"F5 รัวๆ" เข้าข่ายผิด-เสี่ยงติดคุก?
เสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญด้านออนไลน์ต่อกรณีชาวเน็ตรุมถล่มเว็บไซต์รัฐบาลจนล่มเมื่อคืนที่ผ่านมา
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ในโลกออนไลน์ทันที สำหรับปรากฏการณ์ชาวเน็ตรวมตัวกันรุมถล่มเว็บไซต์ของรัฐบาลจนล่มไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว เพื่อเป็นเป็นการต่อต้านคัดค้านแนวคิด "Single Gateway" ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้
ใครจะเชื่อว่า การกระทำเมื่อคืนที่ผ่านมา เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีโทษถึงจำคุก.....
กิจกรรมที่ชาวเน็ตจำนวนมากนัดกันบุกไป "เยี่ยมชม"เว็บไซต์ของรัฐบาลแบบรัวๆ ด้วยวิธีกด F5 เพื่อทำการรีเฟรชอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อคืนที่ผ่านมา ส่งผลให้เว็บไซต์ 8 แห่งระบบล่มจนไม่สามารถใช้งานได้ ประกอบด้วย
1.เว็บไซต์ mict.go.th ของ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2. เว็บไซต์ cattelecom.com ของ กสท. 3. เว็บไซต์ center.isocthai.go.th ของ กอ.รมน. 4. เว็บไซต์ thaigov.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์รัฐบาลไทย 5. เว็บไซต์ opsd.mod.go.th ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 6. เว็บไซต์ tot.co.th ของทีโอที 7. เว็บไซต์ democrat.or.th ของพรรคประชาธิปัตย์ และ 8. เว็บไซต์ rtarf.mi.th ของกองบัญชาการกองทัพไทย
ดร.ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ เผยว่า การกระทำดังกล่าวเรียกว่า Distributed Denial of Service (DDoS) เข้าข่ายผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 10 ว่าด้วยการ รบกวน ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์
“DDos คือลักษณะหรือวิธีการหนึ่งในการโจมตีเครื่องคอมพิวเตอร์เป้าหมาย หรือระบบเป้าหมายบนอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ระบบเป้าหมายปฏิเสธหรือหยุดการให้บริการ การกด F5 รัวๆ ก็คือการทำ DDos อย่างหนึ่ง ลักษณะคล้ายกับการส่ง Bomb mail เพราะฉะนั้นควรจะเลิกการกระทำลักษณะนี้ และหันไปใช้สื่อโซเชียลมีเดีย แสดงพลังต่อต้านด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การทำ DDos น่าจะดีกว่า เนื่องจากมีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 10 ว่าด้วยการ รบกวน ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน หนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้การโจมตีบนเว็บไซด์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทำให้เข้าข่ายความผิดในมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย โดยมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี กดครั้งหนึ่งก็คูณไป 15 ปีนะครับ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง”นักกฎหมายรายนี้กล่า
พล.ต.ฤทธี อินทราวุธ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร กองทัพบก กล่าวว่า นี่ไม่ใช่สงครามไซเบอร์ แต่เป็นแค่การทดสอบขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ซึ่งชาวเน็ตน่าจะพอใจและหยุดการกระทำที่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้หันกลับมาทบทวนนโยบายดังกล่าวแล้ว
“การคัดค้านที่ผ่านมาของชาวเน็ตถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพราะว่ารัฐบาลได้ถอยกลับมาพิจารณา ทบทวน กลั่นกรองนโยบายดังกล่าว พร้อมกับระบุชัดเจนว่าอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาเท่านั้น เมื่อภาครัฐฟังเสียงสังคม ประชาชนก็น่าจะพอใจได้แล้ว” ผอ.ศูนย์ไซเบอร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวล่าสุด พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รักษาราชการแทนที่ปรึกษา (สบ 10) ด้านสืบสวนทางเทคโนโลยีและนิติวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. กำลังตรวจสอบความเสียหาย เพื่อดำเนินการเอาผิดผู้ที่เข้ามาก่อกวนเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการทั้งหมด ตามพรบ. คอมฯ มาตรา 10 รบกวน ขัดขวาง ระบบคอมพิวเตอร์ โทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 13 การจำหน่าย / เผยแพร่ชุดคำสั่งเพื่อใช้กระทำความผิด โทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อการทำงานของภาครัฐ
ปรากฎการณ์ครั้งนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงพลังของโซเชียล ยังเป็นบทเรียนเตือนสติแก่บรรดาชาวเน็ตไม่ให้ทำอะไรด้วยความคึกคะนอง และระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น.