"ปู"ชัดเจน!ไม่เอาสว.สรรหา-ซัดองค์กรอิสระทำเกินหน้าที่
คำต่อคำ "ยิ่งลักษณ์" ปาฐกถาบนเวทีประชุมประชาคมประชาธิปไตยที่มองโกล ลั่นองค์การอิสระทำเกินหน้าที่-ไม่เอาสว.สรรหา
โดย....ทีมข่าวการเมือง
เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาระหว่างการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ที่เมืองอูลันบาตอร์ สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย การปาฐกถาครั้งนี้ มีนัยยะต่อการเมืองในประเทศไทยหลายด้านด้วยกัน
เพราะนี่เป็นครั้งแรกๆในรอบสองปีของบริหารงานรัฐบาล ที่นายกฯออกมาแสดงท่าทีทางการเมืองของตนค่อนข่างชัดกว่าทุกครั้ง ในยามที่ตนเองต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ
“จนแทบไม่น่าเชื่อ นี่คือคำกล่าวจากจิตใต้สำนึกของคนชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เป็นผู้นำประเทศไทย จริงหรือไม่”
เพราะบ่อยครั้งที่มีปมทางการเมืองเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มส.ส.เพื่อไทย หรือแม้แต่กลุ่มคนเสื้อแดงที่ออกมาเคลื่อนไหวล้มล้างองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ นายกฯ กลับออกมาพูดในประเทศได้แค่ "เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย" "เป็นเรื่องของสภาค่ะ"
ระหว่างบรรทัดข้างล่างจากนี้ เห็นได้ว่า นี่คือ จุดยืนของนายกฯ ต่อระบอบประชาธิปไตย เช่น “กล่าวชัดเจน ไม่เอาสว. แบบสรรหา” “ กล่าวพาดพิงองค์กรอิสระใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต”
แถมนายกฯยิ่งลักษณ์ กล่าวย้อนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย โค่นล่มรัฐบาลพี่ชายตนเอง โดยไม่กล่าวถึงต้นเหตุของทหารเข้ามาควบคุมสถานการณ์อันมาจากความขัดแย้งการเมืองรุนแรง จากการที่ประชาชน เสื่อมศรัทธา พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้อำนาจควบคุมกลไกราชการ สภา องค์กรอิสระ อย่างเบ็ดเสร็จ เปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเบ่งบาน
...................
ดิฉันเดินทางมาที่นี่เพราะความเป็นประชาธิปไตยมีความสำคัญต่อดิฉันอย่างมาก และที่สำคัญยิ่งกว่าคือความไม่เป็นประชาธิปไตยมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศบ้านเกิดของตน ประเทศไทยที่ดิฉันรักประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เป็นแนวคิดอุดมการณ์ใหม่ ในช่วงเวลาที่ผ่านมายาวนานแนวทางประชาธิปไตยได้นำมาซึ่งความก้าวหน้าและความหวังสำหรับผู้คนจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนมากได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อปกป้องรักษาและสร้างความเป็นประชาธิปไตย
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ได้ได้มาฟรีๆ สิทธิ เสรีภาพ และความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิงมีความเท่าเทียมกันนั้นได้มาด้วยการต่อสู้ และที่น่าเศร้าใจคือ ทำให้ต้องมีผู้เสียชีวิต
“ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือ ก็เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยในโลกนี้ที่ไม่เชื่อในแนวคิดประชาธิปไตย คนเหล่านี้พร้อมที่จะให้ได้มาด้วยอำนาจและด้วยการกดขี่การมีเสรีภาพ นั่นหมายความว่าพวกเขาพร้อมที่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น เขาไม่เคารพสิทธิมนุษยชนหรือความเสรีภาพ พวกเขาพร้อมจะใช้กำลังเพื่อกดขี่ให้คนอยู่ใต้อำนาจ และยังใช้อำนาจในทางที่ผิด สิ่งนี้ได้เกิดขึ้นในอดีตและยังคงท้าทายเราทุกคนในปัจจุบัน
มีหลายประเทศที่ความเป็นประชาธิปไตยได้หยั่งรากลึกแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและเป็นความรู้สึกสดชื่นที่ได้เห็นกระแสประชาธิปไตยที่นำความเปลี่ยนแปลงสู่ประเทศต่างๆ จากปรากฏการณ์อาหรับสปริงถึงช่วงผ่านเปลี่ยนในพม่าภายใต้ผลักดันของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศของดิฉัน ด้วยพลังของประชาชนคนไทยที่ทำให้ดิฉันมายืนอยู่ที่นี่ได้ในวันนี้”
