมพันธ์หลังสำเร็จหลักสูตร โดยมีการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่า เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างรุ่นอีกด้วย
“บทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองของเครือข่ายผู้บริหารระดับสูงแบ่งออกเป็นบทบาทระดับองค์กรหรือระดับทางการ เช่น กิจกรรมการกุศลและการพัฒนา รวมถึงความสัมพันธ์โดยเป็นที่พึ่งให้กันระดับส่วนตัว ซึ่งอาจก่อให้เกิดการเอื้อประโยชน์ในกรณีพิเศษด้วย ทั้งนี้ การรวมตัวระหว่างชนชั้นนำภายใต้หลักสูตรเหล่านี้ อาจทำให้การแข่งขันระหว่างชนชั้นนำด้วยกันลดลง โดยไปเพิ่มส่วนของการแบ่งปันและหยิบยื่นผลประโยชน์ ภายใต้ความสัมพันธ์แบบพรรคพวกเพื่อนฝูงแทน ซึ่งจะขยายช่องว่างทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างชนชั้นนำ และมวลชนทั่วไปออกไปกว่าเดิม และขยายสภาพความไม่เท่าเทียมของสังคมให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการตรวจสอบ หรือการเข้าถึงจากประชาชนภายนอกจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย เพราะถูกความเป็นเพื่อนของชนชั้นนำเหล่านี้ปิดกั้นไว้” บทสรุประบุ
นวลน้อย สรุปในงานสัมมนาว่า หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงเหล่านี้ สามารถเป็นช่องทางให้คนกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจ สามารถเข้ามามีส่วนร่วม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำผ่านการเข้าร่วมในหลักสูตรดังกล่าว ทำให้การสะสมทุนและประโยชน์ต่างๆ ของกลุ่มชนชั้นนำสามารถทำได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยิ่งทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจการเมืองและความไม่เท่าเทียมต่างๆ มากขึ้นตามไปไม่รู้จบ
ขณะที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ข้อกำหนดของหลักสูตรผู้บริหารเหล่านี้ ขัดกับหลักทุนนิยมเสรีใหม่ เพราะปัจจุบันต้องการการถกเถียงเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและประโยชน์สาธารณะมากกว่าการหลอมรวมความคิดเข้าด้วยกัน และไม่สามารถทำให้สังคมไทยเดินหน้าต่อไปได้ ซ้ำยังติดหลุมพรางกับความประนีประนอมกันของคนกลุ่มนี้