posttoday

DSIเผย สกสค.ลงทุนโรงไฟฟ้า 800ล้านเข้าข่ายขัดกฎหมาย

04 กุมภาพันธ์ 2559

ดีเอสไอ สรุปผลสืบสวนคดี สกสค.ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 800 ล้านบาท พบเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมายทุจริต

ดีเอสไอ สรุปผลสืบสวนคดี สกสค.ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 800 ล้านบาท พบเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมายทุจริต

พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยความหน้ากรณีตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. เข้าร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด. ว่า สืบเนื่องจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ทำการสืบสวน กรณีคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.) ได้ร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จำนวน 800 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนตั้งแต่เดือน สิงหาคม2558 พบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งการดำเนินการของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด  มีมูลเข้าข่ายการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ซึ่งอยู่ในอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการต่อไป และแจ้งเรื่องให้ ศอตช., สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. และ สำนักงาน ปปง. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อ

รายงานข่าวจากดีเอสไอแจ้งว่า สำหรับผลการสืบสวน สรุปดังนี้ 1.อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ได้ใช้อำนาจยกเลิกระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ว่าด้วยกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.(ระเบียบเก่า)เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 และได้ออกระเบียบใหม่ฉบับปี พ.ศ.2554 โดยมีการแก้ไขหลักการสำคัญเกี่ยวกับการบริหารกองทุนฯหลายประการ เช่น เดิมประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ คือ เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.ซึ่งดำรงตำแหน่งได้ 4 ปี ก็แก้ไขใหม่เป็นประธานกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มาโดยการสรรหาตามหลักการและวิธีการคณะกรรมการ ช.พ.ค. กำหนด และให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 6 ปี นอกจากนั้นกำหนดให้เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.เป็นรองประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เพื่อให้อดีตเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. เป็นประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ และมีอำนาจสั่งการอนุมัติกองทุนฯ ได้ 2.การร่วมลงทุนกับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ในโครงการพลังงานไฟฟ้าขยะชุมน มีข้อพิรุธ และพบข้อเท็จจริงหลายประการ กล่าวคือ
 
2.1 การเพิ่มทุนในบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จากมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียน 1 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาทพบว่าเอกสารรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่แจ้งต่อนายทะเบียนพาณิชย์ นอกจากนั้นการซื้อขายหุ้นระหว่างกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษฯ ช.พ.ค.ในนามสำนักงานคณะกรรมการสกสค.กับบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด จำนวน 32 ล้านหุ้นๆละ 25 บาท รวม 800 ล้านบาทเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของบริษัทตามหนังสือบริคณห์สนธิไม่ได้ให้อำนาจให้บริษัทออกหุ้นที่มีมูลค่ามากกว่าที่ตราไว้ ดังนั้นเงินส่วนเกินจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้

บริษัทจึงรับไว้ในฐานะลาภมิควรได้ส่งผลทำให้สำนักคณะกรรมการ สกสค.ได้รับความเสียหายจากการจ่ายเงินค่าหุ้นเกินกว่าที่ตราไว้

2.2ในช่วงที่มีการดำเนินการซื้อขายหุ้นและเพิ่มทุนของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. บางท่านได้รับผลประโยชน์จากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องบริษัทฯ โดยมีการโอนเงินเข้าบัญชี

2.3 การดำเนินการของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เกี่ยวกับการดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน พบว่าการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าขนาด 3.5 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ตามสัญญาฉบับลงวันที่ 3  เมษายน 2556 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แจ้งสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2558  เนื่องจากไม่สามารถเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนกรณีที่ทางบริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด ได้ยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 4.9 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557  ขณะนี้ยังไม่ได้รับการอนุมัติหรือเริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด เป็นเหตุให้สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้รับ ความเสียหาย