posttoday

ดีเดย์ 'กม.อุ้มบุญ' 30กค. สกัดขบวนการรับจ้างท้อง

30 กรกฎาคม 2558

ในที่สุด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ก็ดีเดย์บังคับใช้เป็นวันแรกในวันนี้

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ในที่สุด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ก็ดีเดย์บังคับใช้เป็นวันแรกในวันนี้

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข บอกว่า กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองประชาชนที่มีบุตรยาก และจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วย รวมถึงจะสามารถป้องกันธุรกิจ “รับจ้าง” อุ้มบุญข้ามชาติ ที่ประเทศไทยเคยเป็นข่าวโด่งดังก่อนหน้านี้ได้อีกด้วย

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ระบุชัดว่า ห้ามสามี-ภรรยาปฏิเสธเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญ ห้ามโฆษณาการรับอุ้มบุญแทน รวมถึงห้ามเสนอซื้อ ขาย นำเข้า ส่งออกไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน ขณะเดียวกันก็จะกำหนดชัดว่าสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น จึงจะสามารถดำเนินการอุ้มบุญได้

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ บอกว่า ช่องโหว่สำคัญอย่างการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการคลินิกในไทยก็ถูกอุดด้วยการระบุว่าเฉพาะคู่สามี-ภรรยาชาวไทยเท่านั้น สามารถทำอุ้มบุญได้ หรือหากว่าชาวต่างชาติจะมาแต่งงานกับชาวไทย ก็จะต้องอยู่กินกันเกิน 3 ปี และมีหลักฐานให้สถานบริการเห็นชัดว่า อยู่ด้วยกันจริงๆ ไม่ได้มีการรับจ้าง

เพราะฉะนั้น กรณีของชายชาวออสเตรเลียแต่งงานกับหญิงไทยแล้วทิ้งลูก อย่างที่เคยเกิดขึ้นนั้น หากเป็นไปตามกฎหมายใหม่ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกแล้ว

สำหรับการ “อุ้มบุญ” ตามกฎหมายมี 2 วิธี ได้แก่ 1.ใช้ตัวอ่อนที่ได้จากการผสมอสุจิสามี และไข่ของภรรยา แล้วนำไปฝังในมดลูกของผู้รับตั้งครรภ์แทน และ 2.ใช้ตัวอ่อนที่ได้จากอสุจิของสามีหรือไข่ของภรรยาที่ผสมกับไข่หรืออสุจิของผู้บริจาคอื่น ก่อนนำเข้าไปดูแลตามระบบ ส่วนขั้นตอนการฝากครรภ์และคลอด สามารถไปได้ทุกโรงพยาบาล แต่ต้องนำเอกสารข้อตกลงอุ้มบุญไปด้วย

ทั้งนี้ จะมี “คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์” 15 คน โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายกแพทยสภาเป็นรองประธาน และมีอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ออกนโยบาย ออกประกาศ รวมถึงพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญอีกด้วย

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการชุดนี้ยังทำหน้าที่อนุมัติคนอุ้มบุญแทน ในกรณีที่ สามี-ภรรยา ไม่มีพี่น้องที่พร้อมอุ้มบุญแทน โดยสามี-ภรรยาต้องหาคนอุ้มบุญ และส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการทำการอนุมัติ โดยจะมีการประเมินอีกด้วยว่าผู้ที่รับอุ้มบุญมีความพร้อมทั้งทางร่างกาย-จิตใจหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบอย่างละเอียดว่าไม่ได้ทำเพื่อการค้า

ส่วนการทำกิฟต์ ทำเด็กหลอดแก้ว ซึ่งไม่ใช่การอุ้มบุญนั้น กฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้ชาวต่างชาติยังเข้ามาทำในเมืองไทยได้เหมือนเดิม

บทเฉพาะกาลของกฎหมายยังกำหนดด้วยว่า ให้ผู้ที่เกิดจากการอุ้มบุญก่อนวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายทันที

ส่วนสถานพยาบาลที่รับอุ้มบุญอย่างถูกต้องตามกฎหมายขณะนี้ ทั้งของรัฐและเอกชนมีมากกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันที่ได้รับอนุญาตได้ที่ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ส่วนแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องผ่านการตรวจประเมินโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามแพทยสภากำหนด และแพทย์ผู้ให้บริการจะต้องยื่นขออนุญาตที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ต่อไป

ด้าน นพ.กำธร พฤกษานานนท์ คณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ กล่าวว่า กฎหมายจะอนุญาตให้คู่รักที่เป็นชาย-หญิง คือเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมายไทยเท่านั้น ที่จะสามารถใช้บริการอุ้มบุญได้ กรณีที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะของไทยหรือของต่างประเทศ ยังไม่มีการรับรอง แต่ในอนาคตหากมีการแก้กฎหมายให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้ถูกกฎหมาย ก็สามารถเข้าตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.นี้

ระรินทิพย์ ศิโรรัตน์ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า กฎหมายนี้จะสามารถป้องกันการซื้อขายไข่ อสุจิ รวมถึงการอุ้มบุญเพื่อการค้าได้
รวมถึงจะทำให้การเป็นศูนย์กลางการอุ้มบุญโดยผิดกฎหมาย โดยมีเอเยนซีเป็นตัวกลางจัดหาผิดกฎหมายทันที

สำหรับโทษผู้ฝ่าฝืน เช่น กรณีเป็นแพทย์ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานแพทยสภา จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากกระทำเชิงการค้า รับจ้างอุ้มบุญ จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หากเป็นนายหน้า จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีขายอสุจิหรือไข่ จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