ส่องปรากฏการณ์ "โปเกมอน โก"...สนุกได้แต่ต้องรู้เท่าทัน
ข้อเสนอแนะจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย-ไอที-จิตวิทยาที่มีต่อเกมสุดฮิต “โปเกมอน โก”
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ภาพหนุ่มสาวทุกเพศทุกวัยก้มหน้าก้มตา เดินๆหยุดๆ จดจ้องหน้าจอสมาร์ทโฟน พลางเขี่ยนิ้วขว้างโปเกบอลโจมตีมอนสเตอร์ที่กำลังเผชิญหน้า กลายเป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองไทย
นาทีนี้ วันที่หลายคนหายใจเข้าออกเป็น “โปเกมอน โก” (Pokemon Go) เราจะทำความเข้าใจอีกแง่มุมที่หลายคนมองข้ามของเกมยอดฮิตนี้กัน
รู้เท่ากันเกม ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
โปเกมอน โก พัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เทคโนโลยีการผสมผสานโลกเสมือนเพิ่มเข้าไปในโลกจริง เพื่อทำให้เกิดการกลมกลืนกันมากที่สุด วิธีการเล่นต้องออกเดินทางเพื่อไล่ล่ามอนสเตอร์ หรือแข่งขันต่อสู้กันตามสถานที่ต่างๆ เกมนี้เปิดตัวอย่างกระหึ่มในเมืองไทยเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา
ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท T-NET ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) พูดถึงกระแสเกมโปเกมอน โกในเมืองไทยว่า ตัวเกมไม่ได้มีปัญหา สร้างขึ้นเพื่อหวังให้เด็กๆ ที่เอาแต่นั่งเล่นเกมติดอยู่กับบ้านได้ออกมาทำกิจกรรมภายนอกร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง แต่ปัญหาคือ สถานที่ภายนอกไม่ได้มีความปลอดภัยและจะเจอแต่กับเหล่าผู้เล่นเกมเท่านั้น แต่ยังมีคนอื่นๆอีกมากมายที่ไม่ได้เล่นหรือรับรู้พฤติกรรมของพวกคุณด้วย ฉะนั้นหน่วยงานภาครัฐควรจะออกมาตรการหรือคำแนะนำที่ครอบคลุมถึงอันตรายและมารยาทในการเล่นเกมอย่างเร่งด่วน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศแนวทางการเล่นโปเกมอน โก โดยระบุว่า ผู้ปกครองควรสอนเด็กๆที่คิดจะเริ่มเล่นจากภายในบ้านก่อน เมื่อต้องออกไปด้านนอก ก็ให้เล่นที่สวนสาธารณะร่วมกับครอบครัว
“สถานที่เหมาะสมที่สุดในการเล่น ควรจะเป็นสถานที่ปิดระดับหนึ่ง มีความปลอดภัย เช่น สวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นมากนัก และไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการเดินเล่นตามท้องถนน นอกจากนี้ไม่ควรเล่นเกมตามลำพัง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนที่เสี่ยงต่อการถูกเหล่าอาชญากรมิจฉาชีพทำร้ายร่างกายเพื่อชิงทรัพย์ยามผู้เล่นเพ่งอยู่กับหน้าจอมือถือ”
ไม่ควรใช้อีเมลประจำสมัครเล่นโปเกมอน โก เนื่องจากอาจสร้างปัญหาให้กับชีวิตการทำงานในโลกของความเป็นจริง รวมถึงเสี่ยงที่จะถูกล่วงรู้ข้อมูลส่วนตัวด้วย ขณะเดียวกันผู้เล่นต้องยอมรับว่า สถานที่ที่เดินทางไปล่าโปเกมอนจะถูกผู้ให้บริการเก็บข้อมูลเอาไว้เพื่อหาประโยชน์ในอนาคตอย่างแน่นอน หลังจากที่เราเปิดจีพีเอสในการเล่นตลอดเวลา สิ่งที่น่ากังวลต่อมาคือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้งาน เนื่องจากในเกมมีการเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เงินจริงนำไปแลกเป็นบิทคอยน์ (สกุลเงินดิจิตอลของแอพหรือเกม) เพื่อนำไปซื้อไอเทมต่างๆ ในเกม ดังนั้นขอให้ระมัดระวังอย่างยิ่ง นอกจากนี้ภายในเกมยังมีการปล่อย LURE MODULE หรือสัญลักษณ์กลีบซากุระ ที่เอาไว้ดึงดูดนักล่าโปเกมอนเข้าไป หากพบว่าจุดใดเป็นจุดล่อแหลม ไม่ใช่ย่านชุมชน ตลาด หรือร้านค้า ผู้เล่นอาจถูกเหล่ามิจฉาชีพลงมือก่อเหตุร้ายได้"
“นักล่าโปเกมอนนั้นจะต้องเดินทางไปที่ Poke Stop เพื่อเก็บลูกบอลเอาไว้ปาใส่โปเกมอนและไอเท็มต่างๆ Poke Stop จุดใดมีผู้ปล่อย LURE MODULE เอาไว้ก็แสดงว่าจะต้องมีโปเกมอนเข้าไปแห่รุมให้จับจำนวนมาก วิธีการนี้ในแง่ดีถือเป็นยุทธวิธีทางการค้าขายของกลุ่มธุรกิจ เนื่องจากหากพบว่าร้านตัวเองอยู่ใกล้จุด Poke Stop ก็สามารถเสียเงินซื้อ LURE MODULE มาปล่อยเรียกลูกค้าที่เล่นเกมให้มารวมตัวจับโปเกมอนใกล้ๆ ร้านได้ แค่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต ก็สามารถซื้อผ่านแอปฯ เกมได้ในราคาครั้งละราว 25-30 บาท สามารถปล่อย LURE MODULE ได้นาน 30 นาที แต่ที่ต้องระวังก็คือ มิจฉาชีพอาจใช้วิธีเดียวกัน ซื้อ LURE MODULE มาปล่อยเรียกเหยื่อไปชิงทรัพย์ได้เช่นกัน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยระบบไอที ทิ้งท้ายว่า การแบนเกมนี้ในเมืองไทยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากไม่ใช่เกมที่มีความรุนแรงหรือสร้างปัญหาด้านความมั่นคง ฉะนั้นการให้คำแนะนำและสร้างความเข้าใจกับผู้เล่นอย่างกว้างขวาง ถือเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องทำโดยเร็วที่สุด
รัฐต้องออกนโยบายกำกับดูแล อย่าวัวหายแล้วล้อมคอก
ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านโซเชียลมีเดีย สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) มองว่า ในวันที่เกมโปเกมอนโกกำลังเริ่มระบาด ทั้งยังสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ไม่ได้เล่น ไม่ว่าจะการเล่นที่เกะกะกีดขวางบนท้องถนน การเล่นในขณะขับขี่รถ การเล่นในพื้นที่สาธารณะที่เสี่ยงต่อการละเมิดข้อบังคับด้านความปลอดภัย ถือเป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรงควรหาแนวทางกำกับดูแลได้แล้ว
คำถามสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือ หน่วยงานรัฐไทยมีความรู้ ความพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ตนเองหรือยัง ?
1. กสทช. ควรหารือเพื่อออกมาตรการกำกับเทคโนโลยีนี้โดยเร่งด่วน ตั้งแต่มาตรการจำกัดอายุผู้เล่น มาตรการด้านราคาค่าบริการ มาตรการร้านข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้เล่น และ การเยียวคุ้มครองผู้บริโภคคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีนี้ ควรเรียกผู้นำเข้าและผู้ให้บริการค่ายโทรศัพท์มือถือมากำกับ และออกประกาศให้ผู้ให้บริการมือถือค่ายต่างๆออกซิมเด็กโดยเฉพาะได้แล้ว และควรใช้ซิมมือถือเด็กเป็นบริการจดทะเบียนโดยพ่อแม่ผู้ปกครองที่เข้าระบบรายเดือน หรือมีมาตรการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายบริการ ไม่ใช่ปล่อยให้ค่ายมือถือรุกคืบเอาประโยชน์กำไรจากผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันภาคธุรกิจเอกชนอย่างนี้
2. การรถไฟ การท่าเรือ รถไฟฟ้ากทม ทั้ง MRT และ BTS และเรือยนต์โดยสารตามท่าต่างๆ ควรเร่งออกประกาศคำสั่งห้ามผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ จับเล่นเกมโปเกมอน บริเวณสถานี ทั้งบันไดเลื่อน บันได บริเวณชานชาลา และในรถไฟฟ้า และบริเวณท่าน้ำ โป๊ะ จุดขึ้นลงเรือโดยสารด้วย
3. โรงเรียน มหาวิทยาลัย บรรดาผู้บริหารโรงเรียนทั้งหลาย ควรมอบเป็นนโยบายให้ครูประจำชั้น และครูอื่นๆ กำชับไม่ให้เล่นเกมนี้ในบริเวณโรงเรียนโดยเด็ดขาด และระมัดระวังพื้นที่ด้านรอบข้างโรงเรียน เช่น ถนนหน้าโรงเรียน หรือพื้นที่จุดรับส่งเด็กนักเรียน
