posttoday

39 อาชีพสงวนสำหรับคนไทย

06 กันยายน 2559

ปัจจุบันการกำหนดอาชีพสงวนของไทยที่ห้ามคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพ จะยึด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจ

โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

ปัจจุบันการกำหนดอาชีพสงวนของไทยที่ห้ามคนต่างด้าวมาประกอบอาชีพ จะยึด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นหลัก โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะกำหนดอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเป็น 3 บัญชี คือ บัญชี 1 กำหนดธุรกิจที่ไม่ให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจ บัญชี 2 ให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจได้ต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี และบัญชี 3 อาชีพที่คนต่างด้าวจะมาประกอบธุรกิจได้ตามบัญชีแนบท้ายนี้ แต่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน แต่ปรากฏว่าในช่วงที่ผ่านมาคนต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพสงวนของคนไทยเป็นจำนวนมากและในหลากหลายอาชีพ

แหล่งข่าวจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า หากมองในแง่ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 การที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำอาชีพเป็นการตั้งแผงขายผักในตลาดสด เปิดร้านขายข้าวแกง เปิดร้านขายอาหารจีน เปิดร้านขายของชำ แม้กระทั่งการเข็นรถขายก๋วยเตี๋ยว ขายของที่ระลึกตามห้างสรรพสินค้า ตึกแถว ตลาดนัด หรือขายของทุกชนิดที่มีการตั้งแผงถาวร จะถือว่าเป็นอาชีพที่ถูกจัดอยู่ในบัญชี 3 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งคนต่างด้าวจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฯ ก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้

“ต้องแยกระหว่างการประกอบอาชีพและการประกอบธุรกิจ เพราะถ้าเป็นการตั้งแผงถาวร หรือหน้าร้านถาวร จะถือว่าผิดตามหลักของกฎหมาย หากอยากทำธุรกิจก็มาขออนุญาตจากคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ โดยจะมีหลักในการอนุญาตว่าธุรกิจไหนที่ไม่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะอนุญาตให้ ดังนั้นกรณีแรงงานต่างด้าวต้องลงไปดูตั้งแต่ว่ามีการขออนุญาตทำงานเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ ถือเป็นด่านแรกจะอยู่ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และเข้ามาแล้วประกอบธุรกิจก็จะมาเข้ากฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว” แหล่งข่าวเปิดเผย

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงจะประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และต้องขอนโยบายจากรัฐบาลว่าจะแก้ไขปัญหากรณีที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจในไทยอย่างไร เพราะการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มาประกอบอาชีพสงวนของคนไทยเป็นเรื่องอ่อนไหวและมีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ถ้าตามหลักกฎหมายแล้วการเข้ามาประกอบอาชีพถาวร เช่น ค้าปลีก เปิดร้านอาหาร-ภัตตาคาร ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ก็คงต้องพิจารณาในเรื่องของความอะลุ่มอล่วยด้วย เพราะถ้าเป็นค้าขายเพื่อยังชีพไม่กระทบกับเศรษฐกิจของประเทศก็สามารถทำได้

“เคยมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นที่การค้าชายแดนเชียงของ ซึ่งขณะนั้นสภาความมั่นคงแห่งชาติได้พิจารณาว่าการที่คนไทยและคนจากฝั่งเชียงของข้ามไปมาค้าขายระหว่างกันทำได้หรือไม่ โดยการพิจารณาออกมาแล้วว่าถ้าทำเพื่อการยังชีพ เป็นการประกอบธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่กระทบเศรษฐกิจก็อาจไม่เข้มงวดมากนัก แต่ท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้ก็อยู่ที่นโยบายรัฐบาลเป็นหลัก เพราะถ้าจะดูแลตรงๆ เป๊ะๆ ก็อาจจะกระทบกระเทือนกับความมั่นคงเรื่องของสัมพันธภาพระหว่างประเทศ อย่างเวลาคนของเราไปบ้านเขา ก็จะถูกเข้มงวดด้วยเหมือนกัน เหมือนกับการค้าขายชายแดน ถ้าประเทศไหนติดกันก็จะมีการยกเว้นภาษีให้ สมมติว่าเวลาไปขายของในจีน จีนจะคิดแวตกับไทย แต่ถ้าเวียดนามชายแดนติดกันก็จะยกเว้นแวตให้ คือเป็นเรื่องของความเอื้ออาทรความช่วยเหลือกันและกัน เป็นเรื่องของเพื่อนบ้าน” แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผย

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องการใช้กฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเข้ามาดูแลแล้ว ในการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมา มีความเข้มข้นพอหรือไม่ มีการขึ้นทะเบียนต่างด้าวถูกต้อง มีการออกใบอนุญาตประกอบการทำงาน (Work Permit) หรือไม่ เข้ามาประกอบอาชีพอย่างถูกต้องหรือเปล่า และในทางปฏิบัติจะอะลุ่มอล่วยได้มากน้อยแค่ไหน โดยการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยึดผลประโยชน์ของชาติ ประกอบกับสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนบ้าน เพราะเป็นเรื่องอ่อนไหว ดังนั้นทุกอย่างต้องบาลานซ์ และยิ่งเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทำให้คนไหลไปหาระหว่างกันได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องขอวีซ่า

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพของคนไทยนั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นอาชีพที่คนไทยไม่ทำ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตและสะสมจนถึงปัจจุบัน เพราะคนไทยมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออก โดยมีสัดส่วนการส่งออก 60-70% ของจีดีพีประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานต้องนำเข้า เพราะไทยต้องผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลกด้วย หากผลิตและใช้เองในประเทศ แรงงานก็คงเพียงพอ แต่ในเมื่อธุรกิจของไทยขยายตัวออกไประดับโลกมีการทำธุรกิจใหญ่ขึ้น จ้างลูกจ้าง มีเงินลงทุน ก็ต้องมีแรงงานเข้ามา ดังนั้นการดูแลแรงงานต่างด้าวในประเทศจึงมีปัจจัยหลายด้านมาเกี่ยวข้อง ฉะนั้นมาตรการของรัฐบาลในการดูแลต้องทำออกมาให้สมดุลที่สุด