รฟม.เร่งเดินหน้ารถไฟฟ้าภูเก็ต 3 หมื่นล้าน
รฟม.ลุยรถไฟฟ้าภูเก็ต 3 หมื่นล้าน เปิดประมูลปีหน้า คาดเปิดใช้ปี 65 มั่นใจสร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวคุ้มค่าการลงทุน
รฟม.ลุยรถไฟฟ้าภูเก็ต 3 หมื่นล้าน เปิดประมูลปีหน้า คาดเปิดใช้ปี 65 มั่นใจสร้างประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวคุ้มค่าการลงทุน
นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการ ผู้ว่า รฟม. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มีมติเห็นชอบแผนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ต ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร วงเงิน 30,154 ล้านบาท รฟม.จะเร่งดำเนินการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุน (รายงานพีพีพี) กำหนดระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 3 เดือน ก่อนสรุปผลรายงานผลการศึกษาภายในต้นปี 2561 เพื่อเปิดประมูลโครงการต่อไป
นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะเสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในกลางปี 2561 จากนั้นจะดำเนินการเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูลโครงการใช้เวลาราว 6-8 เดือน ดังนั้นภายในกลางปี 2562 จะต้องลงนามสัญญาโครงการได้และดำเนินการก่อสร้างตามกรอบเวลา 3 ปี เพื่อเปิดใช้รถไฟฟ้าแทรมภูเก็ตภายในปี 2565
"ยืนยันว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก เพราะเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมสนามบินภูเก็ตเข้าสู่ตัวเมือง รวมทั้งรองรับการเดินตามแนวเส้นทาง มั่นใจว่าจะเกิดความคุ้มค่าในการลงทุนอย่างแน่นอน"นายธีรพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้า จ.ภูเก็ต นั้นกำหนดเป็นรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit ) ระบบ Tramway โดยสำนักนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดของโครงการระยะแรก ระยะทาง 41.7 เป็นรางที่วิ่งระดับดิน ยกเว้นช่วงที่เชื่อมเข้าไปยังท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต จะเป็นสถานียกระดับและมีทางลอดรถไฟฟ้า 3 ทางลอด ไปตามแนวทางหลวงหมายเลข 402 จุดเริ่มต้นจากท่าอากาศยานภูเก็ตไปสิ้นสุดที่ด้านเหนือของห้าแยกฉลองรัฐ (บนถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ซึ่งห่างจากห้าแยกฉลองรับประมาณ 200 เมตร )
นายธีรพันธ์กล่าวต่อว่า ขณะที่ความคืบหน้าโครงการพัฒนารถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนในลำดับถัดไปที่ รองนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดให้ดำเนินการต่อจากรถไฟฟ้าภูเก็ต จากนั้นจะเป็น นครราชสีมา หาดใหญ่ จ.สงขลา ส่วนขอนแก่นมีแนวโน้มว่าองค์กรท้องถิ่นและภาคเอกชนในพื้นที่มีความพร้อมจะดำเนินการเอง ถือเป็นแนวโน้มและทิศทางที่จะใช้เป็นกรณีศึกษาได้หากสามารถที่จะผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นได้
แหล่งข่าวจาก สนข. กล่าวว่า สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท อยู่ระหว่างการวิเคราะห์เปรียบเทียบ เพื่อคัดเลือกแนวเส้นทางในเขตเมืองระหว่างโครงข่ายระบบรางบนดินกับใต้ดินร่วมกัน กับระบบที่ใช้รางวิ่งบนดิน รวม 3 เส้นทาง ระยะทาง 36 กม. มี 35 สถานี การศึกษาคืบหน้า 90 % จะแล้วเสร็จภายใน ส.ค.นี้ในขณะที่ที่ประชุม คจร.ได้รายงานความคืบหน้าผลกการศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางรางในเมืองภูมิภาคในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น หาดใหญ่ โดยตั้งเป้าว่าจะเสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติโครงการภายในปี 2560 – 2561
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนข.ได้รายงานความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าภูมิภาคให้ที่ประชุม คจร.รับทราบประกอบด้วย รถไฟฟ้าหาดใหญ่ จ.สงขลา วงเงิน 16,100 ล้านบาท ขณะนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยเส้นทาง ที่เหมาะสมคือสายคลองหวะ-สถานีรถตู้ เป็นรูปแบบระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Mono Rail) ระยะทาง 12.54 กม มีสถานีทั้งหมด 12 สถานี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแก้รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามความเห็นของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
ส่วนรถไฟฟ้าขอนแก่น สนข. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาจัดทำแผนแม่บทออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะในเขตจังหวัดขอนแก่น และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเส้นทางสายแนวเหนือ-ใต้ (สำราญ-ท่าพระ) ระยะทางประมาณ 22.8 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยใช้ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit, LRT) ขณะที่รถไฟฟ้านครราชสีมา สนข. อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดนครราชสีมา โดยกำหนดแนวเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะไว้ 3 เส้นทาง โดยจะเร่งรัดการศึกษาให้แล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2560