"ไม่แปลกที่เด็กรุ่นผมจะรักท่าน" ความทรงจำถึง "ในหลวง" ของเด็กรุ่นใหม่
เมื่อเด็กรุ่นใหม่สะท้อนภาพจำถึง "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช"
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
ในห้วงความทรงจำถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของคนรุ่นอายุก้าวผ่านเลข 3 นำหน้าไปนั้น มักปรากฏแจ่มชัดในเรื่องของพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนที่หลายคนต่างได้รับชมผ่านข่าวพระราชสำนักทางสถานีโทรทัศน์ในช่วง 20.00 น. ของทุกวัน
สิ่งที่น่าสนใจคือแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ข่าวเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระองค์จะลดลง เนื่องจากทรงมีพระอาการประชวร แต่ในความทรงจำของเด็กรุ่นใหม่ที่พึ่งก้าวผ่านอายุที่มีเลข 1 นำหน้ามาไม่นานกลับยังคงเต็มไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ที่ยังคงตราตรึงในหัวใจไม่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน
เรียนรู้จากธนบัตร ปฏิทิน และข่าวสาร
มะปราง ประทุม สาวน้อยวัย 17 ปี บอกว่า ภาพแรกที่ทำให้รู้จักในหลวงรัชกาลที่9 คือ "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง" ที่พบเห็นจากหนังสือแบบเรียน สื่อแขนงต่างๆ โดยเฉพาะธนบัตรหนึ่งพันบาทที่ให้บทเรียนแก่เธออย่างมาก
"ในธนบัตรหนึ่งพันบาท มีทั้งพระราชดำรัส และโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ แบงค์พันเป็นแบงค์ใหญ่ที่สุด การจะใช้จ่ายเงินทองออกไปสมควรจะคิดให้รอบคอบก่อนที่จะใช้ หลายคนเคยได้ยินประโยคที่ว่า คนส่วนมากรู้มูลค่าของมัน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้คุณค่าของธนบัตรนี้ เรามองแล้วก็เกิดความตระหนัก"
มะปราง มองว่า ในหลวงทรงเป็น "นักพัฒนา" เมื่อมองโครงการพระราชดำริต่างๆ เช่น โครงแก้มลิง เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โครงการหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม พระองค์ท่านทรงแสดงให้เห็นว่า โครงการเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้จริง
ขณะที่ ณัฐธินี จุลกะโสภณ วัย 17 ปี เรียนรู้เรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านข่าวพระราชสำนัก ปฏิทินข้างฝาบ้าน และหนังสือ
"เห็นภาพในหลวงครั้งแรกจากปฏิทิน พ่อแม่บอกว่านี่คือ พระเจ้าอยู่หัว พอโตมาก็ได้รู้จักในหลวงมากขึ้นผ่านหนังสือเรียนและข่าวพระราชสำนักในโทรทัศน์ ที่จำได้แม่นยำคือ นิทานเรื่องคุณทองแดงที่ให้บทเรียนการรู้คุณค่าความดีงามของสิ่งมีชีวิตที่หลายคนอาจมองว่าไร้ค่า แต่กลับมีหัวใจที่สูงส่งจากความซื่อสัตย์ต่อผู้มีพระคุณ"
ชยาภรณ์ - ณัฐธินี - มาริสา - มะปราง
มาริสา ธงชัย และ ชยาภรณ์ ปราบพาล บอกเป็นเสียงเดียวว่า ภาพจำถึงในหลวงที่ยึดเป็นแบบอย่างเสมอก็คือ "การประหยัดอดออม"
"ในหลวงเป็นเเบบอย่างของความประหยัดและใช้ประโยชน์จากสิ่งของได้อย่างประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ภาพหลอดยาสีพระทนต์ พระองค์ท่านใช้จนเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ เพราะทรงใช้ด้ามแปรงสีฟันรีด กดเพื่อให้ได้ยาสีฟันจนเกลี้ยงหลอดนั่นเอง"
มาริสา บอกว่า เธอเลือกใช้กระปุกออมสินที่มีพระบรมฉายาลักษณ์อยู่บนกระปุกมานานหลายปี เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ พร้อมสัญญากับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า ถ้าไม่เต็มจะไม่แกะออกไปใช้เป็นอันเด็ดขาด
ขณะที่ ชยาภรณ์ กล่าวเสริมว่า 17 ปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เติบโตในช่วงที่พระองค์ท่านทรงงานหนัก แต่เรื่องราวต่างๆที่ถูกบอกเล่าส่งต่อกันมาก็ชัดเจนแล้วว่าพระองค์มีความสำคัญกับประเทศชาติและโลกใบนี้มากแค่ไหน
คมกฤตย์ นันทา
เกิดไม่ทัน แต่เรียนรู้ได้ถึงความเสียสละ
ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 หรือสิบปีที่แล้ว ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี คมกฤตย์ นันทา เด็กน้อยวัย 4 ขวบได้จดจำภาพแห่งความประทับใจเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันเขาอายุ 14 ปี เป็นลูกเสือจิตอาสาดูแลการจราจรบริเวณสนามหลวง คมกฤตย์ เล่าว่า วันนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ทรงโบกพระหัตถ์พร้อมทรงแย้มพระโอษฐ์นั้น ถึงแม้ยังไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวของพระองค์มากนัก แต่พระพักตร์และเสียงทรงพระเจริญที่ดังกึกก้องของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีวันลืม
"ผมยังเด็กมาก โชคดีจริงๆที่ได้มารับเสด็จ กลายเป็นภาพจำของในหลวงครั้งแรก ผมไม่ได้เกิดมาในช่วงที่ในหลวงทรงงานหนักตามพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ก็ได้รับรู้จากการเล่าสู่กันฟังของพ่อแม่ เรื่องราวของท่านสะท้อนให้เห็นว่า ท่านห่วงใยประชาชนทุกคนเสมอ"
คมกฤตย์ บอกว่า คำสอนของพระองค์ที่ยึดมาใช้ในชีวิตประจำวัน คือ มีภูมิคุ้มกันในตัว และยึดความประหยัด พอประมาณ ในการดำรงชีวิต
ปรมัตถ์ วรรธนะพินทุ จิตอาสาทำดีเพื่อพ่อหลวง วัย 18 บอกว่า ถึงแม้จะมีความเชื่อมโยงกับในหลวงน้อยกว่าผู้ใหญ่หลายท่าน แต่การศึกษาตั้งแต่เด็กก็ทำให้ได้ซึบซับเรื่องราวพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อันแสดงให้เห็นถึงความเสียสละ มิรู้จักเหน็ดเหนื่อยของพระองค์
“พระองค์ทำเพื่อคนไทยมาเยอะมาก โครงการต่างๆ อย่าง ฝนหลวง แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ ล้วนแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวไทยดีขึ้น แค่นี้ผมก็เห็นแล้วว่าท่านทำเพื่อเรา ศึกษาเพื่อเราเสมอ ไม่แปลกที่เด็กอย่างผมจะรักท่าน”
หนุ่มวัย 18 ปี บอกว่า ภาพประชาชนโดยเฉพาะแม่ของตัวเองร้องไห้ด้วยความโศกเศร้าเสียใจ หลังทราบข่าวการสวรรคตของพระองค์ท่านผ่านโทรทัศน์เมื่อค่ำวันที่ 13 ต.ค. นั้นสะเทือนใจอย่างมาก ซึ่งน้ำตาเป็นเครื่องบ่งบอกความสำคัญของพระองค์ท่านได้อย่างชัดเจน
ปรมัตถ์ วรรธนะพินทุ
พระองค์จะอยู่ในใจเราตราบนานเท่านาน
“ให้คิดเสมอว่า ในหลวง ไม่ได้จากไปไหน พระองค์ยังอยู่ในใจเราตราบนานเท่านาน ในพื้นดิน น้ำ และอากาศ ทุกๆ อย่างที่พระองค์ท่านได้ทำไว้เพื่อเราพวกเราทุกคน” คำพูดจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับความคิดเด็กรุ่นใหม่หลายราย ที่มองว่า เสียใจได้แต่ต้องไม่ลืมทำหน้าที่ตามคำสอนของพ่อ
จุฑามาศ นิจประพันธ์ อายุ 23 ปี บอกว่า เธอและครอบครัวเสียใจต่อการสวรรคตของพระองค์ แต่อีกด้านหนึ่งเชื่อว่าถึงเวลาที่ท่านได้พักแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรพระองค์จะยังคงอยู่ในจิตใจชาวไทย พร้อมกับได้รับการจดจำและสักการะต่อไปตลอดกาล
“พระองค์เป็นตัวแทนของความรัก เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในทุกขณะของการกระทำ พวกเราควรยึดพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ ลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยกันสร้างสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนับเป็นการแสดงความจงรักภักดีเช่นกัน”
พัชรพร องค์สรณะคมกุล อายุ 20 ปี บอกว่า ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ท่านทรงงานหนักและแบกรับภาระมามาก ไม่มีใครหลีกหนีการสูญเสียได้ สิ่งที่คนมีชีวิตควรปฎิบัติและรักษาให้เป็นความต่อเนื่อง คือ ช่วยกันทำความดี สร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม
“ท่านเป็นผู้เสียสละ ทำงานหนัก ชนิดที่ว่าพ่อแม่บางคนยังทุ่มเท่เพื่อลูกแท้ๆ ไม่ได้เพียงนี้ ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะได้พักบ้าง ท่านไกด์พวกเรามาทั้งชีวิต แต่บางคนฟังหูซ้าย ทะลุหูขวา ไม่ได้นำเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พึ่งจะมาสำนึกเมื่อตอนท่านไม่อยู่ ส่วนตัวสงสัยว่า ทำไมตอนที่ท่านอยู่ไม่ทำให้ท่านสบายใจ”
พัชรพร บอกว่า ในหลวงทรงพระราชทานสิ่งที่มีคุณค่าไว้เเก่ประเทศไทย ถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลงน้ำตาให้เกิดสิ่งงดงามเป็นรูปธรรมเสียที
เสียงสะท้อนจากพวกเขาและเธอ ในฐานะเด็กรุ่นใหม่ทำให้เราได้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าให้เป็นพลังแห่งการเดินตามรอยพระยุคลบาท ร่วมสร้าง พัฒนาสังคมให้เต็มไปด้วยพลเมืองที่มีคุณภาพ