posttoday

12 ปีสงครามยาเสพติด ... หลงทิศ-ผิดทาง?

10 มีนาคม 2558

12 ปีของนโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างจริงจัง คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก แต่ปัญหากลับทวีความรุนแรงไม่จบสิ้น

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล 

หลังจากที่รัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศสงครามกับยาเสพติด เมื่อปี 2546 ส่งผลให้มีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด บรรดามาเฟียขาใหญ่ นักค้ารายย่อย ยันขี้ยาก้นซอย ถูกกวาดเข้าคุกกันถ้วนหน้า 

บัดนี้ผ่านมา 12 ปี สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นโยบายบำบัดรักษาล้มเหลวไม่เป็นท่า เรือนจำทุกแห่งแออัดยัดเยียดจนแทบไม่มีที่ว่างเหลือให้นักโทษรายใหม่ ชัยชนะที่รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าตั้งเป้าไว้กลายเป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า 12 ปีที่ผ่านมาเรากำลังเดินหลงทิศผิดทาง ?

วาทกรรมผลิตซ้ำ ใครยุ่งเกี่ยว=โทษหนักสถานเดียว

ข่าวคราวเกี่ยวกับยาเสพติดที่ปรากฎตามสื่อต่างๆตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ภาพการจับกุมขบวนการค้ายาเสพติดพร้อมของกลางกองมหึมาปานภูเขา ชายคลุ้มคลั่งใช้มีดจี้คอตัวประกัน สิบล้อตีนผีคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์บนท้องถนน จนถึงโจรผู้ร้ายที่ก่อเหตุอาชญากรรมเพื่อนำเงินไปซื้อยาเสพติด ทั้งหมดตอกย้ำให้เห็นว่ายาเสพติดคือภัยร้ายหมายเลขหนึ่งของสังคม ส่งผลให้รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่าประกาศนโยบายต่อสู้กับสงครามยาเสพติดอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิด 'ความไม่สามารถอดทนได้ต่อปัญหายาเสพติด' (Zero Tolerance) และ 'ลงโทษอย่างรุนแรง' (Punitive Approch)

ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ มีผู้เสียชีวิต 2,873 ศพภายในปีเดียวจากสงครามยาเสพติด จำนวนคดีเกี่ยวกับยาพุ่งสูงขึ้นนับแสนคดีต่อปี ผู้ต้องหาจำนวนมากถูกลงโทษอย่างรุนแรง ทว่าความเป็นจริงอันน่าตกใจอยู่ตรงนักโทษคดียาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ส่วนใหญ่เป็น "แรงงาน" และ "เครื่องไม้เครื่องมือมีชีวิต" โดยเฉพาะคนยากจน ไร้การศึกษา ขาดโอกาสทางสังคม ในฐานะผู้ค้ารายย่อย เด็กเดินของ ผู้ติดเสพธรรมดาๆ หาใช่ผู้ค้ารายใหญ่หรือผู้ผลิตอันเป็นตัวการสำคัญของขบวนการค้ายาเสพติดแต่อย่างใด

จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดสูงถึง 2 ล้านคน คดียาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการชั้นศาลในปี 2557 ที่ผ่านมามีมากถึง 3.6 แสนคดี จำนวนผู้ต้องขังคดียาเสพติดทั่วประเทศ 302,502 คน สะท้อนถึงความล้มเหลวของนโยบายยาเสพติดที่เน้นการเร่งรัดปราบปรามมากกว่าป้องกัน ที่สำคัญขาดการแยกแยะ ไม่ต่างจากหว่านแหจับปลาทุกตัวที่ขวางหน้า ไม่เว้นแม้แต่ปลาซิวปลาสร้อย

"ผมโทษความไม่รู้ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่รู้ไม่จริง รู้ไม่ครบ ใช้นโยบายกำปั้นเหล็กที่คิดแต่ว่าจะต้องใช้ยาแรง เอาประหารชีวิตหมด เอามาติดคุกให้นานๆ นโยบายปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงด้านเดียวก็เหมือนการใช้แหตาถี่ๆที่หวังจะจับปลาใหญ่ แต่กลับได้แต่ปลาเล็กปลาน้อยเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมาก คนใช้ยาชั่วครั้งชั่วคราว หรือพวกพ่อค้ารายย่อยที่ควรนำเข้าระบบบำบัดฟื้นฟูกลับถูกเจ้าหน้าที่เบี่ยงเบนเข้าสู่คดีอาญาเพื่อสร้างผลงาน สุดท้ายทำให้เกิดคดีความล้นศาล ผู้ต้องขังแน่นคุกยิ่งกว่าปลากระป๋อง แถมยังลากเอาผู้หญิงและเด็กเข้าไปติดร่างแหด้วย"

12 ปีสงครามยาเสพติด ... หลงทิศ-ผิดทาง?

