ตลาดรถญี่ปุ่นเผชิญศึก ค่าเงินแข็ง-เรื่องอื้อฉาว
บรรยากาศตลาดรถยนต์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาร้อนแรงเป็นที่จับตามองอย่างมาก
โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์
บรรยากาศตลาดรถยนต์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาร้อนแรงเป็นที่จับตามองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นข่าวการโกงการประหยัดน้ำมันของมิตซูบิชิ ค่ายรถยนต์ชื่อดังจากญี่ปุ่น ปัญหาถุงลมนิรภัยทากาตะที่นำไปสู่การเรียกคืนรถยนต์กว่า 50 ล้านคันทั่วโลก หรือโฟล์คสวาเกน บริษัทรถยนต์สัญชาติเยอรมันที่มีการโกงการตรวจสอบมลพิษ กลับมียอดขายรถยนต์ครองอันดับ 1 แซงหน้าโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ที่ 2.51 ล้านคัน
ล่าสุด โตโยต้า มอเตอร์ คาดการณ์ว่าผลกำไรจากการดำเนินงานประจำปีงบประมาณปัจจุบันสิ้นสุดเดือน มี.ค. 2017 อาจปรับตัวลงถึง 40.4% อยู่ที่ 1.7 ล้านล้านเยน (ราว 5.5 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 5 ปี เนื่องจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ชะลอตัว
ส่วนกำไรสุทธิปีงบประมาณเดียวกันอาจร่วงลง 35.1% แตะ 1.5 ล้านล้านเยน (ราว 4.9 แสนล้านบาท) ขณะที่รายได้ก็มีแนวโน้มจะปรับตัวลงราว 6.7% แตะ 26.5 ล้านล้านเยน (ราว 8.61 ล้านล้านบาท)
อาคิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาโตโยต้าได้ประโยชน์จากเงินเยนอ่อนค่า ส่งผลให้รายได้ของบริษัทอยู่สูงกว่าระดับจริง ส่วนปีนี้บริษัทต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ที่อาจทำให้สถานการณ์ของโตโยต้าแย่ลงไปอีกในปีนี้
อย่างไรก็ดี โตโยต้าตั้งเป้ายอดจำหน่ายรถยนต์ที่ 10.15 ล้านคันทั่วโลกปีนี้ สูงกว่ายอดขายปีก่อนที่ 10.09 ล้านคันทั่วโลก โดยในปีงบประมาณก่อน ผลกำไรค่าดำเนินงานปรับตัวขึ้น 3.8% แตะ 2.85 ล้านล้านเยน (ราว 9.3 แสนล้านบาท) ผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6.4% อยู่ที่ 2.31 ล้านล้านเยน (ราว 7.5 แสนล้านบาท) และยอดขายเพิ่มขึ้น 4.3% แตะ 28.40 ล้านล้านเยน (ราว 9.22 ล้านล้านบาท)
มิตซูบิชิรับโกงรถทุกรุ่น
มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากญี่ปุ่น ยอมรับว่าอาจมีการโกงการประหยัดน้ำมันในรถยนต์ยี่ห้อมิตซูบิชิทุกรุ่นที่จำหน่ายในญี่ปุ่นตลอดช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 6 แสนคัน
จากข่าวฉาวดังกล่าว ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์มินิคาร์ รุ่นอีเค วากอน และอีเค สเปซ ของมิตซูบิชิ ร่วงลงจากอันดับ 12 มาอยู่ที่อันดับ 19 เช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นเดอะ เดย์ส และเดอะ เดย์ส รูกซ์ ของนิสสัน ที่ร่วงลงเช่นกัน โดยยอดจำหน่ายรถยนต์รุ่นเอ็น-บ็อกซ์ ของฮอนด้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้น 14.4% ตามมาด้วยรถยนต์รุ่นตันโตะของไดฮัทสุ มอเตอร์ ปรับตัวขึ้น 36.7%
อย่างไรก็ตาม โอซามุ ซูซูกิ ประธานซูซูกิ มอเตอร์ ระบุว่า รถยนต์รุ่นใหม่มีการประหยัดน้ำมันที่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์มินิคาร์มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยในปีนี้อาจอยู่ที่ 1.6-1.8 ล้านคัน
ทากาตะขาดทุน 2 ปีติด
ทากาตะ คอร์ป ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยรายใหญ่ของญี่ปุ่น เปิดเผยตัวเลขขาดทุนสุทธิประจำปีงบประมาณ 2015 ที่ 1.308 หมื่นล้านเยน (ราว 4,248 ล้านบาท) เทียบกับปีก่อนหน้าที่ขาดทุน 2.956 หมื่นล้านเยน (ราว 9,600 ล้านบาท) ส่งผลให้ทากาตะขาดทุนเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
ขณะที่ยอดขายปรับตัวขึ้น 11.7% ที่ 7.18 แสนล้านเยน (ราว 2.33 แสนล้านบาท) และกำไรค่าดำเนินงานเพิ่มขึ้น 27.8% ที่ 4.213 หมื่นล้านเยน (ราว 1.36 หมื่นล้านบาท)
อย่างไรก็ดี ทากาตะคาดการณ์ว่ากำไรสุทธิปีงบประมาณปัจจุบันจะอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านเยน (ราว 4,222 ล้านบาท) เนื่องจากความต้องการในสหรัฐและเอเชียที่เพิ่มขึ้น แม้จะต้องเรียกคืนรถยนต์อีกระลอกก็ตาม
จีนเสี่ยงรถยนต์ทะลัก
สภาเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) และสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ในจีน (ซีเอเอเอ็ม) หวั่นตลาดรถยนต์จีนล้นทะลัก เนื่องจากแรงซื้อที่ชะลอตัวมากที่สุดในรอบ 25 ปี สวนทางกับความสามารถในการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
รายงานระบุว่า ในปีก่อนจีนสามารถผลิตรถยนต์ได้ 31.2 ล้านคัน แต่ยอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 24.6 ล้านคน ส่วนปีนี้มีรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผลิตกว่า 6 ล้านคัน
นอกจากนี้ รายงานระบุด้วยว่า ความต้องการใช้งานรถยนต์อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับการลงทุนในภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์เพิ่มสูงขึ้น แม้ภาคธุรกิจจะยังไม่มีเสถียรภาพ ส่วนเทคโนโลยีและการพัฒนาก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่มั่นคง
ดังนั้น เอ็นดีอาร์ซีและซีเอเอเอ็มจึงจำเป็นต้องคุมเข้มการลงทุนดังกล่าว โดยภาคอุตสาหกรรมรถยนต์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการผลิตรถยนต์ให้ตรงกับความต้องการ และบูรณาการเชิงธุรกิจร่วมกับต่างชาติ
ทั้งนี้ ซีเอเอเอ็ม เปิดเผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 6.1% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยยอดขายรถเดือน เม.ย. เดือนเดียวเพิ่มขึ้น 6.3% แตะ 2.1 ล้านคัน
ภาพ...เอเอฟพี