ขู่ถอนใบอนุญาตนกแอร์
ครม. ถกปัญหานกแอร์ มอบคมนาคมเรียกผู้บริหารเตือน หากเกิดครั้งที่ 2 จะพักใบอนุญาต ครั้งที่ 3 จะถอนใบอนุญาต
ครม. ถกปัญหานกแอร์ มอบคมนาคมเรียกผู้บริหารเตือน หากเกิดครั้งที่ 2 จะพักใบอนุญาต ครั้งที่ 3 จะถอนใบอนุญาต
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายกระทรวงคมนาคม กรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับสายการบินนกแอร์ สำหรับครั้งแรกให้กระทรวงตักเตือน แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ให้พักใบอนุญาตการบิน แต่ถ้าเกิดเป็นครั้งที่ 3 ให้ยกเลิกใบอนุญาตการบิน และมาตรฐานนี้ให้ใช้กับทุกสายการบิน โดยทั้งหมดนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความพยายามของไทยที่จะดำเนินการตามมาตรฐานด้านการบินให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ประเด็นที่สายการบินนกแอร์ชี้แจงให้ทราบเบื้องต้นว่า สาเหตุที่นักบินหยุดทำการบินส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร แยกการบริหารกับการบินออกจากกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อรองรับการตรวจสอบในอนาคต อาจทำให้นักบินไม่พอใจ รวมทั้งการบินเกินชั่วโมงมาตรฐาน ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ตรวจสอบการปฏิบัติงานของนักบินแต่ละสายการบินว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าวหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหามาตรฐานความปลอดภัยที่ไทยต้องปฏิบัติตาม ICAO
"อุตสาหกรรมการบินที่ขาดแคลนนักบินในปัจจุบัน ถามว่ามีนักบินบินเกินชั่วโมงมาตรฐานหรือไม่ อาจมีในชาร์เตอร์ไฟลต์ หากตรวจพบจะต้องพักการบินแน่นอน ขณะนี้ทุกสายการบินจะต้องส่งรายงานบันทึกการบินของนักบินในสังกัดให้กับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพื่อตรวจสอบชั่วโมงบิน ซึ่งแต่ละสายการบินควรมีนักบินสำรอง 15-20% เพื่อป้องกันเหตุ และผู้บริหารระดับซีอีโอสามารถลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาทันที" อาคม กล่าว
อาคม กล่าวว่า หากผู้โดยสารรายใดยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสายการบินนกแอร์ สามารถติดต่อโดยตรงได้ทางโทรศัพท์ โซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ และต่อจากนี้นกแอร์ต้องเรียกความเชื่อมั่นจากผู้โดยสารให้กลับมาใช้บริการ โดยในวันที่ 17 ก.พ. นกแอร์ยืนยันที่จะขอแชร์ไฟลต์อีก 1 วัน
ด้าน พาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า นกแอร์แก้ไขปัญหาโดยได้นำเครื่องบินสายการบินอื่นบินลักษณะบินร่วมเพื่อทดแทน และจะดำเนินการจนถึงวันที่ 17 ก.พ.นี้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นยอมรับว่านกแอร์มีข้อบกพร่อง โดยไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาลงไปพื้นที่ทันที และสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างองค์กร แยกอำนาจบริหารกับการบินออกจากกัน อาจสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มนักบินบางส่วน
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างภายใน เพื่อยกระดับการทำงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน (IOSA : IATA Operational Safety Audit) โดยปรับโครงสร้างทำงานฝ่ายนักบินที่เดิมควบตำแหน่งการทำงาน 2 ตำแหน่ง คือ เป็นฝ่ายบริหารและเป็นนักบิน แต่เนื่องจากบริษัทมีแนวทางดึงพันธมิตรเข้ามาร่วมวางโครงสร้างใหม่ จึงปรับให้นักบินบางส่วนที่ทำงานควบตำแหน่ง ไปทำงานเพียงตำแหน่งเดียวที่ถนัด และคาดว่าสาเหตุดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักบินบางกลุ่มไม่พอใจและประท้วงไม่บิน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบสวนความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องอีก 7 คน หากสอบสวนพบว่าผิดวินัยที่เป็นผลกระทบต่อบริษัทก็จะตัดสินยกเลิกการจ้างงานเช่นกัน จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีคำสั่งเลิกจ้าง ศานิต คงเพชร ผู้จัดการแผนกรักษามาตรฐานการบินและนักบินผู้ควบคุมอากาศยาน เนื่องจากพบว่าผิดวินัยร้ายแรงจริง
ไซมอน แมททิวส์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย แถบตะวันออกกลางและเวียดนาม บริษัท แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า ปัญหาพนักงานประท้วงหยุดงาน (สไตรค์) ส่วนใหญ่จะเกิดจากไม่พอใจเรื่องเงินที่ได้รับ หรือเวลาทำงาน ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับปัญหานี้ ควรควบคุมให้ได้ก่อนปัญหาจะลามไปถึงขั้นสไตรค์ เพราะดีกว่ามาแก้ปัญหาภายหลัง