posttoday

กนอ.ดันมาบตาพุดศูนย์กลางโลจิสติกส์อาเซียน

24 กรกฎาคม 2560

กนอ.เปิดท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งใหม่ในมาบตาพุด มั่นใจดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน

กนอ.เปิดท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งใหม่ในมาบตาพุด มั่นใจดันไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ในอาเซียน

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งที่ 2 (เอ็มไอที) พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เปิดให้บริการแล้ว โดยมีศักยภาพในการรองรับการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออกสินค้าจากต่างประเทศ สอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนให้เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ และในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและโลจิส ติกส์ในภูมิภาคอาเซียน

"หลังจากเปิดให้บริการท่าเรือ กนอ.คาดว่าจะรองรับการขนถ่ายสินค้าในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกเพิ่มขึ้นได้ถึง 7 ล้านตัน/ปี และช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการจากความแออัดในการใช้บริการของท่าเทียบเรือสาธารณะบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดได้เป็นอย่างดี" นายวีรพงศ์ กล่าว

ขณะนี้มีผู้เข้ามาใช้บริการแล้ว เร็วๆ นี้ กนอ.จะมีพิธีเปิดท่าเทียบเรือสาธารณะแห่งที่ 2 พร้อมให้บริการเรือขนส่งสินค้าจากบริษัทต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเข้าใช้บริการอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการติดต่อขอใช้บริการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการให้บริการของท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งที่ 2 ประกอบด้วยท่าเทียบเรือทั้งหมด 4 ท่า มีขนาดหน้าท่ายาวประมาณ 1,024 เมตร ความลึกของหน้าท่า 12 เมตร สามารถให้บริการรองรับเรือบรรทุกสินค้าได้สูงสุดถึง 60,000 DWT (Deadweight Tonnage) รองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทเทกอง เช่น เหล็ก เศษเหล็ก เศษไม้ สินค้าประเภทที่ใหญ่กว่าคาร์โก และในระยะต่อไปจะรองรับสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ โดยท่าเรือดังกล่าวจะมีทีมผู้เชี่ยวชาญและพนักงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดระบบการให้บริการการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกให้กับผู้ประกอบการ เพื่อความคล่องตัวในการเข้าใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ให้บริการรับสินค้าในหลายอุตสาหกรรมเพื่อการนำเข้าและส่งออก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และอุตสาหกรรม โซดาแอซ เป็นต้น มีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย จำนวนท่าเทียบเรือให้บริการถึง 32 ท่า โดยเป็นผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจจำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะจำนวน 3 ราย ประกอบด้วย 1.ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไปสาธารณะ โดยบริษัท ไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล (ทีพีที) 2.ท่าเทียบเรือสินค้าเหลวสาธารณะโดยบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล (ทีทีที) และ 3.ท่าเทียบเรือสินค้าสาธารณะแห่งที่ 2 (เอ็มไอที)