posttoday

นานาประเทศรุมสับไทยยับ ซัดคสช.ละเมิดสิทธิเพียบ

12 พฤษภาคม 2559

การรายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศกว่า 105 ประเทศ ตามกลไก UPR ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน

โดย..ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การรายงานการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศกว่า 105 ประเทศ ตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทยถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา 44 การขยายอำนาจของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ให้รวมถึงเรื่อง “ความมั่นคง” การใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กฎหมายอาญามาตรา 116 ฐาน “ยุยงปลุกปั่น” และการเรียกบุคคลที่เห็นต่างไปปรับทัศนคติ

ตลอด 4 ชั่วโมง ทุกประเทศต่างแสดงความกังวลกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนใหญ่มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไทยไปในแนวทางเดียวกัน อาทิ ผู้แทนจากสวีเดน ได้แนะรัฐบาลไทยแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาท สหรัฐอเมริกา ได้ขอให้ยุติการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เนเธอร์แลนด์ เรียกร้องให้ยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร

ขณะที่ผู้แทน แคนาดา ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่มีแนวโน้มจะมีการละเมิดสิทธิมากขึ้นขณะที่ คอสตาริกา ได้แสดงความกังวลออกมาว่า รัฐบาลไทยในอนาคตอาจมีโอกาสถูกรัฐประหารอีก

ผูู้แทนประเทศไทยนำโดย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ผลัดกันชี้แจงข้อกังวลของนานาชาติ โดยยืนยันว่ารัฐบาลไทยเคารพหลักการประชาธิปไตย ยังเดินหน้าตามโรดแมปเพื่อให้เกิดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และภายในปี 2560 จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลปกติอย่างแน่นอน

สำหรับการใช้อำนาจมาตรา 44 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาก่อนหน้านี้หลายฉบับแล้ว รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่ามาตรา 44 จะใช้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการเท่านั้น เช่น เรื่องการค้ามนุษย์ หรือการจัดการผู้มีอิทธิพล ยืนยันว่าไม่ใช่กำจัดผู้เห็นต่าง

ขณะเดียวกัน ผู้แทนไทยยังได้ยืนยันว่า รัฐบาลยังมีความจำเป็นในการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และถือเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าประชาชนธรรมดายังมีเสรีภาพอย่างเต็มที่

ในส่วนของ “ศาลทหาร” จะถูกใช้ในช่วงเวลา “เปลี่ยนผ่าน” เท่านั้น ขณะเดียวกันจะถูกใช้อย่างจำกัด รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีจะได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม มีสิทธิในการประกันตัวเช่นเดียวกับศาลยุติธรรม

วันเดียวกัน ที่แบล็กบ็อกซ์คาเฟ่ องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนได้จัดเวทีติดตามการถ่ายทอดสด โดย สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์ส วอตช์ ประจำประเทศไทย บอกว่า สิทธิการเมืองและสิทธิพลเมืองที่แต่ละชาติแสดงความกังวลได้สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศไทยว่า ขณะนี้นานาชาติมองไทยในฐานะ “รัฐทหาร” ไม่ใช่รัฐปกติ ทำให้ไม่ไว้วางใจการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพลเรือน เพราะยังปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานคือการแสดงออก

“นานาชาติได้ยกกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะกฎหมายอาญามาตรา 112 และกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งถูกตีความว่ารัฐบาลไทยได้ตีความตามอำเภอใจในการดำเนินคดี...”

“...ไม่เพียงเท่านั้น เพราะขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่การจับกุม การสอบสวน การคุมขัง ส่งฟ้อง พิจารณาคดีลงโทษ ได้ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในมือกองทัพ และกระทรวงกลาโหมทั้งหมด ซึ่งเป็นองคาพยพสำคัญของ คสช. ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด” สุณัย ระบุ

นอกจากนี้ นานาชาติยังได้ห่วงการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะฐานความผิดถูกตีความออกไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตีความให้กลายเป็นเรื่อง “ความมั่นคง” ให้ไปขึ้นศาลทหาร จากเดิมที่ระบุว่าเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรม หรือป้องกันแฮ็กเกอร์ กลายเป็นเครื่องมือที่รัฐเอาไปใช้ปิดกั้นการแสดงความเห็นไปแล้ว

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า กสม.มีพันธะผูกพันที่จะต้องไปชี้แจงการทำหน้าที่ในเวทีนี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามเมื่อถูกลดสถานะจาก A เป็น B ทำให้ไม่สามารถให้ถ้อยแถลงได้ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจุดยืน กสม.ยังยืนอยู่ข้างเหยื่อ ไม่ใช่ข้างรัฐบาล

“กระบวนการที่เกิดขึ้นคือเมื่อมีข้อเสนอแนะ ไทยจะต้องทบทวนว่าจะรับข้อเสนอใดบ้าง โดยในปี 2554 เรารับข้อเสนอแนะไป 8 ข้อ แต่ไม่ได้รับเรื่องกฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ กฎหมายพิเศษ หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” อังคณา ระบุ

เธอบอกอีกว่า ขั้นตอนหลังจากนี้คณะผู้แทนไทยจะต้องสื่อสารกับรัฐบาลไทยภายใน 1-2 วัน ว่าจะไม่รับข้อเสนอแนะเหมือนเดิม หรือจะไม่รับเพิ่มขึ้น