posttoday

ครม.แก้กฎหมาย ให้นายจ้างจ่ายชดเชยลูกจ้างเกษียณอายุ

05 มกราคม 2560

ครม.เห็นชอบแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน บังคับอายุ 60 ปีเกษียณ ถือเป็นเลิกจ้าง บีบนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 10 เดือน บังคับใช้ พ.ค.นี้

ครม.เห็นชอบแก้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน บังคับอายุ 60 ปีเกษียณ ถือเป็นเลิกจ้าง บีบนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยสูงสุด 10 เดือน บังคับใช้ พ.ค.นี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่
4 ม.ค. 2560 ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมาย คือ กำหนดกรณีการเลิกจ้างโดยเหตุเกษียณอายุให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้าง และต้องจ่ายเงินชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด คาดว่าจะบังคับใช้กฎหมายในเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่กรณีที่นายจ้างและลูกจ้างไม่ได้ตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุลูกจ้างไว้ให้ถือว่านายจ้างให้ลูกจ้างเกษียณอายุเมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยหลังจากเกษียณอายุและมีการจ่ายเงินชดเชยแล้วนายจ้างกับลูกจ้างอาจทำสัญญาจ้างงานกันใหม่โดยแตกต่างจากสัญญาเดิมก็ได้ซึ่งข้อกำหนดนี้แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่การเกษียณอายุของลูกจ้าง นายจ้างไม่มีภาระต้องจ่ายชดเชยแต่อย่างใด

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า อัตราการจ่ายชดเชยการเกษียณอายุของลูกจ้างจะครอบคลุมลูกจ้างทั้งระบบให้ได้รับการจ่ายชดเชยจากนายจ้างตามมาตรา 144 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่กำหนดการชดเชยการเลิกจ้างกรณีที่ลูกจ้างทำงานตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ให้ได้รับชดเชยค่าจ้างในอัตรา 10 เดือน กรณีทำงาน6-10 ปี ได้รับชดเชยค่าจ้าง 8 เดือน และกรณีทำงานตั้งแต่ 3-6 ปี ได้รับชดเชย 6 เดือน

ทั้งนี้ หากนายจ้างรายใดไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษสำหรับนายจ้าง ทั้งโทษทางอาญาที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินปีละ 1 แสนบาท และทางแพ่งที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในการจ่ายเงินล่าช้า 15% ต่อปี และสามารถคิดอัตราค่าปรับเพิ่มเติมอีก 15% ของเงินต้นทุกๆ 7 วัน

“การปรับปรุงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเกษียณอายุของลูกจ้าง ถือเป็นการปฏิรูปที่สำคัญสำหรับแรงงานสูงอายุ ซึ่งจะมีแรงงานสูงอายุได้รับประโยชน์ปีละประมาณ3-4 แสนคน” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานรอบนี้ ยังเพิ่มเติมอำนาจคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับกลุ่มลูกจ้างต่างๆ ให้ครอบคลุมแรงงานอีก 3 กลุ่ม ได้แก่ แรงงานคนพิการ แรงงานเด็กรวมทั้งนิสิต นักศึกษา และผู้สูงอายุ เพื่อให้ครอบคลุมการจ้างงานทั้งระบบให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย