posttoday

เจาะลึก "เส้นทางนักบิน" อาชีพในฝันที่กำลังขาดแคลน

21 กุมภาพันธ์ 2559

เปิดเส้นทางกว่าจะเป็นนักบิน กับวิกฤตขาดแคลนที่อุตสาหกรรมการบินกำลังเผชิญ

 

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

"นักบิน" กลายเป็นประเด็นร้อน ให้สังคมได้พูดถึงอีกครั้ง ภายหลังเหตุยกเลิกเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ และได้มีอดีตนักบินของสายการบินดังกล่าวระบุว่า หนึ่งในสาเหตุของปัญหาคือ "การขาดแคลนนักบิน"  ซึ่งไม่สามารถผลิตขึ้นมาทดแทนได้ทัน

เหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับ การประเมินของ “โบอิ้ง” ผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ ที่เคยออกมาระบุเมื่อปี 2558 ว่า ปัจจุบันสายการบินมีการเจริญเติบโตสูง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีความต้องการ “นักบินใหม่” สูงถึง 216,000 ตำแหน่ง ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้านี้

วิกฤตขาดแคลนนักบินกำลังมาเยือน...เมื่อการสัญจรทางอากาศเป็นที่นิยมมากขึ้น ในขณะที่จำนวนนักบินกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม.....

เจาะลึก \"เส้นทางนักบิน\" อาชีพในฝันที่กำลังขาดแคลน

เส้นทางเพิ่ม ผลิตน้อย กินเวลา ดึงตัวบ่อย ทำขาดแคลน

สนอง มิ่งเจริญ นายกสมาคมนักบินไทย เปิดเผยว่า ไทยมีนักบินพาณิชย์ที่ใช้งานอยู่ราว 3,000 คน แต่ด้วยปริมาณสายการบินที่เพิ่มมากขึ้น เส้นทางการบินที่หลากหลาย ทำให้ "นักบิน" เป็นที่ต้องการมากของตลาด ขณะที่การผลิตนักบินแต่ละคนนั้นต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และฝึกฝนเป็นเวลานาน โดยไทยผลิตได้เพียงปีละ 200 - 300 คน ทำให้ไม่ทันกับธุรกิจสายการบินที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการดึงตัวนักบินระหว่างสายการบิน

"หลายสายการบินไม่อยากผลิตนักเรียนทุนด้วยตัวเอง เพราะใช้เวลานาน เสียทั้งเงินและเวลา แบกความเสี่ยง เนื่องจากไม่ทราบว่าอนาคต ธุรกิจการบินจะดีหรือไม่อย่างไร ทำให้เกิดการดึงตัว ด้วยเงื่อนไขและข้อเสนอที่น่าสนใจ เมื่อสายการบินหนึ่งได้คนอีก สายการบินหนึ่งก็ขาดคน ดึงไปดึงกันมาลักษณะนี้ ตัวอย่างเช่น การบินไทย ผู้ช่วยนักบินที่มีชั่วโมงบินสูง อาจถูกยื่นข้อเสนอให้ขึ้นเป็นกัปตันที่สายการบินอื่นได้ ปัญหานี้มีคนเสนอทางออกด้วยการลดเวลาเรียนและชั่วโมงบินให้น้อยลง แต่มันก็เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงตามมา เพราะถ้านักบินฝีมือไม่พอ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเลวร้าย"

ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ สายการบินใดจะรับเครื่องบินใหม่เข้ามา จะต้องสร้างนักบินขึ้นมาให้เพียงพอกับจำนวนเครื่องบินที่จะรับในอนาคต หากรับเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม 1 ลำ ก็ต้องการนักบินเพี่ม 10 คน เพราะนักบินแต่ละคนถูกจำกัดโดยกฎสากลว่า 1 สัปดาห์ บินได้ไม่เกิน 34 ชม. / 4 สัปดาห์ (28 วัน) บินได้ไม่เกิน 110 ชม. และ 1 ปี บินได้ไม่เกิน 1,000 ชม. ซึ่งแต่ละวันนักบินที่มีอยู่ในองค์กรจะต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มที่บิน กลุ่มสำรอง และกลุ่มที่พัก โดยไม่สามารถนับกลุ่มที่พักมาเป็นกลุ่มสำรองได้

