มวลมหา"ประชาน้ำใจ"
ธารน้ำใจทากทั่วทุกสารทิศไหลบ่ารวมเป็นหนึ่ง นี่คือพลังการร่วมแรงร่วมใจของคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
ตั้งแต่การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เริ่มต้นขึ้นที่สถานีรถไฟสามเสนจนกระทั่งถึงราชดำเนิน มีเสียงปรามาสเกิดขึ้นในทำนองว่าม็อบนี้ไม่นานก็อ่อนแรง เพราะขาดท่อน้ำเลี้ยง
ทว่ากว่า 40 วันของการชุมนุม กลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือม็อบยังคงแข็งแรงมหาอุดมสมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน ด้วยมีธารน้ำใจจากมวลมหาประชาชนที่ร่วมเสียสละบริจาค จนทำให้ กปปส.มีกำลังใจสู้จนถึงทุกวันนี้
ข้าวกล่อง-เบอร์เกอร์ ท่วมม็อบ
เสบียงอาหารที่มวลมหาประชาชนจัดไว้รองรับเพื่อนมวลมหาประชาชนด้วยกัน มีหลากหลายให้เลือกสรรกันตามรสนิยม ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล่อง ข้าวราดแกง โรงครัวอาหารปรุงสด ของคาว ของหวาน มังสวิรัติ ขนมจีบ ซาลาเปา ชา กาแฟ โอวัลติน
แต่ที่น่าสนใจน่าลองลิ้มชิมรสคงหนีไม่พ้นอาหารใต้ ทั้งคั่วกลิ้ง แกงเหลือง ขนมจีน โดยวัตถุดิบล้วนแต่ใช้เงินบริจาคซื้อทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ยังมีอาหาร “พรีเมี่ยม” จากบรรดาร้านดังที่เหล่าพ่อยกแม่ยกขนใส่ท้ายกระบะมาบริจาคไม่หยุดหย่อน
แม้แต่อาหาร “ฟาสต์ฟู้ด” ก็มีพร้อมสรรพให้เลือกรับประทาน โดยเฉพาะแฮมเบอร์เกอร์ ที่ประชาชนหิ้วใส่ถุง-หอบใส่รถ เดินแจกจ่ายแบ่งปันกันด้วยรอยยิ้ม
อีกภาพที่เห็นได้ตลอดเวลาหากอยู่ในสถานที่ชุมนุม คือ รถเก๋ง-กระบะ-รถ 6 ล้อ บรรทุกน้ำดื่มบรรจุขวด โดยแต่ละคันจะไปส่งในจุดต่างๆ ทั่วพื้นที่
ศรีภัทรา จันทร์แสงสุก หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุม เล่าว่า แรกเริ่มที่มาชุมนุมก็เห็นว่ายังมีความต้องการอีกหลายอย่าง จึงกลับมาคิดว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง ด้วยเป็นผู้หญิงและถนัดทำอาหารมากกว่าอยู่แนวหน้าสู้แก๊สน้ำตา จึงเริ่มจากการทำข้าวเหนียวหมูมาช่วย 100 ห่อแรก เมื่อเพื่อนๆ รู้ก็มาช่วยกัน
“จนตอนนี้มีอยู่หลายสิบคนแล้ว เพื่อนบางคนไม่ว่างมาทำก็ส่งเงินมาซื้อวัตถุดิบ หรือแม่ค้าที่เห็นด้วยกับการชุมนุมก็พร้อมใจกันลดราคาให้ มีแม่ค้าขายไข่ทราบว่าเราจะทำอาหารมาช่วย ก็โทรมาเรียกให้ไปรับไข่ต้มมาฟรีๆ” ศรีภัทรา เล่าอย่างภูมิใจ
"นางเลิ้ง"ยิ้มรับประชาชน
สำหรับบรรยากาศละแวกใกล้เคียงพื้นที่การชุมนุม “ชุมชนนางเลิ้ง-ตลาดนางเลิ้ง” ปรากฏน้ำใจของเจ้าบ้านไหลรินสู่ผู้มาเยือนอย่างไม่ขาดสาย โดยพ่อค้าแม่ค้าต่างพร้อมใจกันเปิดร้านให้บริการใช้ห้องน้ำกันฟรีๆ แม้ว่าจะไม่ซื้อของอะไรก็ตาม
ร้านรวงตามรายทางรวมถึงธนาคารต่างๆ ก็เปิดพื้นที่ให้ใช้หลบแดด จอดรถ นอกจากนี้มีการจัดน้ำดื่มเย็นๆ ให้ดับกระหายกันฟรีๆ
แพทย์อาสาตั้งโรงพยาบาลสนาม
ถ้าจะรอความช่วยเหลือจากอำนาจรัฐอย่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เห็นทีจะไม่ทันการณ์ นาทีที่ห่ากระสุนยางและแก๊สน้ำตากระหน่ำใส่ผู้ชุมนุม “หน่วยแพทย์สนาม” ได้รับการตั้งขึ้น
แม้ระยะแรกจะขาดแคลนบุคลากรและเวชภัณฑ์ แต่ธารน้ำใจได้หลั่งไหลมาช่วยเหลือในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว
การตั้งหน่วยแพทย์สนามสำเร็จได้เพราะจิตอาสา ตั้งแต่อาสาสมัครแพทย์ พยาบาล ทีมกู้ชีพ และนักศึกษา ที่หมุนเวียนมาประจำการโดยไม่เปิดหน้า และไม่ขอรับความดีความชอบใดๆ
ประกอบกับการสนับสนุนจาก “แพทย์ชนบท” ที่ร้องขอความอนุเคราะห์กันเองภายในเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนร่วม 60 แห่ง ระดมรถพยาบาลและทีมแพทย์อาสาจากทั่วประเทศมุ่งสู่ราชดำเนิน
สอดรับด้วยจิตใจอันกล้าหาญของบุคลากรจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ทั้งอดีตและปัจจุบัน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการทีมแพทย์ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้ง ที่รวมตัวกันเป็นมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (มพฉ.) ช่วยเหลือประชาชน แม้ที่สุดแล้วจะถูกผู้บริหารระดับสูงตำหนิ|ก็ตาม
ยังไม่นับบรรดาอาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัยที่จอดรถรายล้อมสถานที่ชุมนุม ยังไม่นับแรงใจที่ส่งผ่านมาทางการบริจาคน้ำเกลือ ยา เครื่องมือแพทย์ หน้ากากกันแก๊ส ยาดม ยาลม เนืองแน่นเต็มหน่วยแพทย์สนามในระยะเวลาเพียงข้ามคืน
วินมอเตอร์ไซค์ราคาเป็นธรรม
การสัญจรในช่วงที่มีการชุมนุมเป็นไปอย่างยากลำบาก ถนนหลายสายถูกปิดกั้นจากทั้งผู้ชุมนุมและจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รถสาธารณะปรับเปลี่ยนเส้นทางวิ่ง รถแท็กซี่เข้าพื้นที่ไม่ได้
ช่องทางเดียวที่ง่ายและสะดวกคือ จักรยานยนต์รับจ้าง ซึ่งแน่นอนว่านี่คือโอกาสสำหรับกอบโกยค้ากำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้ฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่มีคุณธรรมในหัวใจ
ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างย่านราชเทวี ยอมรับว่า มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายคันเอาเปรียบประชาชนจริง เรียกเก็บค่าโดยสารสูงกว่าเดิม 2-3 เท่า แต่ส่วนตัวมองว่าอัตราค่าโดยสารเดิมก็ได้กำไรอยู่แล้ว จึงชวนเพื่อนๆ ในวินเดียวกันว่าให้เก็บค่าโดยสารตามปกติ ประกาศให้ชัดว่าเส้นทางไหนราคาเท่าใด
“คือเขาไม่มีทางเลือกอะไรเลย ยังไงก็ใช้บริการเรา ระยะทางก็เพียงสั้นๆ แค่เราขยันวิ่งกันหน่อย คนละหลายๆ รอบ ก็กำไรมากมายแล้ว” หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ระบุ
ยอดบริจาค 40 วัน 50 ล้านบาท
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เล่าว่า การชุมนุมที่ผ่านมากว่า 40 วัน มีผู้บริจาคแล้วทั้งสิ้นกว่า 1 แสนราย แบ่งเป็นสิ่งของ อาหาร และเงินสด โดยขณะนี้ยอดบริจาคอยู่ที่ 40-50 ล้านบาท
“แม้การชุมนุมจะมีรายจ่ายมากกว่านี้ แต่เงินบริจาคร่วม 50 ล้านบาท ถือว่าช่วยเหลือการเคลื่อนไหวได้มาก” ณัฏฐพล ระบุ
สำหรับหน่วยรักษาความปลอดภัย เฉพาะเวทีราชดำเนิน ใน 1 วัน ใช้ประมาณ 1,000 คน แบ่งออกเป็น 3 กะ ดูแล 24 ชั่วโมง โดยในจำนวนนี้มากกว่า 50% เป็นอาสาสมัครจากประชาชน นักเรียนนักศึกษา นักเรียนอาชีวะ
ส่วนช่องทางการรับบริจาค เพียงประกาศบนเวทีปราศรัย 1 ครั้ง พลังจากโซเชียลมีเดียจะขยายให้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่ยกระดับการชุมนุมมาที่กระทรวงการคลัง แกนนำต้องการน้ำดื่มและขึ้นประกาศบนเวทีเพียงครั้งเดียว จากนั้นได้รับน้ำดื่มกว่า 1 ล้านขวด
สถานการณ์ทั้งหมดนี้ คือบทพิสูจน์ว่าท่ามกลางสถานการณ์คับขัน ... คนไทยไม่ทิ้งกัน