posttoday

ชำแหละขบวนการ "หากินกับหมาแมว" ผ่านเฟซบุ๊ก

23 เมษายน 2558

ตีแผ่พฤติกรรมของเหล่ามิจฉาชีพที่จับ"หมาแมว"เป็นตัวประกัน แลกกับเงินบริจาคของคนใจบุญ

โดย ... อินทรชัย พาณิชกุล ภาพจากเฟซบุ๊ก JChai Jane,เพื่อนข้างถนน, Unidog Thailand

ภาพหมาแมวที่ถูกทอดทิ้ง ถูกรถชน ถูกทำร้าย แม้กระทั่งป่วยหนักใกล้ตายที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกโซเชียล สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง คนจำนวนไม่น้อยไม่รีรอที่จะช่วยเหลือด้วยการโอนเงินบริจาคให้อย่างล้นหลาม

สุดท้ายกลับถูกหลอกลวงด้วยน้ำมือมิจฉาชีพ หนำซ้ำยังหลบหนีไปโดยไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้แม้แต่รายเดียว

หากินกับหมา

"เรียนพี่ๆน้องๆทุกคน วันนี้เราไปเจอน้องหมาเพศผู้ตัวหนึ่งถูกรถชน ขาหลังสองข้างเป็นแผลเหวอะหวะและติดเชื้อ ตอนนี้แผลเริ่มเน่ามีหนองไหลออกมาตลอดเวลา เราพาเขาไปคลีนิกแต่หมอบอกว่าค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเราไม่มีเงินเหลือมากพอขนาดนั้น ต้องการความช่วยเหลือด่วนมากๆค่ะ เบอร์ติดต่อxxxxxxxxx หมายเลขบัญชีxxxxxxxxxxx"

ภาพสุนัขจรจัดท่าทางมอมแมมมีแผลเหวอะหวะน่าหวาดเสียวบริเวณขาหลังทั้งสองข้าง พร้อมข้อความอันน่าสังเวชใจ ถือเป็นลิงค์ยอดนิยมที่มีผู้ใจบุญจำนวนไม่น้อยพากันกดไลค์และโอนเงินให้ หวังว่าเจ้าหมาน้อยผู้น่าสงสารจะรอดชีวิต แต่ที่ไหนได้นี่คือเล่ห์เหลี่ยมกลโกงรูปแบบใหม่ของขบวนการมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาหาผลประโยชน์อันมิชอบจากสัตว์ ใครไม่ระวังอาจเสียทั้งเงินเสียทั้งความรู้สึก

โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เผยว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้แอบอ้างเข้ามาหาประโยชน์กับการช่วยเหลือสัตว์ผ่านเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสุนัข เนื่องจากคนรักหมามีเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีนิสัยขี้สงสาร เมื่อเห็นภาพและข้อความอันน่าเวทนาก็พร้อมจะทำบุญโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆทั้งสิ้น

"สาเหตุที่หากินกับสัตว์ง่าย เพราะสัตว์มันพูดไม่ได้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มีเฟซบุ๊ก คนไม่ค่อยตรวจสอบกัน เลยยิ่งหาเงินง่าย ใครๆก็อยากเข้ามาฉวยโอกาส โพสต์ภาพหมาตัวนึง คนติดตามเป็นหมื่น พอเจอใครพูดจาดีๆ เล่าเรื่องด้วยสำนวนเพราะพริ้งก็พร้อมจะโอนเงินช่วยทันทีโดยไม่สนใจว่าเรื่องจริงหรือเท็จ บริจาคคนละร้อยก็ได้เป็นแสนแล้ว รวยเละ มันจึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ลอกเลียนแบบต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ"

พฤติการณ์ขบวนการหากินกับหมาแมวที่พบบ่อยครั้งแบ่งเป็น 2 ประเภท พวกแรกคือ หากินทางอินเทอร์เน็ต นิยมเอารูปหมาแมวป่วย ถูกทิ้ง ถูกทำร้าย ถูกรถชน สภาพน่าสงสาร ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไปขโมยรูปใครมาจากไหนไม่รู้ นำมาปรุงแต่งเรื่องราวให้น่าสะเทือนใจ  พวกที่สอง กลุ่มผู้อ้างตัวว่าเป็นนักกู้ภัยมือสมัครเล่น ชอบออกไปช่วยเหลือหมาแมวตามที่มีคนประกาศทางเฟซบุ๊ก แล้วปั้นเรื่องโกหกว่าหมาตัวดังกล่าวเจ็บหนัก ต้องการเงินบริจาคด่วน