ช่องโหว่ของกฎหมายยาเสพติด

"กฎหมายยาเสพติดที่ล้าหลังนั่นแหละเป็นภัยต่อชีวิต เป็นพิษต่อสังคม"

ถ้อยคำประชดประชันของอดีตผู้ติดยาเสพติดรายหนึ่งซึ่งผันตัวมาทำงานภาคประชาสังคม หลายฝ่ายสนับสนุนให้มีการทบทวนแก้กฎหมายพรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

"ฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่สำคัญในขณะนี้มีอยู่ 6 ฐาน คือ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง และ เสพ ยกตัวอย่างนิยามคำว่า "นำเข้า" กฎหมายระบุว่ามียาเสพติดนำเข้ามาในประเทศก็ถือว่านำเข้าแล้ว มีอยู่คดีหนึ่งที่หญิงสาวชาวไทยข้ามไปซื้อยาบ้าจากฝั่งลาวเพราะราคาถูก ซื้อมาเม็ดครึ่ง เก็บไว้เสพเองหนึ่งเม็ด แบ่งขายให้เพื่อนครึ่งเม็ด ปรากฎว่าถูกจับและตัดสินลงโทษจำคุก 25 ปี ฐานนำเข้ายาเสพติดเพื่อจำหน่าย แถมยังโดนตราหน้าว่าเป็นขบวนการค้ายาข้ามชาติ ถามว่าแค่ 1-2 เม็ดมันจะเป็นขบวนการค้ายาได้ยังไง ถ้านำเข้าแล้วไม่มีนัยสำคัญต่อการแพร่กระจายของยาเสพติดก็ไม่น่าจะลงโทษในความผิดฐานนำเข้าซึ่งรุนแรงมาก ตรงนี้คือดุลยพินิจการพิจารณาคดีที่ไม่คำนึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

ภายใต้วาทกรรมยาเสพติดที่ครอบงำมานานหลายสิบปี ทำให้ผู้พิพากษาบางคนสุดโต่งตีความตามลายลักษณ์อักษรเป๊ะ ทั้งที่ในการทำคดีต้องมองสถานการณ์ในมิติอื่นๆด้วย ขณะที่ผู้พิพากษาบางคนตัดสินอย่างผ่อนปรนตามบริบทความเป็นจริง สั่งปรับ สั่งคุมประพฤติแทนการลงโทษจำคุก กลับถูกประณามว่าไม่ยอมยึดตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด

อีกช่องโหว่หนึ่งที่ทำให้คนจำนวนมากถูกจับส่งเข้าเรือนจำ ทั้งที่สามารถเบี่ยงเบนคดีได้ นั่นคือ ผู้ที่อยู่ในข่ายต้องได้รับการบำบัดรักษาตามพรบ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เช่น ผู้ถูกจับกุมฐานเสพยาเสพติด ผู้ค้ารายย่อย แต่ด้วยปัญหาที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนจงใจหลีกเลี่ยงโดยนำตัวเข้าสู่คดีอาญา เพื่อแลกกับผลประโยชน์ ชาวบ้านไม่รู้สิทธิทางกฎหมาย รวมถึงกระบวนการเข้าสู่ระบบบำบัดที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหานักโทษล้นคุกอย่างเช่นทุกวันนี้"เป็นมุมมองน่าสนใจของ นวรัตน์ กลิ่นรัตน์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

สอดคล้องกับความเห็นของ กอบกูล จันทวโร อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) มองว่า ความเข้มงวดในการใช้กฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกกลุ่มโดยไม่จำแนกแยกแยะ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ

"แนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดียาเสพติด ควรแบ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดเพื่อการหย่อนใจ ถูกจับกุมฐานครอบครองยาเสพติดจำนวนเล็กๆน้อยๆและไม่มีหลักฐานว่าติดยา คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับโทษทางกฎหมาย อาจใช้วิธีตักเตือน จ่ายค่าปรับ ทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม 2.กลุ่มผู้พึ่งพายาเสพติด มีพฤติการณ์ติดยา ถูกจับกุมฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองซ้ำซาก อาจเบี่ยงเบนคดีให้เข้าสู่ระบบการบำบัดรักษา 3.กลุ่มผู้จำหน่ายให้พรรคพวก (ผู้ค้ายาระดับล่าง) กลุ่มนี้ถูกจับกุมมากที่สุดในฐานะนักค้ายารายย่อย หรือคนเดินของ พวกนี้หากถูกจับก็จะมีคนใหม่มาแทนที่อย่างรวดเร็ว อีกทั้งส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งมาจากเบื้องบน การบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องควรให้ความสำคัญในการจับกุมตัวการใหญ่มากกว่า สุดท้าย 4.องค์กรลักลอบค้ายาหรือผู้ลักลอบค้ายาเสพติดรายใหญ่ นี่คือวายร้ายตัวจริง เป็นเป้าหมายหลักในการปราบปรามลงโทษอย่างจริงจัง"

12 ปีสงครามยาเสพติด ... หลงทิศ-ผิดทาง?

เสียงครวญจากนักโทษหญิง เหยื่อของความยุติธรรมที่บกพร่อง

เสียงร้องไห้สะอึกสะอื้นของ นพแก้ว พิลาวงศ์ ผู้ต้องขังหญิงคดียาเสพติดเรือนจำกลางอุดรธานี แม้แต่คนที่ใจแข็งที่สุดก็ยังต้องเบือนหน้าหนีเพราะความสงสาร

นพแก้วก็เหมือนเด็กหญิงชาวลาวทั่วไปที่ยากจนข้นแค้นและด้อยโอกาสทางการศึกษา เธอตัดสินใจรับจ้างขนยาบ้าจำนวน 14 เม็ดจากฝั่งลาวข้ามมาส่งให้ลูกค้าฝั่งไทยแลกกับค่าจ้าง 2000 บาท ผลคือถูกจับกุมและตัดสินลงโทษจำคุก 25 ปี ปรับกว่า 1 ล้านบาท ฐานนำยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาบ้า) เข้ามาในราชอาณาจักร และหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

"ทำเป็นครั้งแรก สาเหตุที่ทำเพราะอยากได้เงิน ไม่รู้ว่ากฎหมายไทยจะแรงถึงขนาดนี้ เสียใจมาก ถ้ารู้ว่าจะเป็นแบบนี้จะไม่มีทางเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเลย"หยาดน้ำตาใสๆไหลอาบแก้ม สีหน้าปวดร้าวบ่งบอกถึงความสิ้นหวังในชีวิต

ดารา สุขุม ผู้ต้องขังหญิงวัย 48 เป็นอีกรายหนึ่งที่ชะตาชีวิตพลิกผันเพราะไว้ใจคนใกล้ตัวมากเกินไป

"ถูกจำคุก 4 ปี ฐานครอบครองยาเสพติด ตอนที่ตำรวจบุกจับกำลังจูงวัวไปกินหญ้า ก่อนหน้าไม่กี่ชั่วโมงหลานชายเอากระเป๋ามาฝากไว้ในบ้านก็ไม่ได้เอะใจ ปรากฎว่าตำรวจค้นเจอยาบ้าที่ซ่อนไว้ เหมือนเป็นเวรเป็นกรรม เป็นความซวย เกิดมาไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับยา ไม่เคยจับเงินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเลยแม้แต่ครั้งเดียว ทุกวันนี้ฉันโกรธหลานที่สุดอย่างที่ไม่มีวันให้อภัย"น้ำเสียงเคียดแค้นกับความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ

จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ต้องขังหญิงทั้งหมด 44,569 คน นับว่าสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และอันดับที่สี่ของโลก กว่า 82.65% ต้องโทษคดียาเสพติด ซึ่งจากการจับกุมดำเนินคดีส่วนใหญ่พบว่าผู้หญิงเหล่านั้นมิได้มีพฤติกรรมของบุคคลที่มีบทบาทนำ หากแต่เป็นบทบาทรองที่ใกล้ชิดกับผู้กระทำผิด เช่น อาศัยอยู่กับพ่อแม่พี่น้อง ลุง ป้า น้า อา ลูกหลาน เพื่อน คนรักที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้เสพ จำหน่าย และแหล่งผลิตยา จนทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าจะไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทว่าเหตุการณ์บางอย่างก็นำพาให้ไปเกี่ยวข้องได้โดยไม่ตั้งใจ เช่น หญิงสาวที่นั่งติดรถไปด้วยกับคนรักซึ่งค้ายาเสพติด หรือรับสารภาพแทนสามี ลูกหลาน น้อยคนที่จะเป็นนักค้ายาอาชีพ สุดท้ายเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งต้องกลายสภาพไปเป็นนักโทษถูกคุมขังในเรือนจำหรือทัณฑสถาน ซึ่งมีการออกแบบไว้เพื่อการคุมขังผู้กระทำความผิดอาญาร้ายแรง หรือเป็นภัยต่อสังคม ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามมามากมาย

"เหยื่อเหล่านี้มีสถานะไม่ต่างจาก "ตัวประกัน"ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ระหว่างองค์กรอาชญากรรมค้ายาเสพติดกับผู้บังคับใช้กฎหมาย" พิทยา จินาวัฒน์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าว

12 ปีสงครามยาเสพติด ... หลงทิศ-ผิดทาง?

ยกเครื่องนโยบายยาเสพติดครั้งใหญ่

หลายประเทศทั่วโลกต่างยกเครื่องนโยบายยาเสพติดใหม่ ซึ่งหลายแนวคิดสามารถนำไปสู่กลยุทธ์ที่มีมนุษยธรรมและมีประสิทธิผลมากกว่าการประกาศสงครามกับยาเสพติดแบบเดิมๆ

สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมี 23 รัฐที่มีตลาดกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกกฎหมาย และอีก 17 รัฐ ได้ลดทอนความเป็นอาชญากรรมทางคดียาเสพติดของการมีกัญชาไว้ในครอบครองสำหรับการใช้ที่ไม่ใช่เพื่อทางการแพทย์ และการปฏิรูปกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการยกเลิกการตัดสินลงโทษขั้นต่ำภาคบังคับสำหรับผู้กระทำผิดในคดียาเสพติดไม่ร้ายแรง

โปรตุเกส ปี 2001 ยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับการมียาเสพติดทุกชนิดไว้ในครอบครองเป็นการส่วนตัว และเริ่มดำเนินนโยบายยาเสพติดที่ใช้สุขภาพเป็นศูนย์กลางมากขึ้น

เนเธอร์แลนด์ กฎหมายในปีค.ศ. 1976 นำไปสู่การพัฒนาระบบกฎหมายโดยพฤตินัยของการขายกัญชา โดยใช้สิ่งที่เรียกว่า"ร้านกาแฟ"ขายกัญชา ต่อมาได้มีแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาลท้องถิ่นและสังคมที่จะให้มีการควบคุมทางกฎหมาย ไม่เพียงแต่การจำหน่ายปลีก แต่รวมถึงการผลิตด้วย

สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี เดนมาร์ก ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ประเทศเหล่านี้ได้บุกเบิกพัฒนาวิธีการที่ปฏิบัติได้จริงในการลดอันตรายจากการใช้เข็มฉีดยา โดยจัดตั้งโครงการเข็มและเข็มฉีดยา โครงการบำบัดโดยการใช้สารเข้าผิ่นทดแทน โครงการบำบัดโดยใช้เฮโรอีน และสถานใช้ยาเสพติดภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐ

มอลโดวา ตั้งแต่ปีค.ศ.1999 มอลโดวาได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้นำโลกในการใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm reduction) รวมถึงโครงการบำบัดโดยการใช้สารเข้าฝิ่นทดแทน และโครงการเข็มและเข็มฉีดยา

อิหร่าน ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา การใช้มาตรการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด รวมถึงโครงการบำบัดโดยการใช้สารเข้าฝิ่นทดแทน และโครงการเข็มและเข็มฉีดยา ได้ขยายเพิ่มมากขึ้นในประเทศ ปัจจุบันยังให้บริการดังกล่าวในเรือนจำอีกด้วย

ออสเตรเลีย ศูนย์ฉีดยาภายใต้การควบคุมทางการแพทย์แห่งชาติเมืองซิดนีย์ เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2001

เอกวาดอร์ ได้ลดทอนความเป็นอาชญากรรมทางคดียาเสพติดสำหรับการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเป็นการส่วนตัว เมื่อปีค.ศ.1990 ต่อมาปี 2008 ได้อภัยโทษให้แก่ผู้ที่เรียกว่า "ผู้ลักลอบขนยาเสพติด" (Grug mules) หลายรายที่รับโทษอยู่ในเรือนจำ

แทนซาเนีย ค.ศ.2013 ประเทศแทนซาเนียกลายเป็นประเทศในภูมิภาคซับ-ซาฮาราที่จัดตั้งโครงการบำบัดยาเสพติดด้วยเมทาโดนแห่งชาติ

แอฟริกาตะวันตก รายงานของคณะกรรมาธิการแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก ปีค.ศ.2014 ได้เตือนว่า "ประเทศแอฟริกาตะวันตกจะต้องไม่กลายเป็นแนวหน้าแห่งใหม่ในสงครามต้านยาเสพติด ซึ่งไม่ได้ช่วยลดการเสพยาเสพติดลง หรือทำให้ผู้ลักลอบค้ายาเสพติดต้องเลิกกิจการไป" พร้อมเสนอแนะว่า"การเสพและการมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อใช้เป็นการส่วนตัวไม่ควรถูกจัดเป็นอาชญากรรม"

กลับมาที่ประเทศไทย ความเป็นไปได้ในการปฏิรูปนโยบายยาเสพติด ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องวาทกรรมยาเสพติด ได้เสนอแนะกลางงานเสวนาหัวข้อ "จากวาทกรรมยาเสพติดซ้ำ... สื่อมวลชนกับทางออกปัญหาคนล้นคุก" จัดโดยโครงการกำลังใจ สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมว่า รัฐบาลต้องยุติสงครามยาเสพติดโดยเร็วที่สุด

"ถ้าจะสู้ต้องสู้ด้วยการให้ความรู้แก่คนในสังคม ไม่ใช่จับคนมาลงโทษ เพราะลงโทษแล้วก็ไม่หมดไป ที่สำคัญคนส่วนใหญ่ก็ไม่สมควรถูกลงโทษด้วยซ้ำ รัฐบาลต้องประกาศยุติสงครามยาเสพติด คุกล้นเพราะสงครามยาเสพติดนี่แหละ ตำรวจเองก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยุติธรรมไทย ต้องทำให้เป็นอิสระและไม่ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาและนักการเมือง เพราะขั้นตอนตอนการจับกุมและทำสำนวนคดีก่อนจะถึงศาลเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้คนที่สมควรได้รับโทษจำคุกหายไปได้เยอะ ขณะเดียวกันควรหันเน้นเรื่องกระบวนการป้องกัน และบำบัดรักษา รวมถึงรื้อฟื้นคดีใหม่ทั้งหมดแล้วนิรโทษกรรมให้พวกที่เสพชั่วครั้งชั่วคราวกับค้ายาเล็กๆน้อยๆที่อยู่ในคุก ปล่อยเขากลับบ้านเถอะ เพราะพวกนี้คือเหยื่อทั้งหมด"

จรัญ ภักดีธนากุล เสนอว่า นโยบายปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ยังต้องดำเนินการอยู่อย่างจริงจัง ส่วนผู้เสพและนักค้ารายย่อยที่ถือเป็นเหยื่อที่ควรได้รับการช่วยเหลือให้เข้าสู่ระบบบำบัดฟื้นฟูอย่างถูกต้อง

"สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ฉ้อฉล ค้าเอง ขนเอง พวกนี้แหละสมควรลงโทษประหารชีวิต เจ้าหน้าที่ที่กลั่นแกล้งยัดข้อหาให้ประชาชนบริสุทธิ์นี่เลวร้ายยิ่งกว่าอาชญากรตัวไหนๆ เจ้าหน้าที่ที่บิดเบือนให้ผู้ติดยาธรรมดาๆกลายเป็นผู้ค้าต้องขจัดให้สิ้น พวกนี้ชั่วร้ายยิ่งกว่านักค้ายาเสพติดเสียอีก สุดท้ายคนติดยาเล็กๆน้อยๆที่เข้าข่ายตามพรบ.ฟื้นฟูฯก็ต้องได้รับการฟื้นฟูบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจให้เป็นอิสระจากยาเสพติดอย่างแท้จริง"

อาจถึงเวลาแล้วสำหรับประเทศไทยที่จะทบทวนแนวคิดการ"ปฏิรูป"นโยบายยาเสพติดครั้งใหญ่