posttoday

‘สโตนเฮด’ ยึดฐานผลิตกัมพูชา เขย่าตลาดเบียร์ไทย 2 แสนล.

20 มิถุนายน 2560

อีกหนึ่งธุรกิจคนไทยรุ่นใหม่ ที่ข้องใจในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์เบียร์ที่จำกัดแค่ผู้เล่นรายเดิมมาเนิ่นนาน

โดย..ดวงใจ จิตต์มงคล

อีกหนึ่งธุรกิจคนไทยรุ่นใหม่ ที่ข้องใจในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์เบียร์ที่จำกัดแค่ผู้เล่นรายเดิมมาเนิ่นนาน พร้อมแปรความสงสัยมาสู่การศึกษา เพื่อลุยตลาดเก่าที่แตกเซ็กเมนต์ใหม่ คือ กลุ่มคราฟต์เบียร์ พร้อมใช้สิทธิประโยชน์การลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นฐานการผลิต

ปณิธาน ตงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านนอกเข้ากรุง ผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์แบรนด์สโตนเฮด และ รำซิ่ง กล่าวว่า เริ่มต้นธุรกิจคราฟต์เบียร์เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในแวดวงธุรกิจทั้งส่วนตัว และบทบาทผู้บริหารธุรกิจอาหารว่าง (สแน็ก) มาระยะหนึ่ง กระทั่งเกิดความสนใจตลาดผลิตภัณฑ์เบียร์ในบ้านเราที่พบว่าถูกจำกัดการขยายผู้ประกอบการธุรกิจจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่

จากนั้นจึงหันมาศึกษาธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจัง ใช้งบลงทุนเริ่มต้นราว 1 แสนบาท ทดลองผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจกระบวนการผลิตขั้นตอนต่างๆ ไปจนถึงการนำสินค้าเข้าตลาดในร้านช่องทางเฉพาะกลุ่มที่สนใจบริโภคเบียร์คราฟต์ ที่จุดประกายให้กับตัวเขาเองว่า หากจะทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เบียร์คราฟต์เป็นที่รู้จักก็ต้องทำให้ถูกกฎหมาย และเมื่อกฎหมายไม่เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเบียร์รายใหม่เกิดได้ ก็ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ เพื่อนำสินค้าเข้ามาทำตลาดในไทย

โดยในปี 2558 จึงได้นำธุรกิจไปสร้างฐานการผลิตเบียร์คราฟต์ ในเกาะกง ประเทศกัมพูชา ใช้ระยะเวลาราว 6 เดือนเซตอัพธุรกิจ ด้วยงบลงทุนกว่า 20 ล้านบาท พร้อมพัฒนาและสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์ไทยขึ้นมา ภายใต้ ชื่อ สโตนเฮด (Stone Head) เริ่มต้นทำตลาดตั้งแต่ในวันแรกผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ (โซเชียล มีเดีย) อย่างเฟซบุ๊ก ด้วยการเล่าเรื่องราว (สตอรี่) ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค

สำหรับการใช้ฐานการผลิตในกัมพูชา นอกจากผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายก่อนนำเข้ามาทำตลาดในไทยแล้วนั้น ยังทำให้สินค้าบริษัทได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (จีเอสพี)หากต้องการขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป นอกเหนือจากความสะดวกในการขนส่งและกระจายสินค้า (โลจิสติกส์) จากเกาะกงมายังไทยที่ใช้ระยะเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

ด้านช่องทางการทำตลาดสินค้าในปัจจุบัน มีทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ วางราคาจำหน่ายสินค้าราว 149-150 บาท ปริมาณบรรจุขวด 330 มล. และกระจายในช่องทางร้านค้า/อาหารทั่วไป รวมถึงทำตลาดส่งออกไปยัง สิงคโปร์ และฮ่องกง และได้การตอบรับดีจากผู้บริโภคในตลาดดังกล่าว

“คราฟต์เบียร์ คือ ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กที่ผลิตสินค้าออกมาทำตลาดไม่เกิน 6 ล้านบาห์เรล/ปี ความพิเศษ คือ วัตถุดิบ ส่วนผสมที่ใช้เพื่อพัฒนารสชาติเบียร์ให้แตกต่างไปจากที่มีอยู่เดิมในตลาด ไม่ใช่เป็นการทำเบียร์ให้ถูกลง ปัจจุบันคาดว่ามีเบียร์คราฟต์ในไทยไม่ต่ำกว่า 30 ยี่ห้อ และยังมีการรวบรวมผู้ทำเบียร์คราฟต์ขึ้นในไทยเป็นกลุ่มขบวนการเสรีเบียร์ เพื่อให้ความรู้ตลาด สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย” ปณิธาน กล่าว

โดยบริษัทวางเป้าหมายธุรกิจใน 3-5ปี ข้างหน้า จะสามารถสร้างการรับรู้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ และตลาดคราฟต์เบียร์ ควบคู่กันไป ด้วยปัจจุบันกลุ่มผู้ทำคราฟต์เบียร์ในช่องทางขายผ่านชั้นวางสินค้าห้างค้าปลีกสมัยใหม่ใจกลางเมือง สินค้ามีสัดส่วนราว 30% และอีก 70% เป็นคราฟต์เบียร์นำเข้าจากต่างประเทศ และในอนาคตมองว่าสัดส่วนจะขยับเพิ่มขึ้นให้คราฟต์เบียร์ไทยอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 50%

ปัจจุบันตลาดเบียร์ในไทยคาดมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท และในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มเบียร์นำเข้ามีสัดส่วนอยู่ราว 0.05% ซึ่งคราฟต์เบียร์มีอัตราการเติบโต 2 หลักต่อเนื่อง และหากกลุ่มผู้ผลิตคราฟต์เบียร์ในไทยเติบโตดีทั้งกลุ่มคาดจะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 5% ใน 5 ปีจากนี้

จากทุกแบรนด์รวมกันไม่ต่ำกว่า 100 ยี่ห้อ ในตลาดทีเดียว