posttoday

เพียงสิทธิ์พื้นฐานความเป็นมนุษย์ เสียงร้องขอของแรงงานต่างด้าว

09 กุมภาพันธ์ 2560

เรื่อง กันติพิชญ์ ใจบุญ

เรื่อง กันติพิชญ์ ใจบุญ

จำนวนแรงงานต่างด้าวในจ.ภูเก็ตที่มีมากกว่า 3 แสนคน กว่า 80% ของจำนวนดังกล่าวเป็นแรงงานพม่าที่เข้ามาใช้แรงงานแลกเงินตรา แต่ระหว่างการทำงานนี้ พวกเขากำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการคลอดบุตรที่ดูเหมือนพวกเขาเหล่านี้จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐบาลไทย

สิ่งที่ยึดถือว่า การรักษาอาการเจ็บป่วยต้องมาก่อนเรื่องเงินทอง อาจจะใช้ไม่ได้ทั้งหมด และสิ่งที่สะท้อนออกมาในหลักมนุษยธรรมด้านการรักษาพยาบาลในจ.ภูเก็ต ของโรงพยาบาลภาครัฐในบางแห่ง ชั่วยามนี้กำลังถูกตั้งคำถาม

แต่สิ่งใดกันที่โรงพยาบาลไม่อาจจะช่วยเหลือได้ หรือสิทธิ์ของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าว อาจไม่ได้ครอบคลุมจักรวาลอย่างที่พวกเขาเข้าใจ

ต่อจากนี้คือเสียงสะท้อนของพื้นที่จ.ภูเก็ต ที่ถูกขนานนามว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน และเป็นเมืองใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ แต่อีกด้านพลังกายจากแรงงานต่างด้าว เมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา เขาก็้ต้องการสิทธิ์อันพึงได้ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยเช่นกัน รวมถึงอีกด้านของเสียงจากโรงพยาบาลที่สะท้อนเรื่องดังกล่าวได้ชัดแจ้งไม่ต่างกัน

แรงงานคลอดลูก ปัญหาเกิดทันที

เพียงสิทธิ์พื้นฐานความเป็นมนุษย์ เสียงร้องขอของแรงงานต่างด้าว

 

สุมนา ภักบุลวัชร ผู้ประสานงานภาคสนาม ศูนย์พัฒนาสังคม มูลนิธิคาทอลิคสุราษฎร์ธานี (สาขาภูเก็ต) สะท้อนปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะชาวพม่าซึ่งมาเป็นแรงงานในจ.ภูเก็ตมากถึงกว่า 3 แสนคน ว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โรงพยาบาลใน จ.ภูเก็ต ไม่ขายบัตรประกันสุขภาพแก่แรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือแรงงานที่มีบัตรประกันสุขภาพอยู่แล้ว หากพบว่าตั้งครรภ์ ก็จะไม่ต่ออายุบัตรประกันสุขภาพให้ และเมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว ก็ไม่สามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลไม่เกิน 28 วันของแม่ได้ อีกทั้งไม่ขายบัตรประกันสุขภาพแก่เด็กเหล่านี้ด้วย

กล่าวคือ แต่เดิมก่อนปี 2558  แรงงานต่างด้าวที่ตั้งครรภ์และซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไว้แล้ว เมื่อคลอดบุตร บุตรสามารถใช้สิทธิการรักษาของแม่ได้เป็นเวลาไม่เกิน 28 วัน หลังจากนั้นทางโรงพยาบาลต้องขายบัตรประกันสุขภาพให้แก่เด็กรายละ 365 บาท แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่ใช่รูปแบบที่กล่าวถึงนี้

“เคยถามไปยังโรงพยาบาลของรัฐ เขาก็ตอบกลับมาว่าเพราะขาดทุน ขายให้ไม่ได้ ขณะเดียวกันเสียงจากการหารือกับหน่วยงานรัฐในหลายๆ ครั้ง ก็ได้รับคำตอบในทิศทางเดียวกันว่า ต้องการแรงงาน ไม่ได้ต้องการให้แรงงานมาคลอดลูก เพราะรับภาวะกันไม่ไหว” สุมนา กล่าว

ผลพวงดังกล่าวจากแนวปฏิบัติของภาครัฐที่กำหนดมาเช่นนี้ สุมนา ฉายภาพว่า เป็นการสร้างปัญหาที่ตามมา เพราะแรงงานต่างด้าวต้องจ่ายค่าทำคลอดและค่ารักษาต่างๆเอง 100% สิ่งที่พบคือเมื่อเด็กคลอดแล้วมีร่างกายไม่แข็งแรง น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ตัวเหลือง ก็ต้องเข้าตู้อบหรือทำการรักษาเพิ่มเติม ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง และเกิดปัญหาเด็กถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลเนื่องจากพ่อแม่ไม่มีเงินมาจ่าย กลัวว่าหากไม่จ่ายแล้วจะถูกยึดพาสปอร์ตหรือถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง

ทั้งนี้ เด็กที่ถูกทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล หากตามตัวพ่อแม่ไม่พบ จะมีปัญหาไม่สามารถแจ้งสัญชาติเกิดได้ แม้จะถูกส่งตัวไปสถานสงเคราะห์แต่ก็เลี้ยงได้แต่ตัว แต่ไม่สามารถหาพ่อแม่บุญธรรมให้ได้เพราะไม่มีสถานะตามกฎหมาย เด็กก็จะเติบโตมาในประเทศไทยแบบคนไร้สัญชาติ และจะกลับประเทศต้นทางก็ไม่ได้อีก

นอกจากปัญหาการคลอดบุตรแล้ว สุมนา ยังเผยว่า พบปัญหาว่าโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งเรียกเก็บเอกสารจากนายจ้าง เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อนำไปประกอบขอใบรับรองการเกิดของบุตรแรงงานต่างด้าว ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายแล้วไม่จำเป็นจะต้องใช้เอกสารของนายจ้างแต่อย่างใด

“ในอดีตมีคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปเรียกเก็บค่าขอใบรับรองการเกิดบุตรแรงงานต่างด้าว ทำให้โรงพยาบาลต้องเรียกขอเอกสารของนายจ้างเพื่อยืนยันด้วย ซึ่งนายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องให้เพราะไม่เกี่ยวข้อง ผลตรงนี้ทำให้เด็กบางส่วนขอใบรับรองการเกิดจากโรงพยาบาลไม่ได้” สุมนา ย้ำ

ปัจจุบัน มีเด็กที่ไม่ได้รับการรับรองการเกิดในจ.ภูเก็ตมากถึงกว่า 100 คน ทำให้เด็กเหล่านี้ไม่มีสถานะบุคคล และเติบโตอย่างคนไร้สัญชาติ และจะกลับประเทศของพ่อและแม่ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่าเด็กเหล่านี้เป็นใคร มีรากเหง้ามากจากไหน

“การคลอดบุตรเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แรงงานส่วนใหญ่ก็อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ แต่ถามแรงงานว่าอยากมีลูกหรือไม่ คำตอบคือไม่อยากมี แต่มีเพราะพลาด เพราะเขายังขาดความรู้ด้านคุมกำเนิด” สุมนา ทิ้งท้าย


นายจ้างหวั่นแรงงานหาย ธุรกิจเสี่ยงเจ๊ง และรัฐต้องเหลียวมอง

 

เพียงสิทธิ์พื้นฐานความเป็นมนุษย์ เสียงร้องขอของแรงงานต่างด้าว


วิระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการรับเหมาจังหวัดภูเก็ต
สะท้อนปัญหาของแรงงานต่างชาติว่า ภูเก็ตถือเป็นพื้นที่ที่ต้องเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในงานก่อสร้างแล้ว แรงงานคนไทยแทบจะไม่มี กลุ่มผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างชาติเป็นหลักในการทำงาน แต่ด้วยแรงงานข้ามชาติสำหรับขั้นตอนการขออนญาตก็มีความยุ่งยาก เพราะข้อกฎหมายที่ยิบย่อยทำให้ระบบการทำงานของผุ้ประกอบการได้รับแรงสะเทือนไปไม่น้อย

“ในเรื่องของสุขภาพแรงงาน ปกติแล้ว นายจ้างก็จะช่วยดูแลในทุกคน และดูแลดีในระดับหนึ่ง เพราะพวกเขาคือกำลังสำคัญในการทำงาน เรื่องการคลอดบุตรของแรงงานเองก็เช่นกัน ถ้าค่าใช้จ่ายไม่พอ หรือใช้สิทธิ์ไม่ได้ นายจ้างก็จะช่วยเหลือ หรือให้เงินไปทำคลอดเลย เราไม่ได้ใจดำขนาดนั้น” วิระชัย แจงเรื่องการดูแลแรงงานข้ามชาติ

แต่สิ่งที่วิระชัยกังวล และเพื่อนสมาชิกในชมรมก็เล็งเห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยเช่นกัน คำตอบนั้นคือการขาดแคลนแรงงาน โดยแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้จะกลับถิ่นฐานอย่างแน่นอนในระยะเวลาไม่เกินอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะด้วยทุกวันนี้เมียนมาร์กำลังพัฒนาประเทศอย่างหนัก แรงงานก็เห็นช่องทาง เห็นงาน และแน่นอนว่าได้อยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิด และแรงงานจะเลือกกลับถิ่นฐาน เมื่อถึงเวลานั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยก็เตรียมตัวเข้าสู่ภาวะ “เจ๊ง” ในธุรกิจของตัวเองได้เลย

วิระชัย เสริมเรื่องนี้ว่า คนไทยทำงานแรงงานเพียงแค่ 1% เท่านั้น ร้านค้าทุกแห่งก็ใช้แรงงานต่างด้าวในการขับเคลื่อน ผลกระทบหากแรงงานกลับถิ่นฐาน ผลกระทบจะไม่ได้ตกอยู่แค่ที่ภูเก็ต แต่ปัญหาจะครอบคลุมไปทั้งประเทศ

“ผมไม่รู้ว่ารัฐเห็นปัญหานี้หรือไม่ หรือประเมินสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานเอาไว้อย่างไร ทราบว่าจะมีการทำบันทึกความร่วมมือกับเมียนมาร์ แต่ค่าใช้จ่ายในการนำแรงงานเข้ามาทำงานก็จะสูงขึ้น นายจ้างจะต้องแบกรับภาระเรื่องนี้ รวมถึงค่าแรงก็จะสูงขึ้น และที่สำคัญคือไม่ได้มีการประกันว่าจะได้แรงงานที่มีทักษะตรงกับสายการทำงานที่ต้องการ เพราะบางคนไม่รู้จักจอบ ไม่รู้จักอุปกรณ์ ก็ขอค่าแรงแล้ว 350 บาทต่อวัน”

เมื่อวกมาคุยกันเรื่องค่าแรงของแรงงานต่างชาติในจ.ภูเก็ต วิระชัย บอกถึงเรื่องนี้ด้วยความคุ้นชิน เขายกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบการในภูเก็ตไม่ได้ตื่นเต้นกับข่าวนี้มากนัก เพราะด้วยความจริง ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าแรงในราคา 400-500 บาทต่อวันอยู่แล้ว มันคือราคาที่ต้องจ่ายให้กับแรงงานทุกวัน และสูงกว่าที่รัฐบาลกำหนดไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เรื่องค่าแรงที่สูงกว่าปกติถือว่าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่เรื่องที่ต้องมุ่งเน้นสำหรับผู้ประกอบการรับเหมาในจ.ภูเก็ต คือการอยากให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพได้ใส่ใจกับกลุ่มแรงงานต่างชาติ เพราะกลุ่มแรงงานเหล่านี้คือกำลังสำคัญที่เข้ามาพัฒนาประเทศไทย เมื่อพวกเขาได้สิทธิ์ในการซื้อบัตรประกันสุขภาพประจำปี ที่ใช้จ่ายซื้อไปปีละนับร้อยล้านบาท เราก็ต้องเข้าใจและให้เขาได้รับการรักษาสุขภาพ เพราะอีกมุมก็เหมือนกลุ่มแรงงานต่างชาติก็เข้ามาอุดหนุนบ้านเราด้วยเช่นกัน

ไม่ต่างจากภาณุวัฒน์ พงเพ็ชร รองประธานชมรมผู้ประกอบการรับเหมาจังหวัดภูเก็ต เสริมวิระชัยว่า ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกวันนี้ประเทศไทยเองก็รับแรงงานเถื่อนเข้ามาทำงานจำนวนไม่น้อย แต่ชมรมฯ จะรณรงค์เป็นประจำเพื่อให้นายจ้างใช้แรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่สิ่งที่จะแก้ปัญหาด้านแรงงานได้คือการสร้างความรู้ที่แท้จริงให้กับแรงงานข้ามชาติในทักษะที่เหมาะสมกับการทำงาน เพราะทุกวันนี้แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานก็ไม่มีความรู้ โดยเฉพาะด้านการช่าง

“นายจ้างก็ใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ ขณะที่ก็ต้องยอมจ่ายค่าแรงอย่างสูงเพราะแรงงานหายากแล้ว และต้องมาฝึกทักษะในวิชาชีพช่างให้ด้วย”

ภาณุวัฒน์ เสริมเรื่องการดูแลสุขภาพแรงงานในประเด็นการคลอดบุตรย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าห้ามไม่ได้แน่นอนกับเรื่องมีลูก ตั้งท้อง เพราะเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ในมุมของนายจ้างเมื่อลูกจ้างตั้งท้อง ก็หมายความว่าการสูญเสียแรงงานไปแล้ว และเมื่อคลอดออกมาก็ต้องดูแลลูกของแรงงานด้วย อีกทั้งบางพื้นที่พักอาศัยก็ไม่เหมาะสมที่จะเลี้ยงดูลูก

"แต่ทั้งนี้ไม่ว่าคนชาติไหนก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน ผมจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาใส่ใจเรื่องนี้ในเรื่องของสุขภาพแรงงานข้ามชาติ เพราะถ้าแรงงานสุขภาพดี ก็จะทำงานได้ นายจ้างก็ได้ทำงานสำเร็จ ระบบเศรษฐกิจก็พัฒนา เริ่มต้นดี ปลายทางก็จะดีตาม” ภาณุวัฒน์ แสดงความเห็น

ลำบาก และวิตก แรงงานร้องขอสิทธิ์รักษา

หากถามถึงว่าครอบครัวแรงงานต่างด้าวได้รับผลกระทบอย่างไรเกี่ยวกับบัตรประกันสุขภาพ ที่มีก็เหมือนจะไม่ได้ใช้ คำตอบผ่านครอบครัวแรงงานพม่า สามชีวิตพ่อแม่ลูกให้คำตอบถึงผลกระทบที่ว่าอย่างน่าสนใจ

ยี แรงงานสาวชาวพม่า พร้อมด้วยชาย แรงงานหนุ่มจากประเทศเดียวกัน มาพร้อมกับลูกสาวตัวน้อยในวัย 3 ขวบ ที่เกิดในประเทศไทย ยีและชายมีบัตรประกันสุขภาพ แต่ล่าสุดก็ไม่ได้รับการต่ออายุบัตร ขณะที่ลูกสาวเธอก็ไม่ได้สิทธิ์ซื้อบัตรประกันสุขภาพในฐานะคนในครอบครัวด้วยเช่นกัน ส่ิงนี้ทำให้สองพ่อแม่ชาวพม่าวิตกอย่างหนัก เพราะในอนาคตไม่รู้ได้เลยว่าลูกสาวตัวน้อยของเธอจะเจ็บป่วยรุนแรงบ้างหรือไม่ และเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ จะต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงินเท่าไหร่กัน

“ลูกสาวทำบัตรประกันสุขภาพไม่ได้ แม้ตอนนี้เขายังแข็งแรงดีอยู่ วิ่งเล่นได้ตามปกติ เป็นเด็กร่าเริง แต่เรื่องสุขภาพของลูกสาวก็ไม่รู้จะมาเมื่อไหร่ ค่อนข้างกังวลกับตรงนี้ อยากให้โรงพยาบาลรัฐในภูเก็ตช่วยขายบัตรประกันสุขภาพให้หน่อย” ยี เล่า

เมื่อคลอดลูกสาวตัวน้อย ยีใช้สิทธิ์บัตรประกันสุขภาพที่เธอมีอยู่ ซึ่งตามระเบียบตามที่เธอเข้าใจ คือบัตรดังกล่าวสามารถครอบคลุมการทำคลอดได้ แต่เมื่อถึงห้องคลอด ที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ของเธอแจ้งว่าจะต้องมีค่าทำคลอดอีก 6,000 บาท โชคดีที่เธอและสามีมีเงินเก็บเอาไว้ จึงนำมาใช้จ่ายในส่วนนี้

ยี เล่าว่า แต่เมื่อหลังคลอดลูกสาวมา โรงพยาบาลกลับไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้กับลูกสาวเธอ รวมถึงไม่ต่อบัตรประกันสุขภาพของเธอและของสามีด้วย เมื่อสอบถามผ่านทางล่าม โรงพยาบาลแจ้งว่าเพราะเด็กยังไม่ครบกำหนดอายุขายบัตรให้ได้คือ 18 ปีขึ้นไป แต่ระเบียบที่เธอทราบมา โรงพยาบาลสามารถทำบัตรให้เด็กที่เพิ่งคลอดได้ ด้วยราคาปีละ 365 บาท และหวังจากบัตรนี้เพราะลูกยังเล็ก เจ็บป่วยจะได้มีสิทธิ์ในการรักษา

รายรับค่าแรงของสองสามีภรรยาชาวเมียนมาร์ ทำหน้าที่ขายของให้กับนายจ้างที่ตลาดแห่งหนึ่ง มีรายได้ต่อวันรวมกันที่ 800 บาท บางส่วนเก็บหอมรอมริบเอาไว้ส่งกลับบ้านเกิดประเทศพม่าเดือนละ 6,000 บาท อีกส่วนหนึ่งเป็นค่ากินใช้ขณะเป็นแรงงานอยู่ที่จ.ภูเก็ต

“ต่อไปคงส่งลูกสาวกลับพม่าเพื่อให้ตายายช่วยเลี้ยง อีกอย่างการค่ารักษาพยาบาลที่พม่าถูกกว่าที่ประเทศไทย ก็ต้องจำใจจากลูกเพราะจำเป็นจริงๆ เราสู้ค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่นี่ไม่ไหว” ยี เล่า

อีกด้านจากครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นแรงงานชาวพม่าด้วยเช่นกัน หญิงสาวชื่อ อายีกำลังตั้งครรภ์ 8 เดือน อีกไม่นานก็จะครบกำหนดทำคลอด ซึ่งโรงพยาบาลรัฐแจ้งกับเธอว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายทำคลอดราว 2 หมื่นบาท สิ่งที่เธอทำได้คือต้องไปกู้เงินนอกระบบมา เพราะจากค่าแรงที่ได้รับรวมถึงค่าแรงของสามี ไม่เพียงพอที่จะทำคลอดได้

และสิ่งที่อายีและสามีกังวล คือเรื่องของบัตรประกันสุขภาพเช่นกัน กรณีของเธอก็ไม่ต่างจากแรงงานพม่ารายอื่นๆ ที่โรงพยาบาลปฏิเสธการขายบัตรประกันสุขภาพให้กับเธอ และเมื่อคลอดลูกมาแล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มเติมอีกบ้าง

“เขาแจ้งราคาค่าทำคลอดมา 2 หมื่นบาท ตอนนี้สามีทำงานคนเดียว มีรายได้เดือนละหมื่นบาทนิดๆ คงไม่พอจะไปทำคลอด จึงต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเป็นค่าคลอด ก็ต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน ก็ต้องยอมเพราะไม่มีหนทางจริงๆ” อายี เล่า พร้อมเปรียบเทียบจากกรณีที่คลอดลูกคนแรกที่ประเทศพม่า มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,800-2,000 บาท

เมื่อถามว่าทำไมถึงไม่กลับไปคลอดลูกที่ประเทศพม่า อายีให้คำตอบว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมความเชื่อของเธอ ที่หญิงท้องจะต้องอยู่ใกล้กับสามี และอยากให้สามีดูแลด้วย แต่อีกเรื่องที่สำคัญคือโรงพยาบาลในประเทศไทยมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่ครบครันมากว่าพม่า และเชื่อใจความปลอดภัยมากกว่า แม้ต้องแลกมาด้วยเงินที่หยิบยืมกู้มาก็ตาม

“แต่หลายครั้งก็เจอปัญหา เมื่อไปโรงพยาบาลก็ไม่รู้จะสื่อสารกับแพทย์ หรือพยาบาลอย่างไร เพราะเราก็ไม่รู้ภาษาไทย ล่ามก็ไม่มี บางครั้งเมื่อเจ็บป่วนก็ต้องจ้างล่ามไปโรงพยาบาลกับเรา ตรงนี้ก็มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย” อายี ย้ำถึงปัญหา

ยันสิทธิ์ขายบัตรประกันสุขภาพ รพ.ตัดสินใจเอง

 

เพียงสิทธิ์พื้นฐานความเป็นมนุษย์ เสียงร้องขอของแรงงานต่างด้าว

ดร.ประพรศรี นรินทร์รักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) กล่าวถึงเรื่องปัญหาด้านสุขภาพของแรงงานต่างชาติว่า ด้วยมนุษยธรรม แพทย์จะต้องรักษาผู้ป่วยก่อนเรื่องอื่นใดอยู่แล้ว และใครมาที่โรงพยาบาลเพราะเจ็บป่วย แพทย์ก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ โดยในพื้นที่จ.ภูเก็ตก็มีการดูแลกลุ่มแรงงานต่างด้าวอย่างทั่วถึงในทุกด้าน และจะต้องรายงานด้านสุขภาพของแรงงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตทราบในทุกๆ เดือน

“แต่ยอมรับว่าหลายโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่จ.ภูเก็ตจะมีปัญหาด้านบริการอยู่ โดยเ ฉพาะเรื่องการสื่อสารภาษาพม่า ซึ่งเราหาแทบไม่ได้ และต้องหาล่ามที่สื่อสารได้มาช่วย ซึ่งบางครั้งก็ได้ แต่บางครั้งก็ไม่ได้” ดร.ประพรศรี กล่าว

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีบัตรประกันสุขภาพของแรงงานต่างด้าวนั้น หากเป็นแรงงานที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง ถูกกฎหมาย โรงพยาบาลของรัฐก็ต้องขายบัตรประกันสุขภาพให้อยู่แล้ว แต่ก็ยังมีช่องที่โรงพยาบาลไม่อาจขายให้แรงงานต่างด้าวได้ เพราะกฎระเบียบสามารถให้โรงพยาบาลใช้ดุลยพินิจในการขายบัตรประกันสุขภาพได้ด้วย

“ยกตัวอย่างกรณีที่ไม่สามารถขายบัตรประกันสุขภาพให้ได้ เกิดจากแพทย์ประเมินแล้วว่าอาการเจ็บป่วยของแรงงานอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงาน หรือการทำงานนั้นๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ท่ผ่านมาได้บูรณาการระบบบริการสุขภาพแรงงานต่างด้าวกับภาคส่วนต่างๆ ให้ได้ตามหลักมนุษยชน โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพและสร้างหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค รวมถึงฟื้นฟูสมรรถภาพ และการรักษาพยาบาล

ดร.ประพรศรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาในปี 2560 จ.ภูเก็ตได้ตรวจสุขภาพและจัดระบบหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวรวมทั้งสิ้น 7.2 หมื่นราย รวมค่าใช้จ่ายที่บริการค่ารักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 94 ล้านบาท

“จำนวนนี้มีบริการรับฝากครรภ์และทำการคลอดร่วมด้วย 1,362 ราย และยังมีการจัดอบรมอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติพื่อให้ความรู้ดูแลสุขภาพตนเอง ครอบคลุมทุกอำเภอรวม 62 คน” ดร.ประพรศรี กล่าว

ทางออกที่ไม่ยาก และไม่ง่าย

 

เพียงสิทธิ์พื้นฐานความเป็นมนุษย์ เสียงร้องขอของแรงงานต่างด้าว


ขณะที่ฟากฝั่งของโรงพยาบาลของรัฐ หนึ่งในนั้นคือโรงพยาบาลป่าตอง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางสำคัญของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาภูเก็ต แรงงานต่างด้าว และคนไทยในพื้นที่ด้วยกันเอง

ปัญหาของแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลป่าตองได้ประสบมาบ้างหรือไม่ และคำตอบจาก นพ.ศิริชัย ศิลปอาชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง บอกเล่าถึงการรักษาสุขภาพแรงงานต่างด้าวไว้อย่างน่าสนใจว่า สำหรับการรักษาผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลป่าตอง ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนไทย คนในพื้นที่ หรือแม้แต่แรงงานต่างด้าว เรามีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด สถานที่เดียวกัน แพทย์คนเดียวกัน และจ่ายยาเหมือนกัน

และหากเป็นแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวพม่าจะมีล่ามประจำของโรงพยาบาลเพื่อช่วยเหลือในการสื่อสารระหว่างคนไข้และแพทย์ พยาบาล ขณะเดียวกันโรงพยาบาลป่าตองก็ส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ด้านภาษา และเร็วๆ นี้จะส่งไปอบรมภาษาจีนด้วย

“คนพม่าเข้ามารับบริการในปี 2559 สูงถึง 3,258 คน และหลากหลายปัญหาที่พบก็จะเป็นการทำงานผิดประเภท การเข้าไม่ถึงวัคซีนในเด็ก และบางส่วนเป็นแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย แต่เราก็ต้องรักษาเพราะไม่สามารถจะเลือกได้ คนเจ็บคนไข้มาหา อย่างไรก็ต้องรักษาให้การช่วยเหลือ”

นพ.ศิริชัย กล่าวว่า แต่แน่นอนว่าปัญหาด้านการเงินก็ต้องได้รับผลกระทบอยู่บ้าง โดยการรักษาแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ระหว่างปี 2558-2560 เกิดการสูญเสียด้านรายได้ทั้งส่วนของผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกรวมกว่า 1.4 ล้านบาท แต่โรงพยาบาลก็ชดเชยได้จากการเคลมประกันด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งโรงพยาบาลป่าตองเป็นโรงพยาบาลที่เรียกเก็บค่าประกันได้มากที่สุดในประเทศ

ในส่วนการส่งต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลรัฐทั้ง 3 แห่งในจ.ภูเก็ตนั้น ได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการรับและส่งต่อผู้ป่วย ทั้งในส่วนอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือการคลอดฉุกเฉิน ซึ่งแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าใช้บริการได้ และโรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากต้นทางตามบัตรประกันสุขภาพ แต่ก็จะมีเกณฑ์ในการเรียกเก็บตามหลักความยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม นพ.ศิริชัย ยอมรับว่า ยังพบปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มาคลอดบุตรและได้ทิ้งลูกเอาไว้ที่โรงพยาบาลอยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งคือไม่มีค่ารักษาพยาบาล ค่าทำคลอด หรือเกรงว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร

“แล้วแบบนี้จะให้โรงพยาบาลทำอย่างไร เพราะมีเด็กมาอยู่ด้วย หน่วยงานอื่นๆ หรือนายจ้างมาช่วยได้บ้างมั้ย โรงพยาบาลป่าตองก็ต้องรับไว้ ผมรับไว้ทุกเคส และดูแลให้หมด นโยบายของผมคือมีเงินเก็บเงิน ไม่มีเงินก็ต้องรักษา แต่หากไม่มีการชดเชยรายได้จากส่วนอื่นๆ ก็ยอมรับว่าอยู่ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้น ผมเห็นว่าควรมีหน่วยงานมาช่วยโรงพยาบาลบริหารจัดการด้วย”

“แต่กรณีที่ไม่รับเด็กก็มี เพราะบางครั้งที่มีคนนำเด็กมาให้เพราะพบเจอ เราก็รับไม่ได้ เพราะไม่สามารถยืนยันได้ว่าเด็กเป็นใคร ลูกเต้าเหล่าใคร หรือเด็กไม่มีเอกสาร แต่รูปแบบนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าตอง แนะแนวคิดอย่างหนึ่งที่น่าสนใจว่า อีกด้านรัฐบาลพม่าก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือจัดการแรงงานด้วย ไม่ใช่ว่าจะส่งแรงงานออกมาทำงานประเทศเราเพียงอย่างเดียว ด้านสุขภาพก็ปล่อยเป็นภาระของรัฐบาลไทย ซึ่งไม่ถูกต้อง นายจ้างเองก็เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ได้งานจากแรงงานแลกกับการจ่ายค่าจ้างเพียงน้อยนิด เมื่อแรงงานเจ็บป่วยก็โยนมาที่ภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ธุรกิจของพวกคุณเติบโตได้ ก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ผลักภาระมาอย่างเดียว อาจจะเป็นการตั้งกองทุนช่วยเหลือแรงงาน ลงขันกันคนละนิดละหน่อยให้มันเคลื่อนต่อไปได้ 

“ส่วนเรื่องบัตรประกันสุขภาพที่แรงงานต่างด้าวมีสิทธิ์จะซื้อในราคา 3,200 บาทในทุกๆ 2 ปี ผมบอกได้เลยว่าไม่มีประกันใดในโลกนี้หรอกที่จ่ายราคานี้แล้วจะครอบคลุมได้ทุกอย่าง บางคนถึงมีค่าคลอดเพิ่มเข้ามา ค่ายาต่างๆ เข้ามาอีก จะเข้าใจว่าครอบคลุมทั้งหมดคงไม่ได้ อีกอย่างคนไทยยังไม่ได้สิทธิ์แบบนี้ด้วยซ้ำไป แรงงานต่างด้าวบางคนย้ายถิ่นฐานทำงานก็ซื้อบัตรประกันสุขภาพอีกแห่งได้เลย ต่างจากคนไทยที่ต้องทำเรื่อง รอโอนย้ายสิทธิ์บัตรทอง คนไทยยังไม่ได้สิทธิ์นี้ด้วยซ้ำ” นพ.ศิริชัย ทิ้งท้าย