ยาแรง 7 ชั่วโคตร
ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สำหรับกฎหมาย 7 ชั่วโคตร หรือ ร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
โดย... ณ กาฬ เลาหะวิไลย
ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว สำหรับกฎหมาย 7 ชั่วโคตร หรือ ร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม
ร่างกฎหมายดังกล่าวจะสร้างผลกระทบโดยตรง ไล่ตั้งแต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ไปถึงผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ข้าราชการประจำ พนักงานและบอร์ดวิสาหกิจ รวมไปถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทุกแห่ง
ประเด็นหลักของร่างกฎหมายก็คือการป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่สร้างผลประโยชน์ทับซ้อน ที่แม้ไม่ใช่การทุจริตโดยตรง แต่หากมีพฤติกรรมดังกล่าวก็ถือว่ามีความผิด
ขอบเขตการควบคุมของร่างกฎหมายยังขยายวงไปถึงลูกผู้สืบสันดาน บุพการี คู่สมรส พี่น้อง บุตรบุญธรรม คู่สมรสของลูก เลยเป็นที่มาของคำว่ากฎหมาย 7 ชั่วโคตร
ในร่างกฎหมายมีการระบุถึงลักษณะการกระทำผิดไว้ อาทิ การกำหนดนโยบาย การเสนอหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย หรือร่างกฎต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตัวเองหรือผู้เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้นจะห้ามการใช้ข้อมูลภายในที่ยังเป็นความลับ ห้ามการริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการ ห้ามใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัด ห้ามใช้ตำแหน่งหรืออำนาจตามหน้าที่ในสารพัดรูปแบบการอนุมัติ ทั้งการอนุมัติ ไม่อนุมัติ หรือให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ในบังคับบัญชาเพื่อเอื้อประโยชน์ทางอ้อม
ในแง่การรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เป็นสิ่งต้องห้าม แม้ว่าผู้มอบจะระบุให้เป็นการส่วนตัวก็ตาม เว้นแต่เป็นสิ่งที่อาจได้รับตามกฎหมายหรือกฎ หรือเป็นสิ่งที่ได้รับตามจำนวนที่สมควรตามปกติประเพณีนิยมในการปฏิบัติหน้าที่
ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ครอบคลุมถึง การปลดหนี้ การลดหนี้ การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย การเข้าค้ำประกันไม่คิดค่าธรรมเนียม การให้ค่านายหน้า การขายหรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินแก่เจ้าหน้าที่ในราคาต่ำกว่าปกติ หรือการซื้อหรือให้เช่าทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐในราคาสูงกว่าปกติ
การให้ส่วนลดในสินค้าหรือทรัพย์สินที่จำหน่าย การให้รางวัล การจ่ายเงินล่วงหน้าและคืนให้ภายหลัง การให้ค่าเดินทาง หรือบริการขนส่ง ทั้งให้ตัวบุคคล สิ่งของ การจัดเลี้ยง การจัดมหรสพหรือการบันเทิงอื่น การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร กฎหมาย หรือบัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติ เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นการกระทำผิด
ผู้ที่สมรู้ร่วมคิดในพฤติกรรมทั้งหมด ก็จะมีโทษตามกฎหมายด้วย
การกระทำที่สร้างผลประโยชน์ทับซ้อน ในหลักใหญ่จะกำหนดครอบคลุมอีกชั้นไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย
เห็นร่างกฎหมายอย่างนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่รัฐคงจะต้องระวังตัวแจและคิดหนักเอาการ
ผิดพลาดพลั้งไปได้เดือดร้อนยกตระกูล