4. กระทรวงศึกษาธิการ เร่งส่งเสริมวิชาเรียนรู้เท่าทันสื่อ และเทคโนโลยี ให้กับคุณครูผู้สอน และจัดอบรพ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยและอันตราย หรืออิทธิพลที่มาจากเทคโนโลยีด้วย เพราะ พ่อแม่ดูจะมีปัญหานี้มาก ขาดความรู้ที่จะบอกกล่าวตักเตือนลูกๆ และอย่าลืมกำชับครูด้วยว่า ไม่ให้เล่นในขณะที่อยู่ในโรงเรียน กำลังสอน หรือขณะทำกิจกรรมกับเด็ก
5. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ออกมาตรการห้ามเล่นกมนี้ ในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น อุทยานปประวัติศาสตรื โบราณสถาน โบราณวัตถุ และห้ามใช้ไม้เซลฟี่ หรือ โดรน ในบางจุดที่มีความเสี่ยงที่ผู้เล่นจะใช้เครื่องเล่นนี้ จับสัตว์โปเกมอน
6. กระทรวงไอซีที ควรหารือเพื่อออกมาตรการป้องกันและคุ้มครองกระบวนการอาชญากรรมทั้งหมดที่เสี่ยงต่อผู้เล่นที่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างเร่งด่วน (กระบวนการ Phishing หรือ Pharming) และความปลอดภัยทางด้านการเงิน ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหลาย ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะรัฐไทยนั้นช้า ไม่ทันภาคธุรกิจเอกชน ก็เลยทำให้เมืองไทย ชอบแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก!
"ยืนยันว่าเกมไม่ผิด เทคโนโลยีไม่ผิด ปัญหาที่แท้จริงคือ มนุษย์ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี ในทางนิเทศศาสตร์อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานเทคโนโลยี ตามทฤษฏีที่เรียกว่า "technology determinism" ทฤษฏีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนด คนเล่นเกมมองไม่เห็นว่าตนเองสร้างผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร มองว่าตนเองไม่เกี่ยวกับส่วนรวม เพราะขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมานานแล้ว ตั้งแต่เป็นโรคติดโทรศัพท์มือถือ คนติดมือถือ สะท้อนความบกพร่องทางสังคมอย่างหนึ่ง คือ ขาดทักษะทางชีวิตจริงและหลงผิดว่าโลกเสมือนจริงคือโลกที่แท้จริง ความสนุกของเกม ทำให้ลืมมองโลกว่ามีเรื่องสนุก เพราะในเกมเป็นความสนุกที่่ตนเองควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ มันน่าตื่นเต้นกว่า เร้าใจกว่า จึงทำให้มองว่าโลกจริงๆนั้นน่าเบื่อ"
สังคมขาดวินัย เสี่ยงสร้างปัญหา
จากการวิเคราะห์ของ Sensor Tower เว็บวิเคราะห์แอพพลิเคชั่นชื่อดังระบุไว้ว่า รายได้ของเกมโปเกมอน โกทั่วโลกทะลุ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,000 ล้านบาทเเล้ว หลังเปิดให้เล่นได้เพียงหนึ่งเดือน
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ในเมืองหรือสังคมที่ไม่มีความแข็งแกร่งทางด้านวินัย ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงมากที่โปเกมอน โก จะสร้างปัญหาต่อสังคม
“ตอนนี้ต้องเรียกว่าไฟลามทุ่ง หลายคนสูญเสียวิถีชีวิตที่เคยเป็นไปแล้ว ไม่เป็นอันเรียน ไม่เป็นอันทำงาน จริงอยู่ว่าเกมไม่ได้มีความรุนแรงโดยตัวมันเอง แต่เมื่อมันเป็นเกมที่ตรงกับความฝันในตอนเด็กๆของใครหลายคน เเละมีลักษณะผูกรวมจินตนาการและความจริงเข้าด้วยกัน จึงทำให้เกิดอาการเสพติดรวดเร็วมาก หากเป็นเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกวินัยหรืออยู่ในสังคมที่มีความอ่อนแอด้านวินัยด้วยแล้ว พฤติกรรมการเล่นจะเป็นไปในลักษณะไม่บันยะบันยัง จนอาจสร้างความเดือดร้อน ละเมิดสิทธิต่างๆของผู้อื่น หรือกระทบกับชีวิตประจำวันด้านอื่นๆไป ที่สำคัญอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงด้วย”