ในระดับภูมิภาค หลักการสำคัญๆ ในปฏิญญาอาเซียนก็ยึดมั่นในหลักนิติธรรม, ประชาธิปไตย และรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเราทุกคนต้องระมัดระวังว่าแรงปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยไม่เคยที่จะถดถอยลดน้อยลง ตนขอยกเรื่องของตนเองเป็นอุทาหรณ์ ในปี 2540 ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งร่างขึ้นโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม
เราทุกคนคิดว่ายุคใหม่ของประชาธิปไตยไทยมาถึงแล้ว และจะเป็นยุคสมัยที่ไร้การรัฐประหารแต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้น รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งถึงสองครั้งสองหนด้วยเสียงส่วนใหญ่ถูกล้มลงในปี 2549 ประเทศไทยเสมือนรถไฟตกรางและประชาชนคนไทยใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าที่จะได้เสรีภาพแห่งประชาธิปไตยกลับคืนมา หลายคนที่อยู่ในที่ประชุมแห่งนี้รู้ว่ารัฐบาลที่ตนพูดถึงคือรัฐบาลที่พี่ชายของตน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“หลายคนที่ไม่รู้จักดิฉัน อาจบอกว่าเธอจะบ่นไปทำไม เป็นเรื่องปกติในกระบวนการการเมืองที่รัฐบาลมาแล้วก็ไป ซึ่งหากตัวดิฉันและครอบครัวของดิฉันต้องเจ็บปวดแต่ฝ่ายเดียว ดิฉันก็คงจะปล่อยวาง แต่นั่นก็ไม่ใช่ความเป็นไปที่เกิดขึ้น จากการรัฐประหารประเทศไทยต้องถอยหลังและสูญเสียความน่าเชื่อถือต่อนานาชาติ หลักนิติธรรมและกระบวนการกฎหมายถูกทำลาย โครงการและแผนงานที่พี่ชายของดิฉันริเริ่มตามที่ประชาชนต้องการถูกยกเลิก ประชาชนเกิดความรู้สึกว่าสิทธิเสรีภาพของเขาถูกปล้นไป”
คำว่า “ไทย” หมายความว่า “อิสระ” และประชาชนคนไทยก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้ได้เสรีภาพคืนมา แต่ในเดือนพฤษภาคม 2553 มีการสลายการชุมนุมของผู้เรียกร้องกลุ่มคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 คนในใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ คนบริสุทธิ์ถูกลอบยิงโดยสไนเปอร์ แกนนำการชุมนุมต้องติดคุกหรือหลบหนีไปต่างประเทศ และแม้แต่ทุกวันนี้ยังคงมีเหยื่อทางการเมืองจากการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ติดคุกอยู่
ประชาชนคนไทยไม่ท้อถอยและยืนยันที่จะเดินไปข้างหน้า จนในที่สุดรัฐบาลในขณะนั้นต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีฝ่ายปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยที่เชื่อว่าจะบริหารจัดการและบิดเบือนเจตนารมณ์ประชาธิปไตยได้ต่อ แต่ในที่สุดพวกเขาก็ไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของประชาชนได้ ตนได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ขอประเทศ แต่เรื่องราวนั้นยังไม่จบ
มีความชัดเจนว่าผู้ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านประชาธิปไตยยังคงอยู่ รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นในรัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหารได้ใส่กลไกที่ตีกรอบเพื่อจำกัดความเป็นประชาธิปไตย ตัวอย่างหนึ่งที่ดีในประเด็นนี้ จะเห็นได้จากที่จำนวนครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาไทยมาจากการเลือกตั้ง แต่อีกครึ่งหนึ่งกลับได้รับการแต่งตั้งโดยกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ยิ่งกว่านั้นกลไกที่เรียกว่าองค์กรอิสระได้ใช้อำนาจเกินขอบเขตแทนประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงเป็นการดำเนินการเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหนึ่งมากกว่าเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม
“นี่คือความท้าทายของประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน ดิฉันนั้นต้องการเห็นความปรองดองเกิดขึ้นในประเทศไทยและประชาธิปไตยของไทยพัฒนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยหลักนิติธรรมและกระบวนการทางกฎหมายที่แข็งแรงมีขั้นตอนที่ชัดเจนโปร่งใสและเมื่อนั้นทุกคนจะสามารถมั่นใจได้ว่าเขาจะได้รับการดูแลที่ยุติธรรม เจตจำนงนี้ดิฉันได้แสดงออกโดยประกาศเป็นนโยบายต่อที่ประชุมของรัฐสภา ก่อนการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล”
ความมีประชาธิปไตยทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เกิดสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน นำมาสู่การสร้างงานสร้างรายได้ ที่สำคัญเชื่อว่าเสรีภาพทางการเมืองเป็นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจและนำมาซึ่งการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนคนรวย
นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นความสำคัญที่จะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับประชาชนในระดับรากหญ้า เราจะต้องเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา เพราะการศึกษาสร้างโอกาสด้วยความรู้ และปลูกฝังวัฒนธรรมทางประชาธิปไตยในวิถีชีวิตของประชาชน เมื่อประชาชนมีความรู้ ประชาชนจะสามารถตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนและสามารถปกป้องความเชื่อของตนจากผู้ที่ต้องการกดขี่ และนี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อเสนอของมองโกเลียในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเกี่ยวกับการศึกษาและประชาธิปไตย
การลดช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนก็สำคัญเช่นกันมนุษย์ทุกคนควรมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน เราต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งนี้จะทำให้ประชาชนเป็นผู้มีส่วนร่วมที่แท้จริงในการพัฒนาเศรษฐกิจและเสริมสร้างประชาธิปไตยของประเทศ นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องริเริ่มนโยบายที่จะเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสร้างชีวิตที่ดีกว่า และมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ตนได้เริ่มต้นไว้หลายโครงการ รวมถึงการสร้างกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในขณะที่ได้กำหนดมาตรการยกระดับรายได้ของเกษตรกรและตนเชื่อว่าเราต้องการการนำที่มีประสิทธิภาพและมีความสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายและหลักนิติธรรมตลอดจนความสร้างสรรค์ในการหาทางออกที่สันติในการแก้ไขปัญหาของประชาชน เราต้องการการนำที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในซีกรัฐบาลแต่ในฝ่ายค้านและประชาชนทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนต้องเคารพกฎหมายและช่วยกันสร้างประชาธิปไตย
อีกบทเรียนที่ได้เรียนรู้คือเพื่อนในต่างประเทศมีความสำคัญ การกดดันจากนานาชาติที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยทำให้กระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยคงอยู่ได้ การคว่ำบาตรและการไม่ยอมรับเป็นกลไกที่สำคัญที่จะหยุดกระบวนการปฏิกิริยาที่ต่อต้านประชาธิปไตย เวทีนานาชาติอย่างประชาคมประชาธิปไตยแห่งนี้มีบทบาทที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยยืนหยัดอยู่ได้ การส่งเสริมและปกป้องประชาธิปไตยด้วยการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นประสบการณ์และสร้างความร่วมมือ หากประเทศใดก็ตามได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย ทุกคนต้องร่วมกันกดกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงและนำเสรีภาพกลับคืนสู่ประชาชน
ขอยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนเวทีนี้ และการดำเนินงานของสภาบริหาร (Governing Council) เพื่อจะได้ช่วยให้ประชาธิปไตยแข็งแกร่งขึ้นทั่วโลกนอกจากนี้ ตนขอชื่นชมประธานาธิบดีมองโกเลียสำหรับข้อริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนเอเชียเพื่อประชาธิปไตย (Asian Partnership Initiative for Democracy) และทางรัฐบาลไทยพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือในส่วนนี้
“ดิฉันหวังว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของดิฉันได้รับ ที่ครอบครัวของเหยื่อทางการเมืองไทย และครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 91 คนในเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ต้องเผชิญจะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย ขอให้เราทุกคนสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเพื่อที่เสรีภาพและอิสรภาพของมนุษย์ได้รับการปกปักษ์รักษาเพื่อลูกหลานและคนรุ่นต่อๆ ไป”น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวปิดท้าย