"ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย"เมื่อความสดสะท้อนความเสื่อมของสื่อไทย
ปรากฎการณ์ “ไลฟ์สดบนเฟซบุ๊ก” สะท้อนภาพลักษณ์สื่อไทยอย่างไรในสังคม
เรื่อง...พรพิรุณ ทองอินทร์
สังคมรุมประณามสื่อมวลชนอีกครั้ง...
หลังจากสื่อบางสำนักใช้โทรศัพท์มือถือ Live Facebook รายงานสดเหตุการณ์ชายวัย 65 ปีผูกคอเสียชีวิตบนเสาส่งสัญญาณ หลังประท้วงให้คสช.ยกเลิกมาตรา 44 กับวัดพระธรรมกายไม่เป็นผล ท่ามกลางสายตานับล้านคู่ของผู้คนในโลกออนไลน์ ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ด็อกเตอร์ราชภัฎใช้ปืนยิงตัวตาย โดยมีกล้องถ่ายทอดสดของสื่อหลายสำนัก เมื่อหลายเดือนก่อน
โศกนาฏกรรมครั้งนี้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่า การปฏิบัติหน้าที่อันละเมิดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนไทยยุคนี้อย่างไรบ้าง
Live Facebook เข้าถึงง่าย มีอิทธิพลมาก
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังจากการไลฟ์สดของกรณีดร.ราชภัฎ ได้มีการประชุมของคนทำงานสื่อ รวมถึงผู้ผลิตข่าวออนไลน์ต่างๆ เพื่อร่วมกันวางกฎกติกาในเรื่องของการไลฟ์สดว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ สาระสำคัญคือ หากมีสถานการณ์ที่แหล่งข่าวมีท่าทีว่าจะฆ่าตัวตาย ก็ไม่ควรที่จะมีการไลฟ์สด เพราะอาจเกิดภาพที่อุจาดไม่เหมาะสมออกสู่สายตาประชาชน
"เหตุการณ์ที่วัดพระธรรมกาย เห็นปรากฎการณ์อย่างหนึ่งคือ สื่อส่วนใหญ่หลบเลี่ยงที่จะนำเสนอการไลฟ์สด มีเพียงไม่กี่สื่อเท่านั้นที่นำเสนอ โดยส่วนตัวรู้สึกว่ามันไม่เหมาะสม เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คนแสดงความคิดเห็นด้วยอารมณ์ อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ยิ่งหากเกิดครอบครัวของผู้เสียชีวิตเห็นก็จะยิ่งก่อให้เกิดความสะเทือนใจได้ ดังนั้นสื่อมวลชนควรจะพึงระวังอย่างมากในการนำเสนอการไลฟ์สด ต้องผ่านการกลั่นกรองเป็นพิเศษ การไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ เมื่อก่อนจะไลฟ์สดผ่านโทรทัศน์ ยกกองไป
จำนวนมาก จะมีการเลือกว่าเหตุการณ์ใดควรจะนำเสนอ เหตุการณ์ใดไม่ควรนำเสนอ กลั่นกรองโดยบรรณาธิการ แต่ทุกวันนี้หลายเหตุการณ์ที่ไลฟ์สดจะมีนักข่าวไปไลฟ์สด นอกจากคนที่ตัดสินใจนำเสนอ ส่วนหนึ่งที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เลยคือ บรรณาธิการของข่าวนั้นๆ”
ดร.มานะ มองว่า แต่ละสำนักข่าวมีการแข่งขันกันดุเดือดอยู่แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ เรื่องยอดวิว การไลฟ์สดจึงมีอิทธิพลมาก ยิ่งในสถานการณ์ความรุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งควบคุมยาก
"การไลฟ์สดสามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆได้ก็จริง แต่ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่จะไลฟ์จะนำเสนออะไร ไม่จำเป็นต้องถ่ายมุมมองการฆ่าตัวตาย หรือลุ้นเพื่อจะให้เกิดการฆ่าตัวตาย แต่สามารถนำเสนอเรื่องราวหรือภาพอื่นๆที่สามารถสื่อถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เหมือนกัน โดยที่เนื้อหาหรือเหตุการณ์ไม่ได้บิดเบือนไป"
"การฆ่าตัวตาย"ไม่สมควรถ่ายทอดสดอยู่แล้ว
ผศ.ดร. พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า เฟซบุ๊กไลฟ์เป็นเทคโนโลยีใหม่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้เอง สื่อออนไลน์ก็พยายามที่จะทำให้มีคนติดตามมากที่สุด เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันสื่อเองก็อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ การเพิ่มจำนวนคนดู ยิ่งมีผู้ติดตามเยอะ ยอดวิวเยอะ เรทโฆษณาก็ยิ่งเยอะ ทำให้ฐานรายได้เพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.พิรงรอง กล่าวต่อว่า ประเด็นเนื้อหาที่ล่อแหลมอาจจะทำให้คนสนใจ เป็นความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นแบบผิดปกติ ในอีกแง่หนึ่งคือ สื่อคาดเดาได้อยู่แล้วว่าเขาขู่จะฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายก็เป็นอะไรที่ไม่สมควรจะถ่ายทอดสดอยู่แล้ว กรณีของลุงวัย 65 ที่วัดพระธรรมกายมีภาวะกดดันสูง เป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา เขาขู่ว่าจะฆ่าตัวตาย โอกาสและเปอร์เซ็นก็ค่อนข้างสูง จะปฏิเสธหรือเกาะติดสถานการณ์เพื่อนำเสนอความจริง ก็ต้องมีเส้นแบ่งของความเหมาะสม เส้นแบ่งของสิ่งที่สาธารณชนควรรับรู้ ประเด็นที่คาดเดาได้ว่ามีความเสี่ยงสูง มีผลกระทบต่างๆ ก็ไม่ควรนำเสนอเป็นข่าว
"มีไม่กี่สื่อที่ไลฟ์สดเรื่องนี้ ไม่ใช่สื่อไทยทั้งหมดที่ทำ สังคมไทยชอบเหมารวม สื่อมีความแตกต่างกันตั้งเยอะ มีสื่อกระแสหลัก สื่อกระแสรอง สื่อทางเลือก สื่อออนไลน์ จริงๆถ้าสื่อไหนทำผิดจริยธรรมในลักษณะดังกล่าวก็ควรจะพูดถึงสื่อนั้นโดยเฉพาะ ถ้าสะท้อนภาพของสื่อไทย ทั้งที่ภาพที่ออกมามันมาจากสื่อเดียว จะไปด่าสื่อทั้งหมดมันก็ไม่ถูก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริงคือ ความไม่ระมัดระวังและย่อหย่อนทางจริยธรรม"
เสรีภาพของสื่อไม่ใช่ว่าจะนำเสนออะไรก็ได้
มานิจ สุขสมจิตร สื่อมวลชนอาวุโส มองว่า จรรยาบรรณวิชาชีพ หรือมารยาททางสังคม ยังจำเป็นสำหรับสื่อไทย และไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน อดีต หรือในอนาคต การมีเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ทำตามใจชอบ เสรีภาพสื่อมวลชนนั้นต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ
"การใช้เสรีภาพนั้นจะต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ คือรับผิดชอบต่อจริยธรรมแห่งวิชาชีพ รับผิดชอบต่อกฎหมายบ้านเมือง รับผิดชอบต่อสังคม และความรู้สึกของแต่ละบุคคล ผู้รับสารด้วย"
นายมานิจ กล่าวว่า การไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กต่างจากเมื่อก่อนตรงที่เป็นสื่อใหม่ที่มีอิทธิพลมาก ทำให้เกิดความรู้สึกได้หลายอย่าง อยู่ที่ว่าภาพที่เห็นเป็นอย่างไร พื้นฐานความคิดคนรับสารเป็นอย่างไร
"สื่อที่ทำข่าวต้องตระหนักให้ดีว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันถูกต้องไหม ทำถูกจรรยาบรรณ ทำถูกจริยธรรมสื่อหรือเปล่า จริยธรรมสื่อห้ามเสนอภาพที่หวาดเสียว จริยธรรมไม่ได้ให้เสนอภาพหวาดเสียว ภาพน่าเกลียด ภาพอุจาดลามก หรือเป็นการชักจูงให้เกิดการกระทำที่รุนแรง การทำแบบนั้นแหละผิด ถ้าจะอ้างว่าสื่อมีหน้าที่ถ่ายทอด ประชาชนมีหน้าที่คิดเอาเอง แบบนี้ก็ไม่ถูก ตัวสื่อเองควรจะไตร่ตรองและกลั่นกรองว่าภาพเช่นนี้ควรจะนำเสนอออกไปสู่ประชาชนหรือไม่ สำหรับประชาชนถ้าสื่อไหนเลือกที่จะทำตามใจชอบ ประชาชนก็อย่าไปรับสื่อนั้น ”
สื่อมวลอาวุโสรายนี้ ทิ้งท้ายว่า สื่อนอกก็ใช่ว่าจะดีทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อไทยจะเอาตัวอย่างที่ไม่ดีมาใช้ อยู่ที่ตัวลูกจ้างและนายจ้างด้วย ด้านองค์กรสื่อก็เตือนอยู่ตลอดเวลา เมื่อนักข่าวเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ก็เท่ากับปฏิญาณตนแล้วว่าปฏิบัติตนตามกฎจริยธรรมตามวิชาชีพ
เมื่อทำตามไม่ได้ก็ไม่ควรจะอยู่ในอาชีพนี้ เพราะมีแต่จะทำให้เสื่อมเสีย