"เน็ตช้า-ละเมิดสิทธิ-ถูกโจมตีง่าย" ข้อเสีย "ซิงเกิ้ล เกตเวย์"
หลากหลายมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอินเทอร์เน็ตกับประเด็นร้อน "ซิงเกิล เกตเวย์"
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ภายหลังปรากฏข่าวว่า รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันให้มี "โครงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายช่องทางเดียว" หรือ "ซิงเกิ้ล เกตเวย์" โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ เสียงต่อต้านจากผู้คนในสังคมก็ดังกระหึ่ม
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยได้ไปเปิดแคมเปญรณรงค์ ต่อต้านการตั้งซิงเกิ้ลเกตเวย์ ในเว็บไซต์ Change.org โดยล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วกว่า 75,000 คน ขณะที่ กระทรวงไอซีทีได้ออกมายืนยันว่านโยบายนี้ยังอยู่ในขั้นของการศึกษาความเป็นไปได้ และไม่ได้มุ่งไปที่ความมั่นคง แต่มุ่งไปที่การใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชนเท่านั้น
และบรรทัดต่อจากนี้เป็นหลากหลายความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อนโยบาย ซิลเกิ้ล เกตเวย์
ละเมิดสิทธิ-เน็ตช้า-ถูกโจมตีง่าย ความเสี่ยงหากมีซิงเกิ้ล เกตเวย์
"ซิงเกิ้ล เกตเวย์" ที่สังคมกำลังถกเถียง หมายถึงแนวคิดที่จะทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศที่ออกสู่ต่างประเทศทำงานผ่าน International Internet Gateway (IIG) หรือ "ประตูทางผ่าน" เพียงประตูเดียว แทนที่ปัจจุบันซึ่งมีมากกว่า 10 เกตเวย์
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต อธิบายให้เห็นถึง 4 ประเด็นหลักที่ อาจเกิดขึ้นหากรัฐบาลผลักดันนโยบาย ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ต่อไปไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
1. ถ้ารัฐทำจริงเป็นไปได้สูงว่าจะทำให้อินเทอร์เน็ตช้าลง ขาดเสถียรภาพ และมีความเสี่ยงมากขึ้นที่อินเทอร์เน็ตจะล่มพร้อมกันทั่วประเทศ
2.การเอาทุกอย่างมารวมไว้ที่เดียว ยังเพิ่มโอกาสในการถูกโจมตี ได้ง่ายขึ้น หากมีคนมาโจมตีเกตเวย์เดียว ความเสียหายก็กระจายไปทั่วประเทศ
"พอมีปัญหาเรื่องความไม่เสถียร ล่มง่าย หากติดไวรัส มัลแวร์หรือถูกแฮกจุดเดียว โอกาสกระจายไปทั่วประเทศก็มีสูง ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ทำให้อินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศมีความมั่นคงปลอดภัยและน่าเชื่อถือน้อยลง และเป็นไปได้ว่า บริษัทผู้ประกอบการที่ต้องการความปลอดภัยของระบบอินเทอร์เน็ตสูง อาจจะตัดสินใจย้ายไปใช้บริการนอกประเทศ ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับเรื่องเศรษฐกิจ
"รายงานศึกษา ข้อเท็จจริง เมื่อปี 2013 ระบุว่า หลังจาก เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เปิดเผย โครงการสอดแนมของหน่วยงาน NSA ในสหรัฐฯ ทำให้บริษัท ผู้ให้บริการฝากไฟล์ข้อมูลแบบออนไลน์ สูญเสียลูกค้าจำนวนหนึ่ง โดยพวกเขาตัดสินใจย้ายออกไปใช้บริการประเทศอื่น เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของข้อมูลที่อยู่ในสหรัฐ"
3. ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ไม่ใช่แค่การรวมศูนย์การสื่อสารมาไว้จุดเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจตัดสินใจในการคัดกรองข้อมูลด้วย ต่างจากระบบปัจจุบัน ซึ่งหากรัฐต้องการข้อมูลจำเป็นต้องร้องขอผู้ให้บริการ มีการร้องต่อศาลและบันทึกหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีความเสียหายเกิดขึ้นภายหลัง ทำให้สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบได้ แน่นอน ซิงเกิ้ล เกตเวย์ อาจจะมีข้อดีคือทำให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ข้อเสียใหญ่ก็คือไม่มีกลไลการตรวจสอบ และ หลักนิติธรรม ก็หายไป
หากดูตัวอย่างจากต่างประเทศ กรณี เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง NSA ของสหรัฐ ทำการติดตาม โซเชียลมีเดียของหญิงสาวรายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามนโยบายความมั่นคง แต่เป็นไปเพราะเรื่องส่วนตัว หรือที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่พบว่าหน่วยงานความมั่นคงทำการดักฟัง ติดตาม อีเมลและข้อมูล ของนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักข่าว นักกิจกรรมสังคม รวมไปถึง การสื่อสารของผู้บริหารระดับสูง ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่อาจจะใช้อำนาจที่มีไปในเรื่องส่วนตัวมากกว่าเรื่องความมั่นคง
4.ซิงเกิ้ล เกตเวย์ อาจมีปัญหาในแง่ของการรับประกันสิทธิพื้นที่ฐานทางด้านการสื่อสารของประชาชน ไม่มีกลไลตรวจสอบผู้ใช้อำนาจ หมายถึงว่า ประชาชนต้องเชื่อใจรัฐอย่างเดียว ว่ารัฐจะไม่ทำอะไรที่ผิดพลาด ซึ่งที่ผ่านมา คนทั้งโลกเห็นแล้วว่า ยิ่งรัฐตรวจสอบได้ยากมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเกิดคอรัปชั่นได้มากเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาทิตย์ ไม่ได้ปฎิเสธว่า ซิงเกิ้ล เกตเวย์ นั้นมีผลดีต่อความมั่นคง เพียงแต่เป็นไปในระดับที่ไม่มีนัยยะสำคัญเท่านั้นเอง
"รายงานขององค์การนิวอเมริกา ฟาวน์เดชั่น เมื่อปี 2014 ได้ทำการศึกษาหน่วยงานความมั่นคง NSA ของสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการสอดแนมเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ไนน์วันวัน พบว่า 1%ของการสอดเนม ช่วยนำไปสู่การต่อต้านการก่อการร้าย และอีก 4% นำไปสู่การปราบปรามการก่อการร้าย ภาพรวมของข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่า โครงการสอดแนม มีผลต่อต้านการก่อการร้าย ในระดับไม่มีนัยยะสำคัญ เมื่อยิ่งเปรียบเทียบกับทรัพยากรและงบประมาณที่สูญเสียไปกับโครงการนี้ด้วยแล้ว ทำให้เกิดคำถามถึงความคุ้มค่า ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการละเมิดสิทธิประชาชน จนประธานาธิบดีบารัก โอบามา ตัดสินใจ ไม่ต่อสัญญากฎหมายสอดแนมดังกล่าวในที่สุดและไปใช้กฎหมายอื่นที่เหมาะสมกว่า โดยกลไกในการตรวจสอบมากขึ้นและไม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเท่ากับกฎหมายเดิม"
ยากที่จะเป็นไปได้
อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นคำอธิบายที่ชัดเจนของคำว่า "ซิงเกิ้ล เกตเวย์" จากทางภาครัฐ ทำให้สังคมพากันคิด ตระหนก และจินตนาการต่างๆ นานา
"ที่ผ่านมาภาครัฐชี้แจงว่า ซิงเกิล เกตเวย์ ไม่ใช่การควบรวมเกตเวย์หรือยุบรวมเกตเวย์ แต่ตั้งใจให้มีผลทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าบอกแบบนี้ แปลว่าซิงเกิ้ล เกตเวย์ ไม่ใช่การรวมเกตเวย์ทุกเส้นเป็นเส้นเดียว แต่อาจเป็นการสร้างเกตเวย์ขึ้นมาอีกหนึ่งเส้น โดยเป็นเส้นหลักที่ภาครัฐและเอกชนใช้ร่วมกัน และอาจทำให้ค่าใช้จ่ายทางด้านอินเทอร์เน็ตลดลง"
อภิศิลป์ อธิบายว่า โดยปกติแล้ว เกตเวย์ จะมีหลายเส้น และวิ่งไปนำข้อมูลจากหลายประเทศ ซึ่งข้อมูลจะเข้าใช้เส้นไหนก็เป็นเรื่องของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี แต่ละรายในการหาวิธีบาลานซ์ตัวข้อมูล
"เวลาเราเปิดคลิปวิดีโอในยูทูป ผู้ให้บริการก็ต้องวิ่งไปต่างประเทศเพื่อเอาข้อมูลกลับมาให้คนไทยดู ซึ่งการที่วิ่งออกไปแล้วเอาข้อมูลกลับมานั้น ผู้ให้บริการของไทยจะต้องจ่ายเงินให้เจ้าของเกตเวย์ ซึ่งลงทุนวางระบบโครงสร้างไฟเบอร์ต่างๆ ไว้ ยิ่งมีการโหลดข้อมูลจากต่างประเทศมากเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายเงินมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นหากมีเกตเวย์เส้นหลักขึ้นมาอาจจะประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง"
อย่างไรก็ตามดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หากรัฐบาลต้องการหวังผลในเรื่องความมั่นคงจาก ซิงเกิ้ล เกตเวย์
อภิศิลป์ ให้ความเห็นว่า ซิงเกิ้ล เกตเวย์ ไม่น่าจะช่วยในเรื่องความมั่นคง พร้อมยังเห็นว่าเป็นเรื่องล้มเหลวและสร้างปัญหาได้ง่ายเสียกว่ารูปแบบเดิม
"อินเทอร์เน็ตในโลกนี้มันเกิดขึ้นมาเพราะยุทธศาสตร์ทางการทหารในสหรัฐอเมริกา เขาต้องการกระจายความเสี่ยงไม่ให้ข้าศึกโจมตีจุดเดียวแล้วล่มทั้งหมด เลยเลือกทำให้เป็นเครือข่าย เมื่อถูกโจมตี หาก ล่มจุดหนึ่ง จุดอื่นยังสามารถใช้งานได้อยู่ ตรงนี้คือคุณูปการของอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นทหารไทยน่าจะเข้าใจอยู่แล้วว่าการรวมศูนย์นั้นอันตราย ไม่ได้ช่วยให้มั่นคงขึ้นเลย"
ขณะเดียวกันในทางปฎิบัติจริง นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย บอกว่า ซิงเกิ้ล เกตเวย์ เป็นไปได้ยากและไม่คิดว่าจะทำได้สำเร็จ
“ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า ซิงเกิ้ล เกตเวย์ มันคืออะไรกันแน่ เพราะถ้าเราไปดูแผนที่อินเทอร์เน็ตประเทศไทย เกตเวย์มันมีการเชื่อมต่อไหลเวียนของข้อมูลมหาศาลมากมาย การจะไปบังคับให้เอกชนมาใช้ด้วยกันที่เดียวจะทำได้อย่างไร ซึ่งถ้าจะบังคับก็ต้องมีการออกกฎหมายก่อน และถ้าออกกฎหมายเชื่อว่าผู้ให้บริการต้องมีการไปยื่นเรื่องไม่ให้กฎหมายข้อนี้ผ่าน