สนองบอกว่า  ปัจจุบัน นักบินไทยไหลออกไปต่างแดนนั้นน้อยมาก เนื่องจากค่าตอบแทนในเมืองไทยสูงขึ้น จากเดิม อยู่ที่ 50 % ของค่าตอบแทนในสายการบินตะวันออกกลาง ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 60% ส่วนใหญ่นักบินจะเปลี่ยนย้ายหมุนเวียนในสายการบินที่มีอยู่ในเมืองไทยมากกว่าจะไปต่างประเทศ เพราะถึงแม้จะได้ค่าตอบแทนสูง แต่ต้องแลกมาด้วยการไปอยู่ไกลบ้าน และค่าครองชีพที่มากขึ้น

เจาะลึก \"เส้นทางนักบิน\" อาชีพในฝันที่กำลังขาดแคลน

ส่องเส้นทางสู่นักบินพาณิชย์

สาธิต จาตุรงคกุล นักบินอาชีพจากสถาบันดรีมวิงส์ อธิบายให้ฟังว่า เส้นทางนักบิน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ 

1. “Student Pilot” หรือการสอบชิงทุนของสายการบิน คุณสมบัติเบื้องต้น คือ จบปริญญาตรี สาขาใดก็ได้ อายุไม่เกิน 28 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม พ้นพันธะทางทหาร ส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 165 หรือ 168 ซม.แล้วแต่สายการบิน โดยขั้นตอนการสอบจะมีตั้งแต่ สอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย และสอบความถนัดในการเป็นนักบินหรือที่เรียกว่า Aptitude Test เมื่อสอบผ่านทั้งหมดแล้ว จะถูกส่งไปเรียนในสถาบันการบินตามสายการบินต้นสังกัดจะกำหนดเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี

"การได้รับทุนจากสายการบินจะทำให้มีหลักประกันได้อย่างแน่นอนว่า เมื่อเรียนจบจากสถาบันการบินและได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์แล้วจะได้รับเข้าทำงานเป็นนักบินในสายการบินที่ได้รับทุนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการสอบชิงทุนเช่นนี้ มีการแข่งขันสูง ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนสอบ โดยวิชาที่ใช้การสอบข้อเขียน มี ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ ส่วนการตรวจร่างกายนั้นจะตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของร่างกายตามหลักเกณฑ์ที่สถาบันเวชศาสตร์การบินกำหนด"

ด้านการสอบความถนัดในการเป็นนักบิน (Aptitude Test) จะเป็นการสอบทักษะทางด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยทักษะส่วนแรกเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "พรสวรรค์" ทักษะเหล่านี้ถูกพัฒนามาจากการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงานร่วมกับผู้อื่น การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การเล่นเกมส์ การฝึกคิดวิเคราะห์ การพัฒนาจิตใจ การแสดงอารมณ์และการควบคุมความรู้สึก

ทักษะอีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเรียกได้ว่า "พรแสวง" ทักษะด้านนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการเรียนรู้ ฝึกฝน และคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน อาจพูดเป็นนัยได้อีกทางหนึ่งว่าหากเราได้พบปะพูดคุย เรียนรู้จากนักบิน ก็จะสามารถโน้มนำให้ทัศนคติและบุคลิกเหมาะสมกับความถนัดทางด้านการบินได้

ซึ่งหลังจากเรียนจากจบสถาบันการบินจะได้ License  PPL : Private Pilot License  หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (40 ชั่วโมง) และ CPL : Commercial Pilot License นักบินพาณิชย์ (200 ชั่วโมง)

รูปแบบการสมัครที่ 2. Qualified Pilot หรือ นักบินที่มี "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ (Commercial Pilot license)"

การจะมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้นนั้นสามารถแบ่งได้เป็นสองเส้นทางคือ

1.การสมัครเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนคณะเกี่ยวกับนักบินพาณิชย์

2.การสมัครเข้าเรียนการบินตามสถาบันการบินต่างๆ ซึ่งส่วนสำคัญที่สุดของเส้นทางทั้งสองแบบ คือการสอบเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ขั้นต้นที่เรียกว่า "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี" หรือ "Commercial Pilot License (CPL)"

