ดันกองทุนดิจิทัล ครม.ไฟเขียวพ่วงรื้อพรบ.คอมพิวเตอร์
ครม.ผ่านกฎหมายดิจิทัลรวดเดียว 3 ฉบับ “อุตตม” ชี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
ครม.ผ่านกฎหมายดิจิทัลรวดเดียว 3 ฉบับ “อุตตม” ชี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
นายอุตตม สาวนายน รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลรวม 3 ฉบับ เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญตามแผนแม่บทพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาทันที
สำหรับร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.... ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลของประเทศ โดยใช้กลไกคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่เสนอแนะต่อ ครม. ในการจัดทำนโยบายแผนระดับชาติว่าจะเดินหน้าตามนโยบายดิจิทัลของประเทศอย่างไร
นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และจัดตั้งกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการร่วมทุนหรือบ่มเพาะผู้ประกอบการในกิจการดิจิทัล
2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... โดยมีสาระสำคัญ คือ จะปรับปรุงเนื้อหากฎหมายฉบับเดิมให้ทันสมัย เนื่องจากใช้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงจำเป็นต้องการทบทวนกฎหมายให้ทันต่อการป้องกันและปราบปราม และลดความ
เสียหายที่จะตามมาจากการกระทำผิดต่างๆ
“จะมีการปรับปรุงบทบัญญัติต่างๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น กรณีการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่มีการหลอกลวง ฉ้อฉล โกง และปลอมแปลง จะต้องระบุชัดเจนว่าการกระทำผิดใดที่เข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์บ้าง และจะมีบทบัญญัติที่ชัดเจนว่าข้อความใดที่มีการส่งออกไปแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ ซึ่งต้องได้รับโทษตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งปรับปรุงการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมาย โดยจะมีการบัญญัติที่เชื่อมโยงกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เช่น กฎหมายลิขสิทธิ์”
และ 3.ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือ พ.ร.บ.กสทช. ซึ่งปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนแม่บทดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การปรับโครงสร้างองค์กรของ กสทช. โดยจะลดจำนวนกรรมการ กสทช. จากเดิม 11 คน เหลือ 7 คน และให้ยกเลิกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และยกเลิกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เป็นต้น แต่จะมีการเพิ่มอำนาจให้ กสทช. เพื่อให้สามารถทำงานคล่องตัวมากขึ้นในเรื่องของการบริหารจัดสรรคลื่นความถี่และเรียกคลื่นความถี่หรือใบอนุญาตที่ใช้ไปแล้วคืนได้