posttoday

ผุดแผนแก้รถติดทางด่วนดีเดย์ต้นปี 61 เปิดตัวพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด่วน4.0

26 กันยายน 2560

กทพ.เตรียมทดลองทำรีเวิร์สเลนทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เดือนก.พ.ปีหน้า ด้านแผนกวิจัยสำเร็จอีกขั้นพัฒนาแอพลิเคชั่นขั้น 3 อำนวยความสะดวกผู้ใช้สมาร์ทโฟนบนทางด่วนทั้งระบบ

กทพ.เตรียมทดลองทำรีเวิร์สเลนทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ เดือนก.พ.ปีหน้า ด้านแผนกวิจัยสำเร็จอีกขั้นพัฒนาแอพลิเคชั่นขั้น 3 อำนวยความสะดวกผู้ใช้สมาร์ทโฟนบนทางด่วนทั้งระบบ

นายเอกรินทร์ เหลืองวิลัย หัวหน้าแผนกทดสอบ ควบคุมคุณภาพและพัฒนามาตรฐาน กองวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.เตรียมนำระบบรีเวิร์สเลนส์ (Reversable lane) มาใช้แก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนโดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนที่มีการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นกทพ.จะนำระบบดังกล่าวมาทดลองใช้บน ทางด่วนฉลองรัช(รามอินทรา-อาจณรงค์) ในเดือน ก.พ. 2562 โดยจะเริ่มดำเนินการเดือนก.พ.ปีหน้า เนื่องจากทางด่วนดังกล่าวมีปริมาณจราจรขาเข้าเมืองช่วงเช้าจำนวนมาก สวนทางกับทางออกเมือง สลับกับช่วงเย็นที่เป็นไปในทางตรงข้าม ดังนั้นจึงสามารถเปิดช่องทางรีเวิร์สเลนได้

"ลักษณะการทำรีเวิร์สเลนบนเส้นทางด่วนนั้น จะต้องศึกษาว่าเส้นทางด่วน เส้นทางใดมีปริมาณจราจรหนาแน่นช่วงขาเข้า-ออกเมืองไม่เท่ากัน จะสามารถบริหารจัดการผิวจราจรได้ ซึ่งทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์เป็นเส้นทางที่ตรงกับการศึกษาดังกล่าว และมีรถติดนานถึง 3 ชม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการทุบเกาะกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้" นายเอกรินทร์กล่าว

นายเอกรินทร์กล่าวต่อว่า การทำรีเวิร์สเลนดังกล่าวจะมีการเก็บสถิติเพื่อประเมินผลโดยใช้ระยะเวลา 1 เดือน หากประสบความสำเร็จช่วยบริหารปริมาณจราจรจรบนทางด่วนได้ ก็จะทำอย่างเนื่อง ซึ่งปัจจุบัน จุดที่รถติดบนทางด่วนมากที่สุด 5 แห่ง ได้แก่ ประชาชื่นขาเข้าเมือง, อโศก, ศรีนครินทร์, สุขุมวิท 62 (บางนาขาเข้าเมือง) และพระราม 4 (บ่อนไก่)

ด้านเทพฤทธิ์ รัตนปัญญากร หัวหน้าแผนกวิจัยและพัฒนาระบบจราจร กองวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมระบบทางพิเศษ (กทพ.) กล่าวว่า กทพ.ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นขั้นที่ 3  ซึ่งแอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด จะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการทางด่วนได้มากขึ้น โดยสามารถรายงานจราจรเป็นเส้นสีในเส้นทางด่วนทุกระบบใช้ได้กับสมาร์ทโฟนทั้ง iOS และ Android เพียงดาวน์โหลอดแอพลิเคชั่น EXAT Traffic

"เราเน้นพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้ทางด่วนได้ทราบสภาพการจราจรเส้นสี ทั้งรู้ตำแหน่งของผู้ใช้ บอกรายละเอียดกระทั่งจะผ่านใด ค่าทางด่วนเท่าไร ตรงไหนมีห้องน้ำ หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง บอกแม้กระทั่งช่องทาง Easy pass อยู่ตรงไหน เป็นต้น สามารถสื่อสารได้สองทาง เลือกแจ้งเหตุด่วนได้โดยง่าย ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการแอพพลิเคชั่นนี้ประมาณ 1.2 แสนคน"

สำหรับแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ประกอบด้วย 7 เมนูหลัก ได้แก่

1.OverviewMap แสดงสภาพการจราจรในรูปของเส้นสี Update สภาพการจราจรอัตโนมัติ แสดงข้อความสำคัญเฉพาะสายทางที่ใช้งานอยู่แชร์ข้อมูลไปยัง Social Network ยอดนิยมต่างๆ ได้

2.SmartMap ค้นหาต้นทาง-ปลายทางแสดงตำแหน่งและรายละเอียดจุดสำคัญบนทางพิเศษ อาทิ จุดพักรถ สถานีตำรวจ ศูนย์ควบคุมทางพิเศษฯภาพจากกล้อง CCTV ตำแหน่งและเส้นทางไปขึ้นทางพิเศษที่ใกล้ที่สุด (Around Me)

3.Easy Pass มีเมนูเพื่อ Login เข้าสู่หน้า Easy Pass ได้อย่างสะดวกตรวจสอบสถานะและยอดคงเหลือในบัตร

4.Emergency Call โทรเข้าศูนย์ควบคุมทางพิเศษที่รับผิดชอบ (มี 7 ศูนย์) โดยตรงเพื่อให้คุณได้คุยกับเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วการติดต่อหน่วยฉุกเฉินอื่นๆ ที่จำเป็น

5.Message&Feedback ข่าวสารที่สำคัญ ส่งตรงถึงคุณเมื่อคุณอยู่บนทางพิเศษตลอดจนเปิดกว้างรับทุกความคิดเห็น

6.Setting เลือกภาษาและการตั้งค่าที่เหมาะสม กับการใช้งานของคุณ

7.Dash Board แสดงข้อมูลรายละเอียดต่างๆของระบบทางด่วน

ผุดแผนแก้รถติดทางด่วนดีเดย์ต้นปี 61 เปิดตัวพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด่วน4.0

ผุดแผนแก้รถติดทางด่วนดีเดย์ต้นปี 61 เปิดตัวพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด่วน4.0

ผุดแผนแก้รถติดทางด่วนดีเดย์ต้นปี 61 เปิดตัวพัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด่วน4.0