เมื่อได้รับใบอนุญาตนี้แล้วจึงจะสามารถทำการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเป็นนักบินสายการต่างๆได้ อย่างไรก็ตามการสอบเข้าแข่งขันระหว่าง Qualified pilot นั้น ไม่เพียงแต่จะมีนักบินที่ถือใบอนุญาตพาณิชย์ตรีมาสอบแข่งขันเท่านั้น แต่ยังมีผู้ถือใบอนุญาตนักบินอีกประเภทหนึ่งที่จะเข้ามาทำการสอบด้วย คือนักบินที่ถือ "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก" หรือ "Airline Transport Pilot License (ATPL)" ซึ่งก็คือนักบินที่มีประสบการณ์การบินในสายการบินมาแล้วในระดับหนึ่ง

ดังนั้น การสอบ Qualified Pilot คือการสอบแข่งขันระหว่างนักบินที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ด้วยกัน อันได้แก่ นักบินที่จบจากสถาบันการบินใหม่ๆ กับนักบินที่ต้องการย้ายสายการบิน

โดยสรุป การจะเป็นนักบินพาณิชย์ได้ หลังจาก จบม.6 สามารถเลือกได้ 3 เส้นทาง

1.เรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย คณะที่เกี่ยวกับการบินจนได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วสอบ Qualified pilot

2.เรียนปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ จากนั้นเรียนการบินในสถาบันการบินเองเพื่อให้ได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี แล้วสอบ Qualified pilot

3.เรียนปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ จากนั้นมาสอบชิงทุน Student Pilot

ทั้งนี้ ค่าเล่าเรียน CPI ในเมืองไทยอยู่ที่ 2 ล้านบาท สำหรับ Student Pilot หรือนักเรียนทุนสามารถผ่อนชำระตามเงื่อนไขของเเต่ละบริษัท 

เมื่อผู้เรียนผ่านการทดสอบจากสถาบันการบินแล้ว จะถูกส่งไปยังสายการบินแต่ละแห่ง เพื่อทำการทดสอบอีกมากมาย ราว 1 ปีครึ่ง ไล่ตั้งแต่การเรียนรู้หลักสูตรของแต่ละสายการบิน กฎระเบียบทั้งในระดับประเทศและสากล การทดสอบบนเครื่องบินจำลอง ก่อนก้าวขึ้นเป็น “นักบินฝึกหัด” เก็บชั่วโมงบิน ไต่ระดับไปเป็น “นักบินผู้ช่วย”

รวมระยะเวลาตั้งแต่เรียนวันแรก กระทั่งเป็นนักบินผู้ช่วย ใช้เวลาราว 2 ปีครึ่ง และกว่าจะเป็นได้ “กัปตัน” ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 8 ปี บางสายการบินต้องใช้เวลาถึง 12

เจาะลึก \"เส้นทางนักบิน\" อาชีพในฝันที่กำลังขาดแคลน

วินัยเเละความรับผิดชอบสุดสำคัญ

ธีรพัฒน์ วัย 25 ปี นักเรียนทุนจากสายการบินแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า การเรียนนักบินนั้นยากและใช้ความพยายามมากกว่าที่คิดในตอนแรกมาก

หลังสอบติด สายการบินจะส่งไปเรียนบิน หลักสูตรพาณิชย์ตรี (CPL) เริ่มจากการเรียนภาคพื้น ทฤษฎีในห้องเรียน จากนั้นก็จะเริ่มฝึกบินจริง ตั้งแต่พื้นฐาน ขับเครื่องบินลำเล็ก ช่วงแรกมีคุณครูนั่งด้วย ก่อนจะปล่อยให้บินเดี่ยว ต่อมาจะเริ่มทดลองบินเครื่องบิน 1 เครื่องยนต์เเละ 2 เครื่องยนต์ รวมชั่วโมงบินในโรงเรียนประมาณ 200 ชั่วโมง ถึงได้ "ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี"  จากนั้นจะถูกส่งต่อไปฝึกกับทางบริษัท เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการบินแอร์ไลน์ กฎการบินทั้งในและระดับสากล การบินเครื่องใหญ่และฝึกเครื่องบินจำลอง

