"พรบ.ลิขสิทธิ์ใหม่" แชร์ซี้ซั้ว...เจอคุก
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่มีความเข้มข้นขึ้นอาจจะสุดโต่งเกินไปบ้าง ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น
โดย...เอกชัยจั่นทอง / ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์
ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2558 เป็นต้นไป พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) ปี 2558 จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ หากผู้ใช้โซเชียลมีเดียนำข้อมูลผู้อื่นมาเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ แล้วไม่ให้เครดิต หรือนำไปใช้เพื่อการค้าอาจมีความผิดได้ โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้ได้กำหนดอัตราโทษนักก๊อบปี้นักแชร์ทั้งหลายที่ไม่ให้เครดิตเจ้าของผลงานปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาท
หากกระทำเพื่อการค้ามีโทษปรับตั้งแต่ 5 หมื่น-4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสิ่งของละเมิดลิขสิทธิ์ หรือศาลอาจสั่งให้ทำลาย โดยผู้ละเมิดต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำลายเอง สำหรับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่จะช่วยคุ้มครองผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งภาครัฐหวังว่าผลจากกฎหมายนี้จะช่วยให้นโยบายดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ไขข้อข้องใจว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2558 นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ มีมาตรการที่เป็นประโยชน์มากขึ้นในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต โดยมีบทบัญญัติให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมือถือ หรือองค์กรอื่นใดก็ตามที่ลบข้อมูลการละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้
ถัดมากรณีที่มีการใช้ระบบซอฟต์แวร์ต่างๆ เจาะรหัสหรือบายพาสเทคโนโลยีในการป้องกันต่างๆ ในทางลิขสิทธิ์ก็จะถูกตรวจสอบเข้มงวดขึ้น และยังให้สิทธิแก่คนพิการในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้อีกด้วย
“แต่มีข้อกังวลคือข้อมูลบริหารสิทธิ โดยหลักการคือเมื่อสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ขึ้นมา ตัวเจ้าของผลงานอาจมีการใส่ลายน้ำในภาพถ่าย หรือมีการเขียนระบุชื่อคนถ่าย หรืออินสตาแกรมก็มีการเขียนว่าเป็นอินสตาแกรมของใคร ตามกฎหมายฉบับใหม่นี้คือ ถ้ามีการไปลบข้อมูลที่แสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะมีโทษจำคุกและถูกปรับ
“โดยหลักแล้ว พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2558 ออกมาเพื่อป้องกันการตัดทอนแก้ไขหรือนำไปใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ สิ่งที่เป็นปัญหาคือโทษที่ระบุสูงเกินไป บางทีกรณีกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปแบบเราเห็นภาพถ่าย เห็นคลิปวิดีโอที่มีลิขสิทธิ์แล้วไปแชร์ต่อ หรือนำไปใช้โดยไม่ตั้งใจ ดันเกิดลบข้อมูลต่างๆ หรือบางส่วนออกไป ก็กลายเป็นว่ากระทำผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2558 โดยมีอัตราโทษสูงเกินไปและไม่ควรสูงถึง 2 ปี ถ้าเทียบกับความผิดในการแฮ็กข้อมูลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กลับมีความผิดโทษเพียง 1 ปี 6 เดือนเท่านั้น”ไพบูลย์ กล่าว
ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวด้วยว่า โทษที่สูงเกินไปกับสิ่งที่ประชาชนยังไม่เข้าใจอาจทำให้
เกิดปัญหาได้ เช่น การรายงานข่าวต่างๆ แล้วเขียนขอบคุณยูทูบ แต่ถ้าหลังจากวันที่ 4 ส.ค.เป็นต้นไป ต้องเขียนระบุด้วยว่ายูทูบนั้นเอาข้อมูลมาจากส่วนไหน ไม่อย่างนั้นอาจมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ในส่วนข้อมูลบริหารสิทธิได้ ซึ่งถือเป็นข้อกังวลมาก
ไพบูลย์ ระบุอีกว่า นักท่องโลกอินเทอร์เน็ตที่ชอบแชร์ข้อมูลต่างๆ สามารถทำได้ตามปกติไม่ต้องกังวล แต่ต้องมีการอ้างแหล่งที่มาและเจ้าของงานชิ้นนั้นๆ อย่างชัดเจน หากไปลบแก้ไขชิ้นงานหรือดัดแปลงงานถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ หากอ้างแหล่งที่มาข้อมูลชัดเจนก็จะไม่กระทบต่อการใช้โซเชียลมีเดีย
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีความเข้มข้นขึ้นอาจจะสุดโต่งเกินไปบ้างในเรื่องการบริหารสิทธิ เพราะโทษสูง
เกินไป ภาครัฐควรมีการประชาสัมพันธ์เรื่อง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันแทบไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย ทั้งที่เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก
ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อต้องการลดปัญหาและต้องการให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษอย่างยิ่ง (พีดับเบิ้ลยูแอล) ของสหรัฐ เพราะช่วงหลังสินค้าหลักของสหรัฐ อย่างกลุ่มซอฟต์ แวร์ ภาพยนตร์ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์อย่างหนัก โดยเฉพาะในไทย
อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่นั้น หวังลดแรงกดดันจากสหรัฐ เน้นการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น จะทำให้สหรัฐเห็นว่า ไทยจริงจังการปราบปรามปัญหาลิขสิทธิ์
มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับนี้จะมีผลต่อสังคมที่ใช้สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ หรือคนที่ผลิตคอนเทนต์ การที่จะใช้ผลงานหรือคอนเทนต์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการอ้างอิงเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะที่ผ่านมานำมาใช้โดยไม่อ้างอิง ทำให้เกิดการฟ้องร้องกัน
“ผมไม่ได้มองว่าการแก้ไขนี้ดีกว่าเดิมอย่างไร เพราะเป็นเรื่องการเคารพสิทธิของคนอื่นที่เป็นเจ้าของมากกว่า คิดว่าต้องรอดูหลังวันที่ 4 ส.ค. ว่าจะมีการจัดการอย่างไรบ้าง กับใคร อาจจะไม่สามารถจัดการได้หมดอยู่ที่การเรียกร้องของตัวเจ้าของผลงานเอง เพราะฉะนั้นตัวคนที่อยู่ในโลกออนไลน์ต้องพึงระวังไว้เรื่องการอ้างอิง รวมถึงสำนักข่าวต่างๆ ก็เช่นกัน”มานะ กล่าว
โพสต์มั่ว-มุ่งการค้าผิดแน่
ในมุมมองผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบก.ปอท.) เปิดเผยว่า การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2558 การทำงานเฝ้าระวังจะทำร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อกวดขันจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
มาตรการที่จะนำมาใช้เป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายทั่วไป ทั้งการปราบปรามผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย และการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังเรื่องลิขสิทธิ์ให้มากขึ้น
“แต่คดีลิขสิทธิ์เหล่านี้ เป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายจะกล่าวหาหรือไม่กล่าวหาก็ได้ ไม่เหมือนกับความผิดทางคดีอาญาแผ่นดินที่เราไปเจอแล้วจะดำเนินคดีได้ ทั้งนี้ หากไม่มีการร้องทุกข์ตามระเบียบก็ไม่สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้
“เพราะว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีโอกาสรู้ว่าผู้ใช้รายไหนละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะการที่เขาไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วไปใช้หรือไปดำเนินการนั้นได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์มาหรือไม่ ดังนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์หรือ ผู้มีสิทธิและผู้ดูแลจะต้องให้ข้อเท็จจริงตรงนั้น”รอง ผบก.ปอท. กล่าว
พ.ต.อ.สมพร ระบุด้วยว่า ดังนั้น เมื่อมีการออกกฎหมายบังคับใช้ป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางโซเชียลมีเดีย ประชาชนผู้ใช้บริการก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ผู้ที่ใช้โดยสุจริต ไม่ได้ใช้แสวงหาเพื่อผลกำไรเชิงพาณิชย์ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าผู้ที่ประกอบเป็นธุรกิจอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
“พวกโพสต์ภาพหรือคลิปไม่ค่อยน่ากลัว ที่น่ากลัวคือพวกที่เปิดเป็นธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ แล้วชอบไปใช้ภาพลิขสิทธิ์หรืองานสร้างสรรค์ของคนอื่นมาแปะมาวางมาใช้น่ากลัวกว่า”พ.ต.อ.สมพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.สมพร กล่าวว่า ไม่ว่าจะแชร์หรือโพสต์ การที่จะนำภาพหรือข้อมูลไปแชร์ต่อต้องคำนึงด้วยว่า ตัวเรามีสิทธิและอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายหรือไม่ หากนำภาพหรือข้อมูลต่างๆ มาใช้แล้วอ้างแหล่งที่มาก็ถือว่าไม่มีความผิด แต่ถ้านำภาพที่มีลิขสิทธิ์ไปทำในเชิงพาณิชย์ก็จะเข้าข่ายเป็นความผิด จึงเชื่อว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ จะช่วยลดปัญหาการตัดต่อดัดแปลงภาพต่างๆ หรือโพสต์ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมบนโลกออนไลน์ได้มากขึ้น
อีกมุมมองของ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ตและวัฒนธรรมพลเมือง กล่าวว่า มีบางเรื่องที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายเรื่องการใช้งานโดยชอบธรรมอื่นๆ ซึ่งให้ข้อยกเว้นไว้ แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีอะไรเพิ่มเติม เช่น ในข้อสุดท้าย องค์กรที่เป็นสถานศึกษา หอสมุด หรือการกระจายเสียงเพื่อสาธารณะ สามารถเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาที่เป็นลิขสิทธิ์ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือในยุคที่มีการให้ความรู้นอกจากสถานศึกษา ซึ่งอาจมีการเผยแพร่ผ่านตัวบุคคลหรือบล็อกต่างๆ ที่ไม่ใช่องค์กร ซึ่งตัวเขาเองอาจทำเพื่อส่วนรวมเพื่อสาธารณะ อาจจะเป็นการเปิดเผยความจริงบางอย่างเพื่อสาธารณะ แต่ข้อมูลในการเปิดเผยหรือเชื่อมโยงนั้นติดลิขสิทธิ์ มิได้มีการทำเพื่อการค้าหรือผลประโยชน์ ซึ่งตามกฎที่ระบุให้ยกเว้นเป็นการออกกฎโดยยึดจากองค์กรหรือหน่วยงาน แทนที่จะเป็นการยึดที่การกระทำของตัวบุคคล ส่วนนี้อาจจะต้องขยายส่วนนี้ให้กว้างขึ้นอีก
“พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ อันเก่ากับอันใหม่ จุดที่ต่างกันคือ ของเก่าไม่มีเรื่องเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเลย มีแต่เรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เป็นวรรณกรรม เช่น ภาพยนตร์ เพลง เทคโนโลยีคือส่วนที่เพิ่มขึ้นมา ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติมีกล่องหนึ่งใบ ใส่ซีดีไว้ข้างในแล้วล็อกกล่องไว้