"พวกนี้ได้เงินเคสละไม่กี่พันบาทไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับว่ามีแฟนคลับติดตามเยอะแค่ไหน บางคนทำมานานก็ได้เยอะ สมมติเคสหนึ่งคนเข้าไปดูหลักหมื่น บริจาคคนละร้อยก็ได้เท่าไหร่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่บริจาคแค่ร้อยเดียวหรอก หมาตัวเดียวทำเงินได้เงินเป็นแสนๆ ข้อสังเกตน่าสนใจคือ มิจฉาชีพพวกนี้จะไม่เคยบอกว่าต้องการเงินเป็นจำนวนเท่าไหร่ ไม่เคยบอกว่าต้องบริจาคเท่าไหร่ถึงจะพอ ไม่เคยมีลิมิต พวกนี้จะใช้วิธีพาหมาไปรักษาที่คลีนิก แล้วบอกว่าสัตวแพทย์คิดมีค่าใช้จ่ายเป็นหมื่น แต่ไม่เคยนำบิลค่ารักษาพยาบาลมายืนยันชัดเจน ส่วนใหญ่ได้เงินแล้วหายตัวไปเลย น้อยรายที่จะมาอัพเดทความเคลื่อนไหวหลังการรักษาว่าหมาตัวนั้นอาการดีขึ้นหรือยัง"

ชำแหละขบวนการ \"หากินกับหมาแมว\" ผ่านเฟซบุ๊ก

สอดคล้องกับความเห็นของ กรรณิการ์ มีพันธ์ ผู้จัดการโครงการเพื่อนข้างถนน ที่บอกว่า ไม่ใช่แค่มิจฉาชีพทั่วไปเท่านั้น ยังมีคลินิกบางแห่ง รวมถึงกลุ่มคนรักสัตว์ เครือข่าย สมาคม และมูลนิธิบางแห่งเข้ามาฉวยโอกาสหาเงินจากตรงนี้ด้วย

"คลินิกบางแห่งยังหากินกับหมาเลย สัตวแพทย์บางคนเปิดคลินิกพร้อมประกาศตัวว่ารับรักษาหมาจรจัดฟรี ทั้งที่ตัวเองเคยถูกจับได้ว่าเรียนไม่จบ ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยซ้ำ บางคลีนิกรู้เห็นเป็นใจกับมิจฉาชีพ ช่วยออกใบเสร็จค่าใช้จ่ายที่โก่งราคาเกินจริง แบ่งผลประโยชน์กัน หรือบางคนที่อ้างว่ารับอุปการะหมาแมวจรจัดเจ็บป่วย 400-500 ตัว ประกาศว่าหมากำลังจะอดตาย แต่ความเป็นจริงกลับไม่ยอมทำหมันเพื่อให้เพิ่มปริมาณเยอะๆ จะได้สร้างเรื่องเพื่อให้คนมาบริจาค พอได้เงินมาก็ไม่มีการปรับปรุงเรื่องที่อยู่เรื่องอาหารให้ดีขึ้น

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ มิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบของกลุ่ม เครือข่าย ชมรม สมาคม มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์บางแห่ง พวกนี้จับตัวได้ยากมาก โกงทีเป็นล้านๆ เนื่องจากทุกคนให้ความศรัทธา แต่ไม่มีใครเคยรู้เลยว่าองค์กรแห่งนั้นเขายื่นขอจดทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่ มีการทำงบดุลบัญชี หรือใช้จ่ายเงินบริจาคอย่างไร"

คนไทยต้องฉลาดทำบุญ

ขึ้นชื่อว่าคนไทยย่อมใจบุญสุนทาน ขี้สงสาร และชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกอย่างปราศจากเงื่อนไข สิ่งที่น่ากังวลคือหลายคนชอบทำบุญโดยไม่มีการตรวจสอบว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นถูกหลอกลวงหรือไม่

โรเจอร์ บอกว่า สิ่งที่คนรักหมาพึงสังวรณ์คือ ต้องฉลาดทำบุญ

"อย่าหลงเชื่อคำหวาน ถ้าเจอเคสประมาณว่าเจอน้องหมาที่นั่นที่นี่ เจ็บป่วยอย่างโน้นอย่างนี้ อยากจะช่วยเหลือแต่ไม่มีเงิน บอกเขาไปเลยว่าให้พาตัวไปรักษาที่มูลนิธิ หรือสมาคมช่วยเหลือสัตว์แห่งใดก็ได้ที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับจากสังคม พาหมาขึ้นแท็กซี่ไปส่งเลย เราอย่าไปใจอ่อนโอนเงินให้เขา ช่วยแบบนี้เสียเงินน้อย แถมได้ช่วยจริง แค่พาไปให้ถูกทิศถูกทาง แล้วถ้าอยากจะให้เงินก็บริจาคให้องค์กรนั้นไป นี่คือการช่วยอย่างเป็นระบบ ทั้งยังสามารถลดจำนวนกาฝากลงไปได้ด้วย ...ใช้สมองดีกว่าใช้เงินครับ"

ขณะที่ กรรณิการ์ แนะนำวิธีการตรวจสอบมิจฉาชีพเหล่านี้ว่าต้องดูว่าคนๆนั้นได้ประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบถึงการทำงานอย่างเปิดเผยหรือไม่

"ต้องดูว่าเขามีการเปิดเผยสมุดบัญชี เปิดเผยบัญชีค่าใช้จ่ายให้คนไหม มีภาพอัพเดทการรักษาไหม รักษาเสร็จแล้วพาไปไว้ที่ไหนต่อ ถ้าไปทักว่าน้องคะ ตอนนี้เงินบริจาคได้เท่าไหร่แล้ว ถ้าเขาบอกว่าอ๋อ หนึ่งหมื่นบาทค่ะ เราบอกงั้นช่วยโชว์สมุดบัญชีได้ไหมค่ะ ถ้าเขาทำเป็นยึกๆยักๆไม่พอใจ ทำเป็นงอน แล้วเงียบเฉย เท่านั้นล่ะก็จบ ไม่ต้องบริจาค การเปิดเผยต่อสาธารณชนถือเป็นการแสดงความซื่อสัตย์และน่าเชื่อถือให้คนไว้วางใจ ถ้าทำแบบนี้ เชื่อว่าทุกคนยินดีที่จะช่วยค่ะ"

ชำแหละขบวนการ \"หากินกับหมาแมว\" ผ่านเฟซบุ๊ก

เตือน'โจรหน้าขน'ระวังติดคุก

คนที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายหากินกับหมาแมวโดยมิชอบ หรือใครก็ตามที่ทนความยั่วยวนของกิเลสไม่ไหว คิดวางแผนจะทำการชั่วร้าย ระวังจะติดคุกหัวโต

วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความชื่อดัง เผยว่า พฤติกรรมการโพสต์รูปถ่ายหมาแมวน่าสงสารเพื่อเรี่ยไรขอเงินบริจาคผ่านเฟซบุ๊ก ไม่ว่าจะเรื่องจริงหรือโป้ปดมดเท็จ ล้วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายสามฉบับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

"การเรี่ยไรเงิน ไม่ว่าจะถือกล่องรับบริจาค หรือแชร์ลิงค์ภาพถ่ายในเฟซบุ๊ก จะต้องได้รับอนุญาตจากทางการเสียก่อน ตามพรบ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 จู่ๆจะมาขอเรี่ยไรเงินไม่ได้ ยกเว้นหน่วยงานราชการ เท่าที่เห็นทุกวันนี้ผิดกฎหมายทั้งสิ้น และถ้าโกหก ไม่ได้นำเงินที่ได้รับบริจาคไปช่วยหมาจริง ยังมีความผิดฐานฉ้อโกงด้วยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่โพสต์ทางเฟซบุ๊กอาจพ่วงความผิดฐานนำเข้า/ปลอม/เท็จ/ภัยมั่นคง/ลามก/ส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ผู้จัดการโครงการเพื่อนข้างถนน บอกว่าที่ผ่านมา ไม่มีมิจฉาชีพรายใดถูกดำเนินคดีลงโทษอย่างจริงๆจังๆแม้แต่รายเดียว

"ประจานผ่านโซเชียลไม่ได้ผลเท่าการลงโทษทางกฎหมาย แต่คนไทยมีนิสัยขี้เกียจเอาเรื่องเอาราว แรกๆก็เฮโลกันไปแจ้งความ พอผ่านไปสักระยะก็เงียบ มองว่าเป็นเงินแค่ไม่กี่ร้อยเลยขี้เกียจแจ้งความ อีกอย่างมันเหนื่อยด้วยเพราะเดี๋ยวต้องไปหาตำรวจ หาทนาย ขึ้นศาล พอไม่เอาเรื่อง พวกโจรมันก็ได้ใจ เปลี่ยนชื่อโปรไฟล์ เปลี่ยนเฟซบุ๊ก ไปอาละวาดต่อกับเหยื่อกลุ่มใหม่ๆ ถ้าทุกคนรวมกลุ่มกันเอาเรื่องอย่างจริงจัง ลากคอคนผิดมาลงโทษให้เป็นเยี่ยงอย่าง จะทำให้คนที่กำลังทำหรือคิดจะเข้ามาทำหวาดกลัว ไม่กล้าแน่นอน"

เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เมืองไทยมีพรบ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ชี้ให้เห็นว่าสังคมให้ความสำคัญแก่สัตว์ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่บ้านเมืองควรจะเลิกมองด้วยทัศนคติแบบเดิมๆว่า 'เป็นเรื่องหมาๆ' แต่ควรมองว่านี่เป็นภัยสังคม เป็นการหลอกลวง เป็นความเดือดร้อนของประชาชน

ถึงบรรทัดนี้ คนรักสัตว์ทั้งหลายคงตาสว่าง และระมัดระวังในการช่วยเหลือหมาแมวมากขึ้น เพราะมิเช่นนั้นอาจเสียทั้งเงิน เสียทั้งความรู้สึก และเลิกทำบุญ สุดท้ายหมาแมวผู้น่าสงสารเหล่านี้ต้องรับเคราะห์ไปเต็มๆ

ชำแหละขบวนการ \"หากินกับหมาแมว\" ผ่านเฟซบุ๊ก