“ตอนสอบเข้าได้ ผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกว่าโอ้โห ตัวเองเท่มาก เจ๋งมาก ที่เข้ามาได้ แต่เรียนไปเรื่อยจะรู้สึกว่า เรื่องพวกนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราควรเชิดชู ผมค้นพบว่า วินัยกับตัวเอง คือสิ่งที่ยากมาก จากเมื่อก่อน ไม่ได้วางกรอบตัวเองว่าต้องรับผิดอะไร วันนี้ต้องเปลี่ยนตัวเองขนานใหญ่ ตั้งหลักใหม่ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่  เที่ยวเล่นเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ เพราะมีหนังสือที่ต้องอ่าน ต้องรับผิดชอบเยอะมาก ก่อนนี้อ่านหนังสือร้อยหน้าก็บ่นแล้ว แต่ตอนนี้เป็นหมื่น ไล่ตั้งแต่ กฎการบินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องบิน การพยากรณ์อากาศ ภาษาที่ใช้ในวงการการบิน และอื่นๆ อีกมากมาย เยอะชนิดคนนอกนึกภาพไม่ออก”

ธีรพัฒน์ บอกว่า แต่ละวันที่ผ่านไปในการเรียนรู้ นักบินทุกคนจะถูกซึบซับให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ

“เราจะรับผิดชอบคนอื่นได้อย่างไร ถ้าวันนี้ยังรับผิดชอบตัวเองไม่ได้เลย”

อัครพล อีกหนึ่งนักเรียนทุนสายการบิน แนะนำว่า ก่อนสมัครสอบเข้ามาเป็นนักบิน ควรทราบก่อนว่า หน้าที่ภารกิจของอาชีพนี้คืออะไร ไม่ใช่คิดถึงแค่เรื่อง เท่ โก้ หรือเงินเดือนสูง เท่านั้น

“เรียนหนักมาก ความรู้เป็นเรื่องที่เราต้องมีเยอะมาก คุณครูบอกว่า ในการทำหน้าที่นักบิน ต้องรับผิดชอบชีวิต ความเชื่อมั่นรวมทั้งชื่อของเสียงประเทศ ถ้าไม่รู้จริงจะไม่สามารถตัดสินใจต่อปัญหาในยามขับขันได้ ฉะนั้นต้องอ่านให้เยอะที่สุด รู้ให้มากที่สุด ก่อนเข้ามาเรียนได้ยินมาเหมือนกันว่าเรียนหนักมาก แต่ไม่คิดว่าจะหนักขนาดนี้ มีคนบอกว่า เป็นกัปตันเหมือนเป็นราชาและเป็นพระเจ้าของโลกหลังจากประตูปิดแล้ว ทุกการตัดสินใจอยู่ที่เรา ฉะนั้นทางเดินไปถึงจุดนั้นมันเลยยาก”

11 สถาบันประตูสู่นักบิน

ปัจจุบันสถาบันสานฝันการเป็นนักบินในเมืองไทยมีอยู่ราว 11 แห่ง ได้แก่

1.สถาบันการบินพลเรือน Civil Aviation Training Center  

2.วิทยาลัยการบินนานาชาติ (International Aviation College : IAC) มหาวิทยาลัยนครพนม (NPU)

3.โรงเรียนการบินกรุงเทพ บริษัท บางกอกเอวิเอชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด 

4.สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิต

5.มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาบริหารกิจการการบิน

6.โรงเรียนการบินศรีราชา บริษัท ศรีราชาเอวิเอชั่น จำกัด หลักสูตรนักบินส่วนบุคคล (PPL)

7.สถาบันเทคโนโลยีการบิน ม.เทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การบิน (รัฐบาลที่เดียวในประเทศไทย)

8.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะวิศวกรรมการบิน Major CPL (Commercial Pilot License)

9.มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ คณะวิศวกรรมการบิน Major MPL (Multi Crew Pilot License)

10.โรงเรียนการบินกำแพงแสน ซึ่งจะผลิตเฉพาะนักบินที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากโรงเรียนนายเรืออากาศเท่านั้น ปัจจุบันผลิตปีละ 50 คน

11.สถาบันการบิน RoyalSky Aviation Center