เปิดยื่นติดตั้งโซลาร์รูฟเสรีก.ค.นี้
“เรกูเลเตอร์” ออกประกาศเชิญชวนยื่นโซลาร์รูฟเสรี 100 เมกะวัตต์ เดือน ก.ค.นี้ เน้นผลิตเองใช้เอง
“เรกูเลเตอร์” ออกประกาศเชิญชวนยื่นโซลาร์รูฟเสรี 100 เมกะวัตต์ เดือน ก.ค.นี้ เน้นผลิตเองใช้เอง
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศการเข้าร่วมโครงการนำร่อง (Pilot Project) การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร) เป้าหมายกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นเข้าโครงการได้ภายในเดือน ก.ค.-31 ส.ค.นี้
สำหรับโครงการโซลาร์รูฟเสรีกำลังผลิตติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 50 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 50 เมกะวัตต์ โดยการไฟฟ้าแต่ละแห่งจะรับซื้อไฟฟ้าจากที่อยู่อาศัย 10 เมกะวัตต์ รายละไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และอาคาร 40 เมกะวัตต์ รายละไม่เกิน 1,000 กิโลวัตต์
ทั้งนี้ ผู้ผ่านการคัดเลือกที่ลงนามในสัญญาแล้วจะต้องเชื่อมต่อระบบภายในเวลาที่กำหนดแต่ไม่เกินวันที่ 31 ม.ค. 2560
น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวว่า โครงการโซลาร์เสรีครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองทั้งประเภทบ้านและอาคาร ส่วนในอนาคตจะมีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบหรือไม่นั้น คงต้องขอเวลาในการศึกษาเก็บข้อมูลก่อน
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบด้านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าสำหรับโครงการโซลาร์เสรีระยะนำร่อง โดย กฟน.และกฟภ.จะรับภาระค่าธรรมเนียมในการเชื่อมต่อเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีระดับแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 1 หมื่นบาท/ราย และอาคารธุรกิจหรือโรงงาน ซึ่งค่าธรรมเนียม 1.5 หมื่นบาท/ราย
นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เชื่อว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโซลาร์รูฟเสรี แต่อาจจะยังไม่จูงใจนัก เนื่องจากยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ในขณะที่เอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบและมั่นใจว่าระบบจะไม่โหลด เพราะการติดตั้งบนหลังคาบ้านจะผลิตไฟฟ้าได้ไม่มาก