มอเตอร์โชว์พลาดเป้า รถต่ำ7แสนยอดร่วง-กลุ่มหรูยังขายดี
ผู้จัดงาน-ค่ายรถ ชี้ผู้บริโภคระวังใช้จ่ายชะลอการตัดสินใจซื้อ รถอีโคคาร์-รถราคาต่ำ 7 แสนหดตัวแรง
ผู้จัดงาน-ค่ายรถ ชี้ผู้บริโภคระวังใช้จ่ายชะลอการตัดสินใจซื้อ รถอีโคคาร์-รถราคาต่ำ 7 แสนหดตัวแรง
นายจาตุรนต์ โกมลมิศร์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในฐานะรองประธานจัดงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 37 เปิดเผยว่า ยอดจองรถยนต์ภายในงานอยู่ที่ราว 3 หมื่นคัน ต่ำกว่าที่คาดการณ์จะเท่าปีก่อนอยู่ที่ 3.8-4 หมื่นคัน โดยมองว่าเป็นผลมาจากปัจจัยการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ ดึงกำลังซื้อไปล่วงหน้าในช่วงปลายปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมาจากปัจจัยสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ชะลอการตัดสินใจซื้อแรงเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมถึงภาคธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และภาคเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จึงมองว่ากระทบกำลังซื้อในภาพรวม และหลังจากสิ้นสุดงานคาดจะชะลอกว่าที่คาดไว้ต้นปี
ทั้งนี้ ปริมาณผู้เข้าร่วมชมงานอยู่ที่ 1.6 ล้านคน ลดลง 3-5% เทียบกับปีก่อน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้บริโภคสนใจเข้าร่วมงานแต่ยังไม่พร้อมซื้อ ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบแรงที่สุด คือรถยนต์ที่มีราคาต่ำกว่า 7 แสนบาท โดยเฉพาะรถอีโคคาร์ ส่วนรถยนต์ราคา 1 ล้านบาทขึ้นไปยังดีอยู่ ส่งผลให้มูลค่าเงินสะพัดลดลงเล็กน้อย 3-3.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท
“รถระดับราคาหลักหลายสิบล้านบาทอย่างโรลส์-รอยซ์ ในงานมียอดจองแล้วไม่ต่ำกว่า 4 คัน และแอสตัน มาร์ติน มียอดจองไม่ต่ำกว่า 6 คัน ซึ่งสะท้อน
กลุ่มกำลังซื้อระดับบนที่ยังใช้จ่ายอยู่” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า เชื่อว่ากำลังซื้อในตลาดยังมีอยู่ แต่ยังไม่ตัดสินใจซื้อ เนื่องจากยังมีความกังวลในสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากนี้หวังให้รัฐบาลกระตุ้นบรรยากาศการใช้จ่ายให้ดีขึ้น โดยจะต้องมีความต่อเนื่อง รวมถึงมองว่าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2559 ตลาดจะชะลอตัวหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นและฤดูฝน
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมชมงานให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ แต่ไม่สะท้อนออกมาเป็นยอดจอง เนื่องจากผู้บริโภคยังไม่พร้อม จึงไม่เร่งรีบตัดสินใจ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.ที่ลดลง และอีกส่วนหนึ่งมองว่าผู้บริโภคตัดสินใจซื้อไปตั้งแต่ปลายปีก่อน
นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าภาครัฐได้เร่งรัดการใช้จ่ายรวมถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยแล้ง และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ อีกทั้งการจัดงานมอเตอร์โชว์เป็นปัจจัยบวกในการกระตุ้นการเติบโตของตลาดรถยนต์ แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ก.พ. ยังคงปรับตัวลง จากความกังวลต่อความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลให้ภาคเอกชนยังชะลอการลงทุน จึงมองว่าตลาดยังคงทรงตัว