posttoday

ซื้อรถยุคเศรษฐกิจซึมเศร้า ตรวจสุขภาพการเงินก่อนตัดสินใจ

01 ธันวาคม 2559

การซื้อรถในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจไม่ง่ายเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากเราเตรียมตัวด้านการเงินให้พร้อม

โดย... วราพงษ์ ป่านแก้ว

ช่วงนี้หลายคนอาจจะวางแผนซื้อรถเอาไว้ แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจซื้อ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย เงินในกระเป๋าที่รับมาทุกๆ เดือน ก็ไม่รู้จะหดจะหายไปเมื่อไหร่ ส่วนเงินที่จะได้เพิ่มชั่วโมงนี้บอกได้คำเดียวเลยว่า ‘ยาก’ ภาวะความไม่เชื่อมั่นจึงเกิดตามมา แต่เอาล่ะ... ในเมื่อสถานการณ์

เป็นเช่นนี้แล้วยังคิดจะซื้อรถ ลองมาดูกันก่อนว่า มีข้อควรต้องพิจารณาอะไรกันบ้างที่จะมาประกอบการตัดสินใจว่าจะเข้าเกียร์เดินหน้า หรือใส่เกียร์ถอยไปตั้งหลักกันใหม่กันดี

ข้อแรก มองไปที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในระยะใกล้ๆ และใน 1 ปีข้างหน้า ต้องบอกเลยว่า เศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันโครงการลงทุนต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แต่ก็อาจจะทำได้แค่รักษาอาการไม่ให้มันทรุดลงไปเท่านั้น เพราะรายได้หลักของประเทศที่มาจากการทำมาค้าขายกับต่างประเทศ นั่นก็คือการส่งออกอาการยังร่อแร่

ขณะที่การลงทุนของเอกชนก็ยังไม่เดินหน้า การใช้จ่ายภาคประชาชนก็น้อยนิดเต็มที่ จะหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวในเวลานี้อาจจะยังไม่เหมาะ ก็ได้แต่หวังกันว่า การลงทุนของภาครัฐที่มีแผนกันเป็นหลักแสนๆ ล้านบาท จะสัมฤทธิ์ผล ซึ่งนั่นอาจจะทำให้ความเชื่อมั่นในด้านอื่นๆ ตามมา ยิ่งปีหน้าตามแผนจะมีการเลือกตั้งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การทำมาค้าขายกับประเทศประชาธิปไตยน่าจะดีขึ้น ไม่ถูกบีบจนหน้าเขียวเหมือนที่ผ่านมา

รวมๆ แล้วในปีหน้าเรื่องเศรษฐกิจยังต้องลุ้นว่าจะไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน ไอ้ที่ว่าจะฟื้นตัวปุ๊บปั๊บเงินทองไหลมาเทมานั้นเลิกคิดไปได้ ดีที่สุดคือ โตช้าๆ อย่างเยือกเย็น ได้เท่านั้นก็ถือว่าบุญแล้วล่ะ คราวนี้มาดูที่ใกล้ตัวขึ้นมาหน่อยนั่นก็คือ สถานะการเงินของเราภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้จะยังไหวมั้ย

พวกที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ลองอัพเดตสถานการณ์ของบริษัทดูสักหน่อย การทำมาค้าขายประกอบธุรกิจยังดีอยู่หรือไม่ แผนการปรับเงินเดือน จ่ายโบนัส ยังวางอยู่บนโต๊ะเจ้านายหรือถูกโยนลงถังขยะไปแล้ว ไปสืบมาดีๆ ซึ่งจริงๆ ก็ดูง่ายๆ จากผลการดำเนินการของบริษัท ถ้ามันไม่ดี เจ้านายที่ไหนจะใจดีให้ขึ้นเงินเดือนให้เยอะๆ หรือสั่งจ่ายโบนัสหนักๆ ก็คงเป็นไปไม่ได้

ส่วนพวกอาชีพอิสระทำมาค้าขายอาจจะง่ายหน่อย เพราะเป็นเจ้านายตัวเองจับเงินอยู่ทุกวันย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า จะไปรอดมั้ยส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ ถ้าไม่ใช่พวกมั่นสุดๆ หรือพวกเพ้อไปวันๆ เขาค่อนข้างจะเจียมตัวระมัดระวังการจับจ่ายกันอยู่แล้ว บางทีแผนการซื้อรถใหม่ของพวกเขาอาจจะถูกฉีกทิ้งไปตั้งแต่สองสามปีที่แล้วก็เป็นได้ หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่ดีกว่า

การตรวจสอบสถานการณ์การเงินทั้งภาคเศรษฐกิจโดยรวมและเศรษฐกิจส่วนบุคคล ย่อมทำให้เราตัดสินใจได้ว่า ควรหรือไม่ควรซื้อรถในเวลานี้ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องซื้อควรจะซื้อแบบไหน เพื่อให้ปลอดภัยกับสถานะการเงินของตัวเองมากที่สุด ถึงตรงนี้ ก็พอจะตั้งคำถามกับตัวเองได้แล้วว่า การจะซื้อรถในตอนนี้จำเป็นหรือไม่จำเป็น ยกเว้นพวกที่มีฐานะดีอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่ต้องคิดอะไรมาก จัดไปตามใจปรารถนาก็แล้วกัน

หากมองว่า ยังมีเวลาที่จะดูหน้าดูหลังอีกสักนิดก็ให้ใส่เกียร์ถอยกลับไปตั้งหลักใหม่ ลองเอาสตางค์ที่จะผ่อนไปใส่กระปุกดู เก็บออมเพิ่มอีกนิดก็ไม่เห็นเสียหายอะไร เก็บไปเก็บมาเผลอๆ อาจจะซื้อเงินสดได้เลยก็เป็นไปได้นะ ซึ่งการทดลองเก็บเงินตามจำนวนงวดที่จะต้องผ่อนจะทำให้เรารู้ตัวเองว่า ภาระที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนเรารับกับมันได้หรือไม่ นอกจากนี้ การทดลองผ่อน (โดยการเก็บใส่กระปุก) ไปสักระยะ ก็จะทำให้เราได้เงินดาวน์รถที่เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนคนที่ยังไงก็จำเป็นต้องซื้อ เพราะถ้าไม่ซื้อแล้วชีวิตจะหาไม่ด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่ง ก็ต้องมาคิดต่อว่า ภาระที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนเรารับมันไหวหรือไม่ รถที่จำเป็นกับเราหน้าตามันควรเป็นอย่างไร โดยการสำรวจตรวจสอบความต้องการใช้งานของตนเอง และผู้โดยสารนั่นก็คือสมาชิกภายในบ้านว่า เราต้องการใช้รถทำอะไรบ้าง เช่น ถ้าเป็นครอบครัวใหม่ ลูกยังเล็กๆ ใช่แค่เดินทางไปทำงาน รับส่งภรรยา-ลูก ไม่ค่อยเดินทางไปต่างจังหวัด

ชั่วโมงนี้ก็ต้องซื้อแบบพอดีตัว และพอดีกับเงินที่เราสามารถจะผ่อนได้ เอาแค่ซิตี้คาร์คันเล็กๆ ผ่อนได้สบายกระเป๋าไปก่อนก็พอเพียงแล้ว อย่าได้หึกเหิมไปซื้อรถเกินตัวหรือเกินความต้องการใช้งานเพราะความอยากได้จะดีกว่า

อย่าลืมว่า การซื้อบ้าน ซื้อรถ มันเหมือนกันคือ คนส่วนใหญ่ต้องใช้เงินกู้จากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งตามหลักของการปล่อยกู้แล้ว งวดการผ่อนไม่ควรจะเกิน 30% ของรายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินค่อนข้างจะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูงรวมทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือที่เรียกว่า เอ็นพีแอล (Non-Performing Loan) มีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นยิ่งทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น สุขภาพการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญในการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถในสถานการณ์เช่นนี้ ภาระค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ จะต้องมีน้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นการผ่อนสินค้าประเภทอื่นๆ ภาระการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ที่สำคัญจะต้องไม่เป็นหนี้ค้าง หรือหนี้เสียถึงขั้นถูกขึ้นบัญชีดำไว้ที่เครดิตบูโร ซึ่งเราจำเป็นต้องไปตรวจสอบกับเครดิตบูโรให้มั่นใจก่อนว่า เคยไปก่อหนี้แล้วลืมจ่ายไว้บ้างหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องเคลียร์ให้เรียบร้อยก่อนจะซื้อรถ

เงินออมจะมีส่วนช่วยได้มากที่จะทำให้การซื้อรถของเราง่ายขึ้น และมีภาระผ่อนที่สอดคล้องกับรายได้ ยิ่งสามารถออมเงินเพื่อไว้จ่ายเงินดาวน์ได้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะทำให้ภาระการผ่อนต่องวดยิ่งน้อยลง ที่สำคัญ จะทำให้เราจ่ายดอกเบี้ยน้อยลงไปด้วย และยังถือเป็นการ ‘ซ้อมผ่อน’ เพื่อฝึกวินัยการใช้จ่ายไปในตัว ดังนั้นก่อนที่คิดจะซื้อรถ ควรวางแผนเก็บออมเงินให้ได้มากที่สุด ก็จะทำให้โอกาสในการกู้เงินเพื่อซื้อรถเปิดกว้างยิ่งขึ้น

สาธยายกันมายืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า การซื้อรถในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เป็นใจมันไม่ง่ายเหมือนในอดีต แต่ก็ไม่ยากเกินไปหากเราเตรียมตัวด้านการเงินให้พร้อม กำหนดขอบเขตการซื้อรถเท่าที่จำเป็นต่อการใช้งานและให้สอดคล้องกับรายได้ที่มี หากยังไม่พร้อมในตอนนี้ ก็อดใจรอ ค่อยๆ เก็บออมเพิ่มดีกว่าดันทุรัง แต่สุดท้ายมาลงเอยที่โดนไฟแนนซ์ตามยึดรถ มันใช่มั้ยล่ะ