posttoday

กสท.จ่อโหวตลงโทษช่องข่าวขัดม.37-ประกาศคสช.

31 กรกฎาคม 2559

กสท.จ่อโหวตลงโทษช่องข่าว "สปริงนิวส์ – วอยซ์ทีวี" ขัด ม.37 - ประกาศ คสช. ด้านสุภิญญาชี้ ยิ่งเซ็นเซอร์ ทีวีดิจิทัลยิ่งย่ำแย่

กสท.จ่อโหวตลงโทษช่องข่าว "สปริงนิวส์ – วอยซ์ทีวี" ขัด ม.37 - ประกาศ คสช. ด้านสุภิญญาชี้ ยิ่งเซ็นเซอร์ ทีวีดิจิทัลยิ่งย่ำแย่

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ครั้งที่ 25/2559 วันจันทร์ที่ 1 ส.ค. นี้ มีวาระการประชุมน่าจับตา ได้แก่ การพิจารณาเรื่องร้องเรียน การตรวจสอบพบการออกอากาศรายการเผชิญหน้า Face Time ทางโทรทัศน์ช่องสปริงนิวส์ เมื่อวันพุธที่ 20 ก.ค. 59 เวลา 20.13 – 20.53 น. มีเนื้อหาไม่เหมาะสมอาจขัดต่อมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยในรายการได้มีการสัมภาษณ์นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หัวข้อ “ดราม่า... “เนติวิทย์ เด็กเกรียนหรือหัวก้าวหน้า ไม่หมอบกราบ พิธีถวายสัตย์”

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ ได้เชิญตัวแทนช่องสปริงนิวส์มาชี้แจงข้อเท็จจริงในที่ประชุม ซึ่งเหตุผลการนำเสนอประเด็นนี้เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกับสังคมวงกว้าง โดยเมื่อหลังจากออกอากาศแล้วทางช่องได้ตัดสินใจดำเนินการหยุดออกอากาศทางสื่อออนไลน์ รวมทั้งหยุดรายการและยกเลิกการออกอากาศรายการ และต่อมาออกอากศอีกครั้งโดยเปลี่ยนตัวผู้ดำเนินรายการและสัมภาษณ์เรื่องทั่วไป รวมทั้งมีการตั้งกรรมการเพื่อตรวจสอบต่อไป ซึ่งอนุกรรมการเสนอลงโทษปรับทางปกครอง อัตรา 50,000 บาท พร้อมทั้งระงับการออกอากาศรายการดังกล่าว เป็นเวลา 3 วัน

นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ทางช่องเองได้มีการเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนที่ กสท.จะพิจารณาก็สะท้อนว่าสื่อไทยตกอยู่ภายใต้บรรยากาศแห่งความกลัวอย่างลึกซึ้ง ถ้า กสท.ลงมติว่ากรณีนี้ผิดกฎหมายอีก ยิ่งทำให้ กสทช. กลายเป็นองค์กรเซ็นเซอร์ ย้อนยุคสมัย ส่วนตัวเห็นว่า แม้การสัมภาษณ์อาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ในประเด็นดังกล่าวจะมีความหวือหวา แต่เป็นการแสดงทรรศนะของปัญญาชนที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมการวิพากษ์ มากกว่าการเชื่อตามๆกันไป  ซึ่งในสื่ออินเทอร์เน็ตก็มีการถกเถียงกันกว้างขวาง  แม้ดิฉันอาจจะไม่เห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์สุลักษณ์ทั้งหมด แต่ยังไม่เห็นว่าล้ำเส้นกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งในเรื่องการแสดงออกของนิสิต จุฬาฯ หรือการวิจารณ์บทบาทของทหารในเรื่องการเมือง และ สามจังหวัดชายแดนใต้ 

“ถ้าเห็นว่ารายการนำเสนอมุมมองด้านเดียวก็ควรเสนอแนะให้เชิญมุมมองอีกด้านมาออก  แต่ไม่จำเป็นต้องใช้การลงโทษตามมาตรา 37 เพราะจะเป็นการตอกย้ำบรรยากาศการเซ็นเซอร์สื่อให้ตกอยู่ในภาวะความกลัวย้อนยุคไปสมัยทีวีขาวดำยุคแอนะล็อก ทั้งที่งานของ กสทช.คือการส่งเสริมสื่อในยุคดิจิทัลให้เป็นตลาดเสรีทางความคิดของคนในสังคม  การควบคุมความคิดเห็นผ่านสื่อเท่ากับการทำให้สถานภาพทีวีดิจิตอลช่องข่าวสารสาระย่ำแย่ลงไปอีก”นางสาวสุภิญญากล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุม กสท. เตรียมถก กรณีช่องวอยซ์ทีวีออกอากาศเนื้อหารายการ Tonight Thailand เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 59 อาจมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกอากาศ ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 93/2557 และฉบับที่ 103/2557 และขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีข้อเสนอให้ มีคำสั่งเตือนทางปกครองไปยังช่องรายการ

วาระอื่นๆ น่าจับตา ได้แก่ วาระการพิจารณาให้ระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคของสถานีวิทยุกระจายเสียง วทท.วาปีปทุม FM.92.75 MHz สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการพลังงานทหารเชียงใหม่ AM.711 KHz  วาระพิจารณาขอให้ระงับการออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเป็นการชั่วคราวของช่องรายการออนซอนเอชดีทีวี วาระพิจารณาขยายระยะเวลาของคณะทำงานเพื่อติดตามและประเมินผลการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์ ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 วาระเพื่อทราบผลการประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจกรณีการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 31 และวาระการออกประกาศเพื่อแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพิ่มเติม รวมทั้งติดตามความคืบหน้าวาระต่างๆ ในการประชุมวันที่ 1 ส.ค.นี้

Thailand Web Stat