"เมื่อมองไปในทางเทคนิคก็น่าสงสัย เมื่อเราจำเป็นต้องมีการสำรองเกตเวย์ไว้หลายๆ เส้นเพื่อกระจายความเสี่ยง หากจะไปรวมเหลือเส้นเดียวจะทำได้อย่างไร และหากคิดในแง่การแข่งกัน ผู้ให้บริการจะแข่งกันอย่างไรถ้าเกตเวย์เหมือนกันหมด เนื่องจากทุกวันนี้เขาแข่งกันด้วยขนาดของเกตเวย์ ใครท่อใหญ่กว่า รองรับข้อมูลได้มากกว่า"ผู้เชี่ยวชาญอินเทอร์เน็ตกล่าว
ต้องชี้แจงเป้าหมายให้ชัด
ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญทางระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ แสดงความคิดเห็นว่า เพื่อความชัดเจนของนโยบายดังกล่าว มี 3 ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องชี้แจง คือ
1.รัฐบาลทำไปเพื่ออะไร ประโยชน์คืออะไร ยังไม่มีการทำความเข้าใจ และสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ ซึ่งหากจะทำเพื่อความมั่นคงก็ควรบอกให้ชัดเจนเสียเลย ไม่ใช่มาบอกว่าทำเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ
2.ความมั่นใจและความโปร่งใส ในการปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถาม
3.ผู้ปฎิบัติการดูแลนั้น มีความสามารถเพียงพอ มีอำนาจ และมีประสิทธิภาพในระดับที่สังคมสามารถยอมรับได้หรือไม่ ที่สำคัญมีกฎหมายใดคอยควบคุมผู้มีอำนาจ ซึ่งอำนาจต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบ
"เป้าหมายที่แท้จริงของ ซิงเกิ้ล เกตเวย์ คือรัฐบาลต้องการดู การจราจรของข้อมูล หรือ ทราฟฟิก (Traffic)เพื่อส่งเสริมความมั่นคง ซึ่งการดำเนินการคงไม่ใช่ลักษณะของการรวมศูนย์มาอยู่ที่เดียวเหมือนที่กำลังถกเถียงกัน แต่น่าจะเป็นลักษณะอื่น ซึ่งรัฐบาลจะดักข้อมูลอย่างไรต้องพูดคุยกัน แต่ไม่ใช่มาดักข้อมูลทั้งหมดทุกคน ทุกช่องทาง และตอนนี้เรายังไม่มีกฎหมายใดรองรับเลย ซึ่งมันไม่ได้ กฎหมายต้องออกให้ชัดเจน ถอยกลับมาตั้งหลักก่อน" ปริญญากล่าว
ส่งเสริมความมั่นคงด้วยกฎหมายดีกว่า
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร กองทัพบก ให้ความคิดเห็นว่า การควบคุมข้อมูลข่าวสารที่ผิดกฎหมายและเป็นภัยต่อความมั่นคงนั้น ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายและทางสังคมควบคุม
"ทางที่ดีที่สุดในการส่งเสริมความมั่นคง ต้องควบคุมภัยคุกคามด้วยมาตรการทางกฎหมาย โดยให้ผู้ให้บริการเกตเวย์ทั้งหมดปฎิบัติตามข้อกฎหมายของไทย โดยรัฐอาจจะให้เงินอุดหนุน หรือมีเงื่อนไข ข้อตกลงให้เอกชนดำเนินการกรองหรือป้องกันข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดีกว่าการที่รัฐจะไปทำเองทั้งหมด ขณะเดียวกัน นอกจากมาตราการร่วมมือทางด้านกฎหมายแล้ว มาตรการรณรงค์ทางสังคมก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ในการทำให้สังคมรับรู้ว่า สิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคง อย่างเช่น ข้อความหมิ่นสถาบัน สื่อลามกอนาจาร นั้นปล่อยไว้ไม่ได้"
ผอ.ศูนย์ไซเบอร์ แห่งกองทัพบก ทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดทั้งมวล การวางบริบทของประเทศที่ชัดเจนจะสำคัญต่อการกำหนดนโยบายทางด้านความมั่นคง
ทั้งหมดนี้คือท่าทีล่าสุดของหลายภาคส่วนที่มีต่อ นโยบายซิงเกิ้ล เกตเวย์ ของรัฐบาล
ภาพจาก http://chn.ge/1LQoC2V