“ตามกฎหมายเก่าคือการจะผิดก็ต่อเมื่อเราได้ปลดล็อกกล่องไปแล้ว นำซีดีไปทำสำเนา อันนี้ถึงจะถือว่าผิด แต่ตามกฎหมายใหม่ แค่เราปลดล็อกกล่อง ก็ถือว่าผิดแล้ว ไม่ว่าจะทำสำเนาหรือไม่ ถ้าเราทำสำเนาอีกก็ผิดอีก ถือว่าผิดสองเรื่องด้วยกัน”อาทิตย์ ระบุ
มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ชำแหละ พรบ.ลิขสิทธิ์
มาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ส.ค.นี้ มีสาระสำคัญหลัก 8 ประเด็น
ประกอบด้วย 1.การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ และคุ้มครองสิทธิในข้อมูลที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ใช้บริหารจัดการสิทธิของตน ไม่ให้คนอื่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชอบ เช่น การลบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง เป็นต้น โดยหากบุคคลใด ลบ หรือเปลี่ยนแปลง ข้อมูลดังกล่าว ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
โดยมาตรา 53/1 บัญญัติว่า “การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ”
ขณะที่มาตรา 53/2 บัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่างานหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นได้มีการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิด้วย ถ้าได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้น ดังต่อไปนี้
(1) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน”
อย่างไรก็ตาม มาตรา 53/3 กำหนดข้อยกเว้นไว้ คือ “การกระทำใดๆ ดังต่อไปนี้ มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
(1) การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิโดยเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย การอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงแห่งชาติ หรือวัตถุประสงค์อื่นในทำนองเดียวกัน
(2) การลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิโดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด หรือองค์กรแพร่เสียงแพร่ภาพสาธารณะ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร
(3) การเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ที่มีการลบหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลการบริหารสิทธิ โดยสถาบันการศึกษา หอจดหมายเหตุ ห้องสมุด หรือองค์กรแพร่เสียงแพร่ภาพสาธารณะ ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร...”
2.คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของตน เพื่อป้องกันการทำซ้ำหรือการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น พาสเวิร์ด ที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ในการควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยหากบุคคลใดทำลายมาตรการทางเทคโนโลยีดังกล่าว โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยินยอมถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
3.กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำซ้ำชั่วคราว เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าการทำซ้ำชั่วคราว โดยความจำเป็นของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียกดูงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีการทำซ้ำงานเพลงหรือภาพยนตร์ดังกล่าวไว้ในหน่วยความจำ (RAM) ทุกครั้ง
4.กำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น เจ้าของเว็บไซต์ Youtube ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ โดยหากเจ้าของลิขสิทธิ์ร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์และแสดงหลักฐานต่างๆ ต่อศาลอย่างเพียงพอ เมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เอาไฟล์ละเมิดออกจากเว็บไซต์แล้ว และเจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการตามคำสั่งศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
5.เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ โดยกำหนดให้การขายงานอันมีลิขสิทธิ์มือสองสามารถทำได้ โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การขายภาพเขียน หนังสือ ซีดีเพลง ซีดีภาพยนตร์ เป็นต้น แต่ต้องไม่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดีทัศน์
ตามมาตรา 32/1 ที่ระบุว่า “การจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ โดยผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์นั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์”
6.เพิ่มเติมเรื่องสิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง (Moral Right) เพื่อเพิ่มสิทธิให้นักแสดงมีสิทธิทางศีลธรรมเท่าเทียมกับผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนักแสดงมีสิทธิระบุชื่อตนในการแสดงที่ตนได้แสดง และห้ามไม่ให้บุคคลใดกระทำต่อการแสดงของตนจนทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ
7.เพิ่มบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่ามีการกระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึง โดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย
8.กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด และสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง