posttoday

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) สังฆโสภณของราชอาณาจักรไทย

20 พฤศจิกายน 2559

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่เคยพบและเข้าใกล้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ไม่ว่าจะในช่วงไหน สมัยใด

โดย...สมาน สุดโต

ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่เคยพบและเข้าใกล้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ไม่ว่าจะในช่วงไหน สมัยใด ตั้งแต่ยังเป็นพระมหาประยุทธ์ จนกระทั่งเป็นพระมหา เถระชั้นเจ้าคณะรอง จะพบว่าท่านมีความเสมอต้นเสมอปลาย ปฏิสันถาร ต้อนรับอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยน แปลง ผู้ที่กราบและใกล้ชิดจึงกราบด้วยความสนิทใจ และฟูใจ เพราะท่านคือสังฆโสภณของคณะสงฆ์และของชาติไทย

อ่านหนังสือกว่าจะพบหลวงลุงฉายแล้วพากันไปวัดญาณเวศก์ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2) 12 ต.ค. 2558 จะเห็นภาพพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยจากวัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิด เข้ามาเรียนธรรมบาลีในกรุงเทพฯ โดยพำนัก ณ วัดพระพิเรนทร์ ถนนวรจักร เมื่อ พ.ศ. 2494 ที่เป็นคนเก่งเรียนจบทุกชั้นทุกประโยคตั้งแต่เป็นสามเณร คือสอบบาลีได้ ป.ธ.9  เมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นรูปที่ 2 ในรัชกาลที่ 9 และรูปที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์ และจบพุทธศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) ในปีเดียวกัน ยังไม่รวมวุฒิที่สมัครสอบจากกระทรวงศึกษาธิการ เช่น วุฒิครูมัธยม ศึกษา (พ.ม.) เป็นต้น

เมื่อจบชั้นสูงสุด รวมทั้งเป็นนาคหลวงเมื่ออุปสมบทเดือน ก.ค. 2504 ท่านกลายเป็นพระนักศึกษาที่ทรงความรู้ เป็นที่ต้องการของสถาบันต่างๆ ไม่รวมมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่จองตัวให้เป็นอาจารย์สอน รวมทั้งทำหลักสูตรโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ การเขียนแบบเรียนภาษาอังกฤษ โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์

ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของคณะสงฆ์ รวมทั้งทำงานที่ชอบคือการเขียนพจนานุกรมท่านเล่าว่า เมื่อเดือน มิ.ย. 2504 สมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณมหาเถระ วัดเบญจมบพิตร เสด็จสหรัฐอเมริกา และยุโรป เยี่ยมเยียนสถาบันการศึกษาที่สอนวิชาพระพทธศาสนา โดยมี ฟุ้ง ศรีวิจารณ์ อธิบดีกรมการศาสนาเดินทางด้วย จึงเกิด ความคิดหลายอย่างเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าในด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนา กลับมาจึงตั้งหน่วยวิจัยทางพระพุทธศาสนาขึ้นวันที่ 1 พ.ย. 2504 มี พระราชาคณะ รวมทั้งพระมหาเปรียญ 9 รวมทั้งตัวท่านเจ้าคุณ ซึ่งเพิ่งบวชใหม่ก็ถูกเรียกไปร่วมงาน ได้รับมอบหมายให้อยู่ในคณะทำงานพจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ เป็นการริเริ่มที่สำคัญ แต่ท่านว่าจะให้กว้างยิ่งขึ้นต้องมีพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา ท่านจึงเริ่มเขียนพจนานุกรมศัพท์พระพุทธศาสนา บาลี-ไทย-อังกฤษ เดือน ต.ค. 2506 ซึ่งต่อมาคือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ กับพจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลธรรม งานพจนานุกรมดังกล่าวมาทำที่วัดตอนค่ำ แต่ทำได้ไม่เท่าไรต้องไปทำงานบริหาร เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ มจร เมื่อ พ.ศ. 2507 คราวนี้งานท่วมท้นทั้งบริหาร และวิชาการ ที่จำวัดของท่านแทนที่จะเป็นวัดพระพิเรนทร์ กลายเป็น มจร วัดมหาธาตุไปเสียแล้ว

อ่านถึงตอนที่ท่านทำงานหลายอย่าง แต่เชื่อหรือไม่ท่านไม่เคยขอให้ใครช่วยเหลือในงานส่วนตัว เช่น ซักสบง-จีวร เช็ดถูพื้นกุฏิ ทำความสะอาด ล้างบาตร ล้างจานที่ฉันอาหาร ท่านทำได้เองได้อย่างง่ายดายเคยชินตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่อเป็นพระก็ทำต่อมาจนชรา ท่านว่าการที่ทำอย่างนี้เป็นความสะดวก โปร่ง โล่ง เบาตัว ท่านนั้นใช้ผ้าเพียง 3 ผืน กลางคืนซัก ตากในกุฏิ รุ่งขึ้นนำมาห่มได้เลย ส่วนที่นอนชอบที่สุดคือนอนบนพื้นกระดาน แต่เมื่อมานอนที่ มจร ใช้เสื่อปู 1 ผืน เพราะคนเข้าออกบ่อย หรือถ้านอนบนโต๊ะที่มีกระจกก็ใช้เสื่อปูทับกันเหนอะหนะ

