posttoday

ซื้อหัวรถจักรขนส่งแอลพีจี

31 มีนาคม 2559

ปตท.เคาะแผนซื้อหัวรถจักร 10 หัวพร้อมแคร่ รุกขนส่งแอลพีจีไปเหนือ-อีสานทางราง หวังลดต้นทุน

ปตท.เคาะแผนซื้อหัวรถจักร 10 หัวพร้อมแคร่ รุกขนส่งแอลพีจีไปเหนือ-อีสานทางราง หวังลดต้นทุน

นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. เปิดเผยว่า ปตท.จะลงทุนซื้อหัวรถจักร 10 หัว พร้อมแคร่แบบพิเศษ สำหรับใช้ในการขนส่งก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และปรับปรุงระบบราง วงเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยจะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นผู้จัดหาหัวรถจักรและแคร่ให้ โดยจะจัดหาและทยอยนำ หัวรถจักรมาวิ่งทั้งหมดภายใน 4-5 ปี

“แผนดังกล่าวจะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งแอลพีจีของ ปตท. จากปัจจุบันที่มีหัวรถจักรอยู่แล้ว 6 หัว และขนส่งแอลพีจีไปได้แค่ จ.นครสวรรค์ และ จ.ขอนแก่น เนื่องจากหัวรถจักรเดิมเริ่มมีอายุการทำงานนาน แต่เมื่อได้หัวรถจักรใหม่เข้ามาจะทำให้ขนส่งแอลพีจีได้ถึง จ.ลำปาง และลดค่าขนส่งทางรถยนต์ได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง” นายสรัญ กล่าว

นายสรัญ กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโครงการเพิ่มขีดความสามารถการนำเข้า การจ่าย และระบบขนส่งแอลพีจี คลังก๊าซแอลพีจีเขาบ่อยา จ.ชลบุรี ว่า โครงการดังกล่าวใช้เม็ดเงิน 9,900 ล้านบาท ลงทุนขยายคลังและท่าเรือเพื่อรองรับการนำเข้าแอลพีจีจาก 1.3 แสนตัน/เดือน เป็น 2.5 แสนตัน/เดือน ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปลาย เม.ย. หรือต้น พ.ค.นี้

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) สัญจรที่คลังก๊าซแอลพีจีเขาบ่อยา จ.ชลบุรี ว่า ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถ การรับจ่ายและระบบขนส่งก๊าซแอลพีจี ที่คลังก๊าซเขาบ่อยา ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 90% จะแล้วเสร็จในเดือน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้ ปตท.เจรจากับ รฟท.ให้ได้ข้อสรุปในการจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ 10 หัวและแคร่ สำหรับขนส่งก๊าซแอลพีจีและค่าระวางในการเช่าใช้รางให้เสร็จโดยเร็ว รวมทั้งขอให้ รฟท.เร่งปรับปรุงระบบรางให้มีประสิทธิภาพสอดรับกับการขนส่งแอลพีจีทางรถไฟ

ทั้งนี้ แผนปรับปรุงการขนส่งแอลพีจีทางรถไฟจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี จึงจะแล้วเสร็จ โดยจะใช้เงินลงทุนในการซื้อหัวรถจักรและการปรับปรุงระบบราง 4,000 ล้านบาท เพื่อทำให้การขนส่งแอลพีจีไปยัง จ.ลำปาง ขอนแก่น และนครสวรรค์ มีศักยภาพมากขึ้น และช่วยลดต้นทุนการขนส่งทางรถยนต์ได้เท่าตัว

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า กบง.ยังรับทราบแผนการดำเนินการตามโรดแมปเปิดเสรีแอลพีจี หลังรัฐบาลปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีให้สะท้อนต้นทุนไปแล้ว โดยเฉพาะการเปิดให้มีผู้นำเข้าแอลพีจีรายใหม่ จากเดิมมี ปตท.เพียงรายเดียว ซึ่งขณะนี้มีผู้สนใจนำเข้าแอลพีจีแล้ว 1 ราย คือ บริษัท พีเอพี แก๊ส แอนด์ ออยล์ แต่ขณะนี้บริษัทดังกล่าวยังไม่สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ตามที่ตกลงไว้

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โรดแมปการเปิดเสรีธุรกิจแอลพีจีมีอยู่ 4 ขั้นตอน ซึ่งการดำเนินการขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ 1 และขั้นตอนที่ 2 โดยได้เปิดให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเข้าแอลพีจีแล้ว แต่ถือว่ายังอยู่ในช่วงการทดลอง และหากผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ตามที่ตกลงจะต้องมีบทลงโทษ เพราะที่สุดจะเป็นภาระ ปตท.ที่ต้องหามาทดแทน

นายทวารัฐ ยอมรับว่า การค้าขายแอลพีจียังไม่เสรีเต็มรูปแบบ เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบบางประการ และ ปตท.ยังคงเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีเพียงเจ้าเดียว

“ปัจจุบัน ปตท.ยังเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีเพียงรายเดียว ภาครัฐจึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการแข่งขันที่เสรีมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเน้นการปรับโครงสร้างกิจการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีมากขึ้นตามโรดแมป” นายทวารัฐ กล่าว