posttoday

จับตานโยบาย "ทรัมป์" สะเทือนส่งออก-การค้าไทย

14 พฤศจิกายน 2559

หลังจากนี้ต้องติดตามนโยบายการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะปฏิบัติออกมาจริงตามที่หาเสียงไว้หรือไม่

โดย...อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

ท่ามกลางชัยชนะจากการเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐ ในขณะเดียวกันก็ทำให้หลายประเทศทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ไทยแสดงความกังวลต่อนโยบายเศรษฐกิจที่ ทรัมป์ ได้ประกาศหาเสียงไว้ ที่ระบุชัดเจนว่าปกป้องคนอเมริกันจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ สำนักยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ทำการศึกษาประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากนโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ โดยในภาคการค้า พบว่าระยะสั้นไม่มีผลต่อการส่งออกไทยมากนัก ยกเว้นผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน ส่วนระยะยาวมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายหลังจากนี้จะสามารถดำเนินการได้จริงตามนโยบายที่ประกาศไว้หรือไม่ เนื่องจากบางประเด็นมีความอ่อนไหวทางการเมืองและเป็นไปได้ยากที่จะปฏิบัติ เช่น การรื้อความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ที่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือสหรัฐในเวทีโลก และการกำหนดมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างเข้มงวดอาจขัดต่อข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)

อย่างไรก็ตาม ในแง่ผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศไทย พบว่า นโยบายการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศจะดึงดูดการลงทุนให้กลับเข้าสหรัฐ เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ กลับเป็นโอกาสให้สินค้าไทย รวมถึงข้อตกลงทีพีพี ที่มีความไม่แน่นอนจะส่งผลดีต่อไทย ทำให้ยังรักษาขีดความสามารถการแข่งขันไว้ได้ การกีดกันจีนจะเปิดโอกาสให้สินค้าไทยในตลาดสหรัฐ ตลอดจนจีนอาจพิจารณาย้ายฐานการลงทุนมายังไทย แต่หากสหรัฐผลักดันจีดีพีในประเทศให้ขยายตัวถึง 3.5% ได้จริง สหรัฐจะยังคงเป็นตลาดหลักที่มีศักยภาพของไทยได้อยู่

ด้านผลกระทบเชิงลบ พบว่า อาจเกิดการไหลคืนของเงินทุนสหรัฐที่ลงทุนในต่างชาติ รวมถึงไทย โดยอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบคือ อุตสาหกรรมรถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และธุรกิจค้าส่ง ค่าเงินและราคาน้ำมันจะมีความผันผวน ขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจได้รับผลกระทบจนต่อเนื่องมาถึงไทย และที่สำคัญประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ไอพี) อาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกีดกันทางการค้ากับไทยอีกครั้ง

อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐมีการจัดอันดับบัญชี สถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ ปัจจุบันไทยยังอยู่ในบัญชีจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) เป็นเรื่องที่ไทยจะต้องปรับปรุงระบบด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างมีคุณภาพ และนำงานด้านทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ประโยชน์กับไทย สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการผลิตเชิงนวัตกรรม         

ขณะที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงแผนงานการดูแลด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ไทยกลับมาสู่สถานะที่ดีขึ้นนั้น ที่ผ่านมาได้หารือกับหน่วยงานสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องการให้ไทยปรับปรุงกฎหมายในการแก้ไขปัญหาการละเมิด และไทยได้ปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายเครื่องหมายการค้า และการเข้าร่วมในภาคีต่างๆ เช่น ภาคีพิธีสารกรุงมาดริด

นอกจากนี้ ด้านการแก้ไขปัญหางานคั่งค้างด้านการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า (แบ็กล็อก) ล่าสุดรัฐบาลได้อนุมัติอัตรากำลังคนที่จะเข้ามาสะสางงานการจดทะเบียนให้เร็วขึ้น 120 อัตรา ปัจจุบันมีงานคั่งค้างการจดทะเบียนอยู่ที่ 2 หมื่นชิ้นงาน และคาดว่าภายใน 4 ปี จะสามารถสะสางงานเหล่านี้ได้อย่างเป็นระบบ

สำหรับเรื่องการปราบปรามการละเมิดนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ให้ความสำคัญต่อการปราบปรามด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นทั้งการละเมิดในพื้นที่สีแดง และการละเมิดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้ทำงานอย่างต่อเนื่องและสามารถจับกุมผู้กระทำผิดรายใหญ่

“การแก้ไขปัญหาด้านทรัพย์สินทางปัญญา เราไม่ได้ทำเพื่อสหรัฐหรือทำเพื่อประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทำเพื่อประเทศไทย เศรษฐกิจไทย ในการวางรากฐานเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และคาดหวังว่าสหรัฐจะปรับอันดับไทยมาอยู่ในสถานะที่ดีขึ้นในปี 2560 นี้ หรือจาก PWL มาอยู่ในบัญชีจับตามอง หรือ WL” ทศพล กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สหรัฐจะใช้มาตรการ 301 มากีดกันทางการค้า เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะการออกมาตรการใดๆ เพื่อมากีดกันทางการค้าจากกฎหมายดังกล่าว อาจขัดต่อข้อตกลงในองค์การการค้าโลกได้ แต่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในสายตาของการลงทุนประเทศไทย

หลังจากนี้ต้องติดตามนโยบายการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะปฏิบัติออกมาจริงตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ ซึ่งนั่นหมายถึงกำแพงการค้าที่มิใช่ภาษีจะเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการค้าการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมในท้ายที่สุด

ภาพ...เอเอฟพี