เมื่อรับนิมนต์ไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ปี 2515, 2519 หรือ 2524 ท่านไม่ได้ครองผ้าอื่นนอกเหนือจากจีวรที่พระธรรมวินัยอนุญาต แม้จะมีโยมฝรั่งหวังดีหาผ้าหนาตัดเย็บอย่างดีมาถวายให้ห่มช่วงฤดูหนาว แต่ก็สนองศรัทธาได้ระยะเวลาสั้นเท่านั้นที่น่าตื่นเต้นในการไปปสอนที่ Swartmore สหรัฐอเมริกา เริ่มเดินทาง 23 ม.ค. 2519 โดยมี บุญเลิศ โพธินี เป็นไวยาวัจกร บุญเลิศนำแคนติดตัวไปด้วย ถึงสนามบินฮาวาย ต้องเป่าแคนโชว์ เพราะ ตม. ฝรั่งสงสัยว่ามันคืออะไร อีกครั้งหนึ่งเป่าแคนนำขบวนฝรั่งนักศึกษามาถวายอาหารที่พักของท่านเจ้าคุณ ในช่วงสงกรานต์ผ่านบ้านฝรั่ง ที่ไม่ยอมให้ใครละเมิด ความเป็นส่วนตัว (Privacy) อาจมีอารมณ์ไม่ชอบ หลังจากนั้นทำให้เกิดกรณีเหมือนขู่คือเอาสุนัขดุ ตัวใหญ่มาผูกไว้เมื่อท่านเดินไปมหาวิทยาลัย สุนัขตัวใหญ่ เห่าเสียงดัง ทำให้ตกใจ เมื่อเห็นว่าผูกไว้ ไม่ออกมาทำร้าย วันต่อมาก็เดินห่างออกไป

ท่านย้อนเล่าเรื่องเมื่อ พ.ศ. 2515 ที่ไปบรรยายที่เพนซิลเวเนีย ครั้งนั้นมีพระเถระผู้ใหญ่อีก 2 รูป ไปด้วยคือพระธรรมคุณาภรณ์ (หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว) พระเทพวรเวที (สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ช่วง) ทั้ง 3 รูป เดินที่ฟุตปาทในนครวอชิงตัน ดี.ซี. เด็กฝรั่งนั่งรถผ่านตะโกนเรียกว่า หริกฤษณะ เพราะเห็นห่มเหลืองเหมือน หริกฤษณะ นักบวชฮินดู ท่านบอกว่าเรื่อง Intolerance ระหว่างศาสนาต้องยันต้องข่มด้วยกฎหมายเท่านั้น

ขณะที่อยู่สหรัฐอเมริกาก็สร้างผลงานมาก เช่น ธรรมนูญชีวิต ที่ได้รับการพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วนในปัจจุบัน และเป็นผู้ร่วมการก่อตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (21 ต.ค. 2519) ซึ่งเป็นศูนย์รวมคณะสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ถึงทุกวันนี้

อ่านหนังสือนี้นอกจากรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวท่าน ยังรู้การเกิดของหนังสือ อีกหลายเล่ม เช่น พุทธธรรม และยังรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การปกครองของประเทศต่างๆ เช่น เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว อีกด้วย เพราะท่านคือนักบันทึกเหตุการณ์ในสมุดบันทึกประจำวัน

ตามประวัตินั้น ศาสตราจารย์พิเศษ พระพรหมคุณาภรณ์ นามเดิม ประยุทธ์ อารยางกูร ฉายา ปยุตฺโต หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา “ป.อ. ปยุตฺโต” เกิดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2481 ที่ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อ ปี พ.ศ. 2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพ มหานคร จนสอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร นับเป็นรูปที่สองในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปที่สี่ในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2504 ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์

ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ด้วยผลงานของท่านทำให้ท่านได้รับรางวัลและดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน ทั้งในและนอกประเทศ รวมมากกว่า 20 สถาบัน ซึ่งนับว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่องให้ได้รับ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน

นอกจากนั้น ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)

ในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษาอยู่ที่วัดญาณ เวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม (เป็นข้อมูลจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)ส่วนเรื่องที่ต้องออกจากวัดพระพิเรนทร์ ไปหาที่สัปปายะ เหมาะแก่สภาพสังขาร ตามที่เล่าไว้ในหนังสือก็เพราะสภาพในวัดพระพิเรนทร์ ที่อยู่กลางกรุงแวดล้อมด้วยตึกรามบ้านช่องด้านนอกแม้จะมีกำแพงกั้น แต่มลพิษไม่มีอะไรขวางกั้น เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส วัดพระพิเรนทร์มรณภาพก่อนวัยอันควรก็เพราะโรคที่มีปัจจัยภายนอกมาเบียดเบียน คือโรคทางเดินหายใจและวัณโรค ตัวท่านเจ้าคุณเองก็ไม่เว้น เริ่มจากเป็นวัณโรค ต่อมารักษาหายแต่ปอดชำรุดแล้ว หลอดลมพิการ หายใจยาก พูดลำบาก ตามมาด้วยเจ็บหน้าอก เสมหะติดคอ เหนื่อย อึดอัดสารพัด

ก่อนจะมาสร้างวัดญาณเวศกวัน ญาติโยมพาไปพักศาลากลางน้ำที่ อ.ลำลูกกา อยู่ 3 พรรษา โดยคณะที่ติดตามได้แก่ พระครูปลัด (อินศร) และพระครูสังฆรักษ์ (ฉาย) รวมทั้งท่านเจ้าคุณ จึงเป็น 3 รูป และทั้ง 3 รูปนี้คือพระสงฆ์คณะแรกที่จำพรรษา ณ วัดญาณเวศกวัน เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2532 แม้จะอยู่วัดญาณเวศกวัน สิ่งแวดล้อมดี แต่พูดนานไม่ได้ จึงต้องไปหาที่ที่ไม่ต้องพูดและใช้เสียง จึงจรหาที่สัปปายะที่จะฟื้นกำลังปอดให้พอแก่งาน เช่น 7 เดือน ