"ปรองดอง" เกิดยาก คสช.ทำผิดที่-ผิดเวลา
การสร้างปรองดองหลังประเทศต้องติดหล่มมานานกว่า 10 ปี แต่ความคืบหน้ายังดูเหมือนแช่แข็งไว้
โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
ตลอด 3 ปีกับการเข้าควบคุมบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมชูเหตุผลสำคัญของการทำรัฐประหาร คือ เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น หลังประเทศต้องติดหล่มมานานกว่า 10 ปี แต่ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวยังดูเหมือนแช่แข็งไว้
จักร พันธ์ชูเพชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาต่อเนื่อง และรักษาการผู้อำนวยการสถานการศึกษาต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้มุมมองว่า ส่วนตัวเชื่อ คสช.มีความตั้งใจ แต่กระบวนการดูเหมือนตอนหลังจะแผ่วๆ ส่วนหนึ่งมาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองและกลุ่มก้อนขับเคลื่อนทางการเมือง มองว่าเป็นเวลานับถอยหลังของ คสช. เมื่ออำนาจจะหมดจึงไม่ทุ่มเทกับการปรองดอง เพราะมุ่งไปสู่กระบวนการการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ถ้าหยิบเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ จะมีเวลาทำอะไรมากกว่านี้ แต่มาจับช่วงกลางๆ ค่อนปลาย และการปรองดองของรัฐบาลคิดด้วยวิธีแบบทหาร คือ หยิบไม้เรียวมาตบโต๊ะให้ทุกคนเงียบ สุดท้ายก็แค่ชั่วคราว เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งทุกอย่างก็กลับเข้าสู่ระบบเดิม ดังนั้น คิดว่ายาก ซึ่งการปรองดองเกิดได้ คือ ทำความจริงให้ปรากฏ ใครผิดก็ลงโทษไปตามนั้น ไม่ใช่เริ่มจากการปรองดองแต่กระบวนการยุติธรรมนั้นยังมองไม่เห็นว่าสิ้นสุดตรงไหน
“เรื่องนี้เป็นไปได้ต่อเมื่อรัฐบาลที่เข้ามารับช่วงต่อจะต้องจัดการเรื่องคดีทั้งหมดอย่างถูกต้อง จะอภัยโทษเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่นิรโทษกรรม จึงเริ่มสตาร์ทปรองดองเป็นไปได้ แต่ คสช.ทำตอนนี้ ส่วนตัวเข้าใจถึงความตั้งใจ แต่กระบวนการและวิธีการมันผิดเวลา คือ 1.เริ่มกลางๆ ค่อนปลาย 2.ผิดกระบวนการ จะเริ่มต้นปรองดองเรียกมานั่งคุยทำอะไร แล้วให้หยุดพูดเรื่องอดีต แต่จะพูดอนาคตข้างหน้า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะความขัดแย้งเป็นเรื่องในอดีต ไม่ใช่อนาคต ถ้าเคลียร์ไม่ได้ก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้”
ขณะที่ วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ยอมรับว่า เรื่องนี้มันยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 แม้ชูเป็นประเด็นหลักว่าจะเข้ามาทำให้เกิดความปรองดอง ก็ยังไม่มีสัญญาณ จนกระทั่งช่วงปลายปี 2559 ถึงจุดกระแสด้วยการเชิญกลุ่มต่างๆ อาทิ ตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาชน มาให้ความเห็นแต่บทสรุปมันคืออะไร
“สิ่งที่รัฐบาลทำกลับกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งของเดิมยังไม่ได้แก้ไขหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งมาตรา 44 ถามว่าจะมีกฎหมายสูงสุด 2 ฉบับอย่างนั้นหรือ แล้วจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร”
อีกความขัดแย้ง คือ เรื่องคอร์รัปชั่น ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจริงจังจัดการกับฝ่ายกลุ่มอำนาจเก่า โดยส่วนตัวก็เห็นด้วยและสนับสนุน ทว่า กลับไม่มีการเอาจริงเอาจังยิ่งเฉพาะกับคนใกล้ชิดหรือผู้มีอำนาจซึ่งถูกกล่าวหาสำหรับประเด็นนี้ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งรอบใหม่
ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังมีการออกกฎหมายปิดปากสื่อรวมถึงภาคประชาชน นอกจากนี้ เศรษฐกิจตลอด 3 ปีที่ผ่านมาถือว่าพัง และยังไปสนับสนุนกลุ่มทุน ทำให้คนรากหญ้าลำบาก รวมถึงการเดินหน้าโครงการต่างๆ ก็ไม่ยอมฟังเสียงประชาชน จึงถามว่าจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร
ด้าน เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวว่า เท่าที่ดูสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้อยู่ในความสงบ ไม่ต่างจาก 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คสช.ก็รักษาเรื่องนี้ไว้อย่างดี รวมถึงได้รับความร่วมมือจากประชาชน
ทั้งนี้ ความเข้าใจความปรองดอง ส่วนตัวคิดว่าเป้าหมายสำคัญ คือ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การปรองดองต้องถามว่าทำเพื่ออะไรตอบได้ว่าทำเพื่อเกิดความสงบเรียบร้อยและทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในบ้านเมือง ถ้าปรองดองทำไปเพื่อสร้างภาพ เอาคนดีและไม่ดีจับมือกันก็ไม่คิดว่าเกิดประโยชน์อะไร
“วันนี้คิดว่า คสช.เข้าใจถูกแล้ว เป้าหมายชัดเจน คือ ทำให้บ้านเมืองสงบ เมื่อสงบเรียบร้อยก็ต้องมาดูว่าจะเอาใครกับใครมาปรองดอง แต่ไม่ได้หมายความว่าเอาคนผิดกฎหมายมายกโทษให้ ไม่ถูกต้อง จะนำไปสู่ความวุ่นวาย การปรองดองต้องไม่ประนีประนอมกับผู้กระทำความผิดให้บ้านเมือง”