posttoday

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ"สามัญชน"ได้เข้าเฝ้าฯ"ในหลวง"

14 ตุลาคม 2559

ในฐานะประชาชนชาวไทย การได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นความฝันอันสูงสุดของชีวิต

เรียบเรียง...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ / ภาพ...นิตยสารฅ.คน

ในฐานะประชาชนชาวไทย การได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นความฝันอันสูงสุดของชีวิต

แม้ดูเป็นความฝันที่ไกลเกินเอื้อม หลายคนจึงทำได้เพียงอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ไปติดบนฝาบ้านเพื่อเทิดทูน บ้างเดินทางนับร้อยพันกิโลเมตรมาลงนามถวายพระพร บ้างรอคอยเข้าเฝ้ายามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจ

ทว่าบางคนกลับโชคดีกว่านั้นได้มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายงานพระองค์อย่างใกล้ชิด ได้กราบลงที่เบื้องพระยุคลบาท ถือเป็นความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตของสามัญชนตัวเล็กๆที่มิอาจลืมเลือนลงได้เลย

ต่อไปนี้คือเรื่องเล่าของคนธรรมดาๆที่เคยได้เข้าเฝ้าในหลวง

"สมเจตน์ ยอดย้อย" เด็กชายจอมซนกับลูกกวาดพระราชทาน

สมเจตน์ ยอดย้อย อดีตผอ.โรงเรียนเมืองปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ย้อนอดีตให้ฟังว่า ช่วงปีพ.ศ.2509 ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน บ่อยครั้ง เพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือราษฎร

"สมัยนั้นชาวบ้านจะรู้กันว่า ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ประมาณสี่โมงเย็น ในหลวงจะเสด็จพระราชดำเนินมายังสวนป่าหาดทรายใหญ่ ซึ่งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์ ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบเลยชวนเพื่อนอีกสองคนไปดักรอขบวนเสด็จ พอพระองค์ท่านทอดพระเนตรเห็นพวกเราที่เป็นเด็กตัวเล็กๆก็ทรงหยุดรถพระที่นั่ง แล้วเอาลูกกวาดมาให้ เป็นลูกกวาดหลากสี ไม่มีขายตามร้านทั่วไป อร่อยมาก  พวกเราแบ่งกันกินจนหมดทุกวัน คิดแค่ว่าวันนี้กินหมด พรุ่งนี้ค่อยไปแอบดักเข้าเฝ้าใหม่ ไม่รู้หรอกว่าเป็นเรื่องควรไม่ควร แต่ไปบ่อยจนพระองค์ท่านจำได้จนสมเด็จพระราชินีทรงตรัสยิ้มๆว่า 'มาอีกแล้วสามคนนี้' พวกเราก็ไม่พูดอะไร นั่งเงียบๆรอรับลูกกวาดเหมือนเดิม ตอนเด็กๆไม่รู้ว่าลูกกวาดพระราชทานมีค่าแค่ไหน รับมาก็กินหมดตามประสา โตมาจึงเข้าใจว่า รู้งี้เก็บรวบรวมไว้เป็นที่ระลึกดีกว่า"

แม้วันนี้สมเจตน์จะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่กระนั้นเขาก็ได้เล่าให้คนใกล้ชิดฟังอย่างภาคภูมิใจเสมอยามมีชีวิตอยู่

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" สมเจตน์ ยอดย้อย ถ่ายรูปกับถนนเมื่อครั้งรอรับเสด็จในหลวง ปีพ.ศ.2509

20 นาทีสำคัญในชีวิตของ"ครูแล สังข์สุข"

พ.ศ.2501 ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่บ้านเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งสมัยนั้นยังทุรกันดาร ถนนเป็นทางเกวียน ไม่มีไฟฟ้าน้ำประปาใช้ โดยทรงสร้างโครงการชลประทาน อ่างเก็บน้ำ ถนนหนทาง สถานีอนามัย โรงงานทอผ้า การไฟฟ้าการประปา จนมีความเจริญขึ้น

ตอนนั้นเองที่ แล สังข์สุข ดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนเทศบาลบ้านเขาเต่า ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้ด้วยการประสานงานระหว่างทางราชองครักษ์กับชุมชน ครูแลรับใช้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยนาน 7 ปี ทำให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย กระทั่งวันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาเยี่ยมถึงบ้าน

"ตอนนั้นประมาณ 4-5 โมงเย็น ราชองครักษ์มาบอกว่าในหลวงจะทรงเสด็จมาเยี่ยมบ้าน เราได้แต่ยืนงง ทำอะไรไม่ถูก ตอนนั้นมีทหารมาล้อมบ้านเต็มไปหมด พอพระองค์มาถึงก็รับสั่งว่า 'ขอเยี่ยมชมบ้านหน่อยได้ไหม ฉันพาประธานสภากาชาดแห่งโลกมาด้วย' ผมกราบบังคมทูลว่า 'ได้พระพุทธเจ้าข้า' แล้วเดินนำทางพระองค์เข้ามาในบ้าน บ้านผมเป็นเพียงบ้านไม้เก่าๆธรรมดาๆ แต่ในหลวงท่านทรงไม่ถือพระองค์ ทั้งยังไถ่ถามความเป็นไปภายในบ้านหลังนี้อย่างเป็นกันเอง พระองค์ท่านทรงถามผมว่า 'ครูนอนไหน' ผมก็ชี้ห้องนอนให้ดู ท่านทรงถามต่อว่า 'แล้วลูกล่ะนอนไหน' ผมก็พาท่านไปดู พระองค์ท่านยังตรัสถามด้วยว่า 'บ้านหลังนี้ใครเป็นคนสร้าง' ผมตอบสั้นๆว่า 'ตัวกระผมเองพร้อมกับจ้างเพื่อนบ้านมาช่วยด้วย' ในหลวงท่านฟังแล้วทรงแย้มพระโอษฐ์ ตรัสว่า 'ไม่รู้ว่าครูแลเป็นช่างไม้เหมือนกัน' จากนั้นท่านเดินไปดูครัว ดูกรงนกหงส์หยกที่เลี้ยงไว้ ก่อนสนทนากับท่านประธานกาชาดแห่งโลกเป็นภาษาอังกฤษ แล้วจึงเสด็จกลับ ...เป็นยี่สิบนาทีในชีวิตที่ผมลืมไม่ลงจริงๆ"

ครูแล เผยว่า จากการทำงานรับใช้ในหลวงอย่างใกล้ชิดทำให้เข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า พระองค์ท่านทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ต่อประชาชนของท่านเหมือนพ่อดูแลลูก

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" ครูแล สังข์สุข เมื่อครั้งที่ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้าน


"ฉันทนา ศรีสวัสดิ์"เมื่อสุนัขหลุดเข้าไปในวังไกลกังวล

ฉันทนา ศรีสวัสดิ์ หญิงสาววัยกลางคนซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดชื่อ 'เจมส์' ซึ่งต่อมากลายเป็น 'หลวงแจ่ม' สุนัขทรงเลี้ยงของในหลวง

"ดิฉันเป็นชาวหัวหินโดยกำเนิด บ้านใกล้กับวังไกลกังวล ประมาณปีพ.ศ.2541 ได้เลี้ยงลูกสุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดชื่อเจมส์ ซนมาก ชอบหลุดเข้าไปวิ่งเล่นในวัง ครั้งหนึ่งหายจากบ้านไปสามวัน จึงขออนุญาตเข้าไปตามพบว่ากำลังนอนตากแอร์อย่างมีความสุขอยู่ในครัว เราก็กังวลนะ กลัวไปสร้างความระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทุกๆวันมักจะมีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบจูงเจ้าเจมส์มาส่งเสมอ กระทั่งครั้งสุดท้ายเขากำชับว่า อย่าปล่อยให้เข้ามาเพ่นพ่านอีกเป็นอันขาด เพราะคราวนี้เข้าไปถึงพระตำหนักชั้นใน เราก็ตกใจมาก สุดท้ายตัดสินใจจับใส่กรง"

ไม่กี่วันถัดมา มีเจ้าหน้าที่จากในวังมาแจ้งว่า ในหลวงตรัสถามหาว่า หมาตัวโตที่เคยมาวิ่งเล่นหายไปไหน และขอนำตัวไปเข้าเฝ้าฯ ฉันทนาเล่าว่าอาบน้ำทำความสะอาด ขัดสีฉวีวรรณเต็มที่เพื่อนำตัวเจ้าเจมส์ไปเข้าเฝ้าเป็นเวลาสามวันก่อนถูกส่งกลับบ้าน

"ตอนนั้นเราคิดว่า การที่พระองค์ท่านตรัสถามหา และให้เข้าไปอยู่ในวังถึงสามวัน แสดงว่าพระองค์ท่านโปรดเจ้าตัวนี้พอสมควร เราเองอยากให้พระองค์ท่านมีความสุข จึงตัดสินใจจะน้อมเกล้าฯถวายให้ วันไปส่งตัวครอบครัวเราได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯพระองค์ท่าน ได้ยินพระองค์ท่านตรัสขึ้นว่า 'สีเหมือนคุณทองหลางมาก' เราจึงกราบบังคมทูลว่า 'ข้าพระพุทธเจ้า ฉันทนา ศรีสวัสดิ์ มีความประสงค์จะขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสุนัขเพศผู้พันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดอายุ 11 เดือน ชื่อเจมส์ เพคะ' พระองค์ทรงตรัสว่า 'เลี้ยงที่นี่ลำบาก ที่สวนจิตรกว้างกว่า' 

ขณะนั้นเองหันไปเห็นสุนัขเทศสีแดงคือ คุณทองแดง เขาวิ่งออกมาเห่าใส่เจ้าเจมส์ เราเลยหลุดปากกราบบังคมทูลท่านไปว่า 'เขาถูกกันไหมเพคะ' ในหลวงท่านทรงตรัสว่า 'ไม่รู้สิ ยังไม่เคยเจอกัน แต่นี่เขาขี้อิจฉา' ท่านทรงชี้ไปที่คุณทองแดง หลังเสร็จสิ้น ข้าราชบริพารเข้ามาบอกว่า เวลาเข้าเฝ้าฯห้ามถามในหลวง ให้ตอบอย่างเดียว เราก็รู้สึกว่า เรานี่ไม่รู้อะไรเลย แต่ขนาดเราทำสิ่งไม่บังควร พระองค์ท่านก็ยังไม่ถือพระองค์ สิ่งนี้เองที่ทำให้รู้สึกว่าในหลวงของเรานี้จะหาที่ใดในโลกเหมือนไม่มีอีกแล้ว"

ฉันทนา บอกว่า หลังการเข้าเฝ้าฯครั้งนั้น เธอได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยมหลวงแจ่มหลายครั้งก่อนพบว่า หลวงแจ่มดูดีขึ้นมาก อ้วนท้วนสมบูรณ์ ร่าเริงมีความสุข เธอทิ้งท้ายว่า ดีใจที่ได้รู้ว่าเจ้าเจมส์ของเธอทำให้ในหลวงมีความสุข

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" ฉันทนา ศรีสวัสดิ์ นำเจ้าเจมส์ เข้าเฝ้าฯในหลวงที่วังไกลกังวล

"สีเทา"กับดอกไม้พระราชทานจากในหลวง

สีเทา-จรัล เพ็ชรเจริญ ดาวตลกอาวุโส ก็เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งเคยเล่าถึงความทรงจำที่ได้ถวายงานแก่ในหลวงอย่างใกล้ชิด

อดีตครูประชาบาลจากสุราษฎร์ธานีที่หลงใหลในการพากย์หนัง ใช้เวลาว่างหมดไปกับการตระเวนดูหนังกางแปลง ก่อนเข้าเป็นสมาชิกคณะพากย์หนังของเสน่ห์ โกมารชุน จนกลายเป็นนักพากย์ที่มีชื่อเสียง ด้วยลีลาการพากย์ที่ตลกเฮฮา มีลูกล่อลูกชน ดัดเสียงได้หลากหลายอารมณ์

"วันหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้เข้าไปพากย์หนังให้พระองค์ท่านทอดพระเนตรในวัง ทั้งตื่นเต้น ทั้งเกร็ง ไม่เป็นอันกินอันนอน แต่ก็ต้องทำเต็มที่ จำได้ว่าที่นั่งพากย์ห่างจากพระองค์ท่านไม่กี่เมตร หนังที่ฉายคือ แม่นาคพระโขนง เวอร์ชั่นสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์และปรียา รุ่งเรือง ก่อนหนังฉาย ในหลวงท่านเสด็จมารับสั่งกับผมว่า 'เธอพากย์ในโรงยังไงก็พากย์แบบนั้นให้เราฟังเลยนะ' คราวนี้ล่ะหายเกร็งเลย ใส่ภาษาชาวบ้านอย่างเต็มที่ ขณะพากย์เหลือบไปมองพระองค์ท่าน เห็นทรงพระสรวล ก็ดีใจ คิดว่าท่านน่าจะโปรด พอหนังจบ พระองค์ท่านเสด็จมาตรัสว่า 'เหนื่อยไหมล่ะ ทานข้าวก่อนนะ หนังที่เธอพากย์สนุกดี' เท่านั้นล่ะความเหนื่อยมันหายเป็นปลิดทิ้งเลย"

หลังจากนั้นสีเทาเข้าเป็นโฆษกวงดุริยางค์ตำรวจ มีโอกาสไปแสดงต่อหน้าพระที่นั่งที่พระราชวังไกลกังวล ทุกครั้่งในหลวงจะทรงห่วงใยและเมตตาเสมอ ทรงไถ่ถามว่าเหนื่อยไหม เมื่อเล่นจบ พอพระองค์เสด็จเสวยพระกระยาหารเสร็จก็จะเสด็จลงมาเล่นดนตรีด้วยโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่นิดเดียว

"ปีพ.ศ.2539 ผมป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก นอนโรงพยาบาลอยู่ 17 วัน ในใจคิดว่าท่าจะสิ้นชื่อก็คราวนี้ จู่ๆสำนักพระราชวังแจ้งมาว่า ในหลวงท่านทรงพระราชทานดอกไม้มาให้ พอรับแจกันเท่านั้นแหละ น้ำตาไหลเลย ตื่นตันใจ จากที่คิดว่าไม่รอดบอกตัวเองไว้เลยว่า เรารอดแน่ เราไม่เป็นอะไรแน่ เหมือนพระองค์ทรงชุบชีวิตเราขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ให้เรามีความหวังและกำลังใจให้อยู่บนโลกนี้ต่อไป"

สีเทาบอกด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้มว่า พอได้ออกจากโรงพยาบาลก็ประคองแจกันดอกไม้พระราชทานเข้าบ้านด้วยตัวเอง ซึ่งช่อดอกไม้พระราชทานในแจกันทรงสูงนั้นแม้จะร่วงโรยแห้งเหี่ยวไปตามกาลเวลา แต่เขาก็เก็บไว้เหนือหัวนอนตราบจนวันนี้

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" สีเทา

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" ดอกไม้พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"ว่าที่ร.ต.ดิลก ศิริวัลลภ"ความประทับใจของล่ามมลายูส่วนพระองค์

ว่าที่ร.ท.ดิลก ศิริวัลลภ ชาวไทยเชื้อสายมุสลิม อดีตล่ามประจำอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส ผู้กลายมาเป็นล่ามส่วนพระองค์ที่ถวายงานแปลภาษามลายูให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีมายาวนานกว่า 40 ปี

ว่าที่ร.ท.ดิลก เล่าว่า ปีพ.ศ.2519 ขณะดำรงตำแหน่งล่ามภาษามลายูประจำอำเภอตากใบ ในหลวงและพระราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จึงได้มีโอกาสถวายงานรับใช้พระองค์ท่านเป็นครั้งแรกในชีวิต

"พระบารมีของพระองค์ท่านสูงมาก เรามองพระพักตร์ท่านไม่ได้เลย เวลากราบบังคมทูลอะไรต่างๆก็ต้องก้มมองต่ำๆ มันวิตกกังวลต่างๆนานา  กลัวแปลผิด กลัวถูกลงโทษ แต่ด้วยความที่เราเกิดและโตที่ที่จึงรับรู้ปัญหาต่างๆ สามารถตอบได้อย่างฉาดฉานเวลาพระองค์ท่านตรัสถาม พระองค์ท่านตรัสภาษามลายูได้ ทรงฟังออกเป็นบางคำ จึงทรงเข้าใจในสิ่งที่ชาวบ้านพูด พระองค์ท่านทรงเมตตา ไม่ถือพระองค์ พูดผิดไม่เป็นไร จะทรงตั้งใจฟังทุกคำอย่างอดทน วิธีการของผมคือ จะไม่แปลโดยทันที เมื่อในหลวงทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชาวบ้าน เราก็ปล่อยให้สนทนากันไป ถ้าสื่อสารกันรู้เรื่อง เราก็ปล่อยให้ชาวบ้านเขาพูด แล้วค่อยเสริมให้ในบางประโยค แต่ต้องไม่ไปขัดระหว่างที่มีพระราชปฏิสันถาร งานนี้ต้องรู้เขารู้เรา

หลังจากถวายงานครั้งนั้น สมเด็จพระราชินีส่งชักชวนให้เป็นล่ามส่วนพระองค์ เพื่อตามเสด็จไปในท้องที่อื่นๆ พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่า 'ในบางพื้นที่ไม่มีล่าม ฉันอยากจะขอให้คุณดิลกช่วยเป็นล่ามติดตามไปในท้องที่อื่นๆด้วยจะได้ไหม' ผมตอบว่า 'ด้วยความเต็มใจพระเจ้าข้า' แต่ต้องขออนุญาตนายอำเภอก่อน นายอำเภอเมื่อได้ยินดังนั้นก็กราบบังคมทูลตอบเสียงดังฟังชัดว่า 'อนุญาตพระเจ้าข้า'"น้ำเสียงของเขากลั้่วหัวเราะ

การถวายงานล่ามส่วนพระองค์ทำให้เขาทราบถึงหลักเกณฑ์ในการเลือกชาวบ้านที่จะได้เข้าเฝ้าฯ นอกจากตรวจสอบประวัติ รายละเอียดต่างๆแล้ว คนที่จะเข้าเฝ้าฯนั้นต้องวีไอพีจริงๆ แต่วีไอพีในที่นี้หมายถึงชาวบ้านที่เดือดร้อน ยากจนมาก ลำบากจริงๆ ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

ในฐานะล่ามส่วนพระองค์ เขาบอกว่าแม้ในหลวงจะทรงมีพระราชภารกิจหนักหนาแค่ไหน ก็ยังทรงเปี่ยมด้วยพระราชอารมณ์ขัน

"วันไหนพระองค์ท่านทรงงานหนัก ท่านจะตรัสเป็นภาษามลายูว่า วันนี้ ซาเก๊ะกาปาลอจริงๆ แล้วทรงชี้ไปที่พระเศียร หรือบางทีก็ตรัสว่า ปือนิงกาปาลอ แล้วก็ลูบพระนาภี สองคำนี้แปลว่าปวดหัว ปวดท้อง อุปกรณ์การปฏิบัติพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ของในหลวงที่เห็นเป็นประจำคือ  ดินสอ กล้องถ่ายรูป วิทยุสื่อสาร สมุดจด แผนที่ เท่านี้ก็ออกทรงงานได้แล้ว เรื่องการกินอื่นๆก็ทรงไม่มีพิธีรีตองอะไรมากมาย"

กว่า 40 ปีของการถวายงานล่ามส่วนพระองค์อย่างใกล้ชิด ไม่เพียงเฉพาะจะชนะใจชาวมุสลิมผู้นี้คนเดียวเท่านั้น หากแต่ยังชนะใจพี่น้องชาวมุสลิมไทยทั้งแผ่นดิน

"เดิมทีเมื่อครั้งพระองค์เสด็จมาใหม่ๆ พวกชาวบ้านจะเรียกว่า รายอซีแย หมายถึง พระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งคล้ายๆกับชาวต่างประเทศที่ดูห่างเหิน แต่กาลเวลาผ่านมากว่า 60 ปี พระองค์ท่านได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของคนไทยทั้งปวง ภายหลังชาวไทยมุสลิมเรียกในหลวงว่า รายอกีตอ เรียกสมเด็จพระราชินีว่า ประไหมสุหรีกีตอ ซึ่งแปลว่า ในหลวงของเรา และพระราชินีของเรา การที่พวกเขาเรียกเช่นนี้ย่อมหมายถึงความไว้วางใจ เคารพรัก ศรัทธา และจงรักภักดี สิ่งเหล่านี้ซื้อไม่ได้ด้วยเงินตรา และสร้างขึ้นมาไม่ได้ด้วยวัตถุ"

จวบจนถึงวันนี้ไม่ว่าไทยพุทธ ไทยมุสลิมจะมีคำกล่าวถึงในหลวงเหมือนกันโดยไม่แบ่งแยกว่า  

"กีตอกาเซะ รายอกีตอ .... ในหลวงของเรา เรารักในหลวงของเรา"

หมายเหตุ-ข้อมูลจากนิตยสารฅ.คน ฉบับที่ 14 เดือนธันวาคม พ.ศ.2549

ครั้งหนึ่งในชีวิต ...เมื่อ\"สามัญชน\"ได้เข้าเฝ้าฯ\"ในหลวง\" ว่าที่ ร.ท.ดิลก ศิริวัลลภ ขณะทำหน้าที่ล่ามประจำพระองค์