posttoday

เจาะธุรกิจเดินเรือ Ro-Ro ในตลาดอาเซียน

03 มีนาคม 2559

การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro หรือ Roll-on Roll-off เป็นการขนส่งยานพาหนะหรือสินค้า

โดย...ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย (EIC)

[email protected] EIC online : www.scbeic.com

การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro หรือ Roll-on Roll-off เป็นการขนส่งยานพาหนะหรือสินค้า โดยนำมาวางบนล้อเลื่อนเพื่อขนขึ้นเรือ (Roll-on) และลงเรือ (Roll-off) Ro-Ro สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับชนิดและประเภทสินค้าที่ขนส่ง

ยกตัวอย่างเช่น เรือ Ro-Ro แท้ ออกแบบมาเพื่อขนส่งรถยนต์ รถบรรทุก หรือสินค้าล้อเลื่อนเพียงอย่างเดียว หรือเรือ Ro Pax Ferry เรือลูกผสมที่รองรับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro เริ่มมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในอาเซียน โดยอาเซียนได้บรรจุโครงข่ายการเดินเรือ Ro-Ro และการเดินเรือระยะสั้น (Short sea Shipping) ไว้ในแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาโครงข่ายการเดินเรือ Ro-Ro ในหลายเส้นทาง อาทิ เบลาวัน-ปีนัง เบลาวัน-ภูเก็ต ดูไม-มะละกา และดาเวา-บิตัง

ปัจจุบันมีเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศหลายรายแสดงความสนใจในการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพในการขนส่งสินค้าด้วยเรือประเภทดังกล่าว

อีไอซีมองว่าการขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro มีศักยภาพในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการขนส่งเพื่อรองรับเส้นทางระยะสั้น อีกทั้งยังช่วยร่นเวลาในการขนส่งได้อย่างมีนัยสำคัญ จากกรณีศึกษาของต่างประเทศที่มีการใช้เรือ Ro-Ro อย่างแพร่หลาย เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี พบว่าการขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro มักใช้ขนส่งสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วน และรองรับเส้นทางขนส่งระยะสั้นไม่เกิน 300 ไมล์ทะเล เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับเส้นทางการขนส่งหลักของเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์

การขนส่งในลักษณะดังกล่าวตอบโจทย์ของอาเซียนที่มีความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยมูลค่าการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นกว่า 8% ต่อปี นอกจากนี้ประเทศในอาเซียนยังมีความต้องการขนส่งสินค้าในเส้นทางใกล้ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น เส้นทางเบลาวัน (อินโดนีเซีย)-ปีนัง-ภูเก็ต ระยะทาง 240 ไมล์ทะเล ที่คาดว่าจะมีความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นถึง 50% เป็น 1.5 ล้านทีอียู/ปี ภายในปี 2020 เป็นต้น ทั้งนี้การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro ในเส้นทางดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10 ชั่วโมง ต่างจากการขนส่งรูปแบบปัจจุบันที่จะต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 2 เท่า เพราะสินค้าต้องขนย้ายจากภูเก็ตไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนส่งต่อไปยังจาการ์ตาและเบลาวันตามลำดับ เนื่องจากไม่มีท่าเรือ Ro-Ro ที่ภูเก็ต

นอกจากนี้ การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro ยังมีข้อได้เปรียบทั้งในเรื่องของต้นทุนการขนย้ายที่ถูกกว่า และมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน การขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro มีจุดเด่นคือสินค้าสามารถ “เลื่อน” ขึ้นลงเรือได้เอง ทำให้ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์หรือแรงงานเพื่อยกขนสินค้าขึ้นลง (Lift-on Lift-off) ส่งผลให้ต้นทุนการขนถ่ายสินค้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการขนถ่ายสินค้าสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งยังมีรายรับที่ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากมุ่งเน้นส่งสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วนและรถยนต์ ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่าการขนส่งสินค้าชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และถ่านหิน

ปัจจัยข้างต้นจึงถือเป็นโอกาสใหม่ที่ท้าทายสำหรับเอกชนไทยในการขยายเข้าไปทำธุรกิจขนส่งทางเรือรูปแบบอื่นที่นอกเหนือไปจากรูปแบบเดิมอย่างการขนส่งด้วยเรือบรรทุกคอนเทนเนอร์

อีไอซีมองว่าภาคเอกชนที่สนใจจะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านการเงิน ทั้งในการลงทุนซื้อเรือ เงินทุนหมุนเวียนและหลักประกันการขนส่งสินค้า เนื่องจากการขนส่งด้วยเรือ Ro-Ro มุ่งเน้นขนส่งสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วนในระยะทางใกล้ๆ ทำให้มีรอบของการขนส่งถี่กว่าการขนส่งรูปแบบอื่น จึงมีความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินดังกล่าวสูงขึ้นตามไปด้วย

ส่วนภาครัฐรวมไปถึงประเทศสมาชิกอาเซียนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันพัฒนาท่าเทียบเรือ Ro-Ro ให้ได้มาตรฐานและจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งในบริเวณท่าเรือและพื้นที่หลังท่า

รวมถึงพัฒนากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างบรรยากาศทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อการเดินเรือและสนับสนุนให้การเดินเรือประเภทดังกล่าวภายในภูมิภาคอาเซียนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น