นพ.สุริยเดว ชี้ว่า สังคมต้องช่วยกันสร้างวินัยในการเล่นเกมทุกอณู ตั้งแต่ที่บ้าน ชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน รวมทั้งในหัวใจของผู้เล่น ก่อนที่ความเสียหายจะลุกลามบานปลายจนเกิดความสูญเสีย
“สัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ที่แท้จริง นั้นสำคัญกว่าความสัมพันธ์กลางอากาศ สิ่งที่ยังทำให้เราชนะเทคโนโลยีและกำหนดมันได้ คือ จิตสำนึกของความเป็นคน การมีปฎิสัมพันธ์ มีความเอื้ออาทร มีคุณธรรม วินัย การเคารพกันสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ฉะนั้นอย่าให้เกมมาทลายกรอบเหล่านี้ออกไป ไม่เช่นนั้นสังคมจะเสียหาย จงเล่นมันอย่างฉลาด รู้เท่าทัน อย่าตกเป็นทาส และทำลายหัวใจสำคัญในการอยู่ร่วมกันไป”
คำแนะนำ 9 ข้อรับมือโปเกมอน โก
ขณะนี้มี 35 ประเทศทั่วโลกแล้วที่สามารถเล่นเกมโปเกมอนโกได้ แต่ละประเทศมีคำเตือนสำหรับผู้เล่นแตกต่างกันออกไป บางประเทศประกาศห้ามเล่นเกมสุดฮิตนี้เเล้วด้วย เช่น อิหร่านที่ประกาศแบนด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ เนื่องจากเกมส่งผลให้ประชาชนเดินเข้าออกไปมาตามสถานที่ต่างๆทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดปัญหาจากการบุกรุก ขณะที่อินโดนีเซีย ทางการออกคำสั่งเด็ดขาดห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเล่นเกมโปเกมอนโกในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ด้านมาเลเซียเพิ่งเข้าถึงการเล่นเกมได้วันเดียวกันกับไทย ได้ประกาศห้ามชาวมุสลิมเล่นเกมโปเกมอนโกเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าเกมอาจทำลายความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศมุสลิมได้
สำหรับประเทศญี่ปุ่น รายงานของ The Japan Times ระบุว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงแห่งชาติทางไซเบอร์ของญี่ปุ่น (National Center of Incident Readiness and Strategy for Cybersecurity - NISC) ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อประชาชน โดยจัดทำคำเตือน 9 ข้อ ในรูปแบบการ์ตูนช่อง เพื่อเป็นมาตรการในการรับมือเตรียมความพร้อมก่อนที่โปเกมอน โกจะเปิดให้บริการในประเทศตัวเองเสียอีก
1. อย่าใช้ชื่อนามสกุลจริงลงทะเบียนเป็นเทรนเนอร์ , การตั้งระบบ GPS หรือการโพสต์รูปใกล้บ้านของตัวเอง ให้ระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวเป็นพิเศษ
2. ระวังอย่าใช้แอพปลอมหรือแอพโกงต่างๆ
3. ควรโหลดแอพพยากรณ์อากาศติดไว้ในเครื่องจะได้รู้สภาพอากาศก่อนออกไปจับโปเกมอน
4. หากจับโปเกมอนท่ามกลางอากาศร้อน อาจจะกลายเป็นลมแดดได้
5. ควรพกแบตเตอรี่สำรองไปด้วย ในกรณีฉุกเฉินตอนแบตหมดจะได้ติดต่อคนอื่นได้
6. ควรพกสมุดโทรศัพท์ที่มีเบอร์โทรของเพื่อนหรือครอบครัว
7. อย่าเข้าไปล่าโปเกมอนในพื้นที่ที่เสี่ยงอันตราย
8. ควรพิจารณาให้ดีก่อนจะนัดเจอใครในการไปล่าโปเกมอน
9. ระวังอย่าเดินเล่นโทรศัพท์ เพราะอาจจะตกชานชาลา หรือ รถเฉี่ยวชนได้
ทั้งหมดนี้คือ ความวิตกกังวลที่หลายฝ่ายมีต่อเกมฮิตซึ่งกำลังสร้างปรากฎการณ์ไปทั่วโลก.