'ETHNICA' งานผ้าชนเผ่าสู่อินเตอร์
จากความชื่นชอบในผ้าทอชนเผ่านำมาสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าทั้งเพื่อนบ้านอาเซียน สหรัฐ และยุโรป
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
จากความชื่นชอบในผ้าทอชนเผ่านำมาสู่สินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกค้าทั้งเพื่อนบ้านอาเซียน สหรัฐ และยุโรป ภายใต้แบรนด์ ETHNICA ที่มี เขมิยา สิงห์ลอ เป็นหัวเรือใหญ่ในการปลุกปั้น
แม้ว่าจะเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เริ่มก่อตั้งแบบจริงจังมาได้เพียงแค่ 6 เดือน และเพิ่งจะเปิดตัวคอลเลกชั่นอย่างเป็นทางการไปในงานเชียงใหม่ ดีไซน์ วีก เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่ ETHNICA กลับได้กระแสตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ชื่นชอบในงานศิลปะและงานผ้า
ความโดดเด่นที่สะดุดตาของ ETHNICA คือ เรื่องราวที่นำเสน่ห์วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มาสร้างสรรค์ให้เป็นงานดีไซน์ที่ทั้งให้ความสวยอันเป็นอัตลักษณ์ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น
เขมิยา เล่าว่า ล่าสุดก็โดนใจประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการท่องเที่ยวแล้วมีโอกาสได้รู้จักพูดคุยกับคนที่ทำงานฝ่ายวัฒนธรรมและสนใจงานดีไซน์ลักษณะนี้ เนื่องจาก สปป.ลาว ยังขาดสินค้าวัฒนธรรมที่มีดีไซน์ทันสมัยอยู่ จึงเกิดเป็นไอเดียที่จะทำงานส่งเข้าไปทำตลาดใน สปป.ลาว
ทั้งนี้ งานที่จะส่งเข้าไปวางจำหน่ายใน สปป.ลาว จะเป็นดีไซน์เฉพาะที่มีการศึกษาถึงจุดร่วมของวัฒนธรรมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความสวยงามของแม่น้ำโขงยามพระอาทิตย์ตกที่ทอแสงสีทอง จึงดึงออกมาเป็นลวดลายบนชิ้นงานผ่านเทคนิคการ “มัดโอบ” บนผ้ามัดหมี่ เพื่อให้เกิดลวดลายคลื่นของสายน้ำโขง แล้วทอผสมดิ้นทองลงไปเพื่อให้เกิดประกายสีทอง
“คาดว่าหลังปีใหม่นี้น่าจะเริ่มวางขายในช็อปโรงแรมอมันฑกา ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวในหลวงพระบางได้ และมีแผนที่จะนำเข้าไปวางขายในช็อปของโรงแรมภูสีและภูว่าว ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวในหลวงพระบางเช่นเดียวกัน และในอนาคตจะมีการพัฒนารูปแบบและดีไซน์ใหม่ส่งไปขายอยู่เรื่อยๆ แต่อาจยังไม่ถึงขั้นเปิดช็อปเองใน สปป.ลาว” เขมิยา กล่าว
ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะทดลองส่งสินค้าออกไปทำตลาดวางขายในเมียนมา ใช้โมเดลเดียวกับที่ สปป.ลาว เพราะเมียนมากำลังโต มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และมีการเปิดเมืองใหม่ๆ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างรอทำการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเมียนมา และหาแรงบันดาลใจที่เป็นจุดร่วมวัฒนธรรมเพื่อให้ตรงใจตลาด คาดภายใน 2-3 ปีนี้ ETHNICA น่าจะได้เข้าตลาดเมียนมาเช่นกัน
เขมิยา ตั้งเป้าไว้ให้ ETHNICA เป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ในระดับโลกให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ อยากให้เวลานึกถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีเรื่องราวและกลิ่นอายของชนเผ่าจะมีชื่อของ ETHNICA ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ โดยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 20% ต่อปี
สำหรับกลยุทธ์ที่จะใช้ทำตลาดให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับโลกได้นั้น เขมิยา บอกว่า จะใช้รูปแบบที่ตัวเองถนัดคือ การทำการตลาดผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะการทำให้เว็บไซต์ของแบรนด์ขึ้นไปอยู่ในอันดับแรกของการค้นหา (SEO) ทั้งในกูเกิล ยาฮูหรือ Bing รวมทั้งการทำตลาด ประชาสัมพันธ์แบรนด์ผ่านสื่อโซเชียลทั้งพินเทอเรสต์ (Pinterest) และอินสตาแกรม (IG) รวมทั้งบล็อกต่างๆ
ขณะเดียวกันก็มองหาพันธมิตรที่มีแนวคิดเหมือนกันมาร่วมทำงาน ขณะนี้กำลังคุยอยู่ 2-3 ราย ซึ่งเป็นคนที่สนใจงานลักษณะนี้และอยู่ในกลุ่มธุรกิจรีเทลในสหรัฐ คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ซึ่งหากได้พันธมิตรแล้วก็จะทำให้กระเป๋าแบรนด์ ETHNICA เริ่มขยายสู่ตลาดสหรัฐ
สำหรับตลาดในประเทศเบื้องต้น ETHNICA กำลังคุยอยู่กับโรงแรมอาร์ต ไหม แกลอรี่ ที่ตั้งอยู่บนถนนนิมมานเหมินท์ จ.เชียงใหม่ ที่จะนำสินค้าไปวางขาย เนื่องจากมีคอนเซ็ปต์ในการทำงานด้านดีไซน์เหมือนกัน รวมทั้งจะมีการวางขายในร้านแถวประตูท่าแพด้วย ส่วนที่กรุงเทพฯ นั้นในช่วงต้นปี 2560 นี้ จะเริ่มทดลองส่งมาวางขายในช็อปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
“เราตั้งใจที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในระดับโลกมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังนั้นเบื้องต้นจึงโฟกัสกลุ่มลูกค้าไปที่ตลาดสหรัฐและยุโรปเป็นหลัก เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เสพงานศิลป์และเข้าใจถึงคุณค่าชิ้นงานเกี่ยวกับชนเผ่าดี ขณะที่ตลาดในประเทศก็มีแนวโน้มการยอมรับที่ดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในกลุ่มเฉพาะ และลูกค้าที่อยู่ในระดับกลางถึงบนขึ้นไป” เขมิยา กล่าว
อย่างไรก็ดี หากในอนาคต ETHNICA จะโกอินเตอร์แบรนด์จริงๆ เขมิยา ก็ยังย้ำว่า จะคงจุดขายของแบรนด์ที่ความเป็นสินค้าแฮนด์เมดที่ให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงและอาข่าเป็นผู้ทอผ้าส่งให้เป็นวัตถุดิบหลักในการทำชิ้นงานต่อ ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตเต็มที่ สามารถผลิตได้ 1,000 ใบ/เดือน โดยจะใช้วิธีขยายการส่งเสริมไปยังชุมชนชาวเขาเผ่าอื่นๆ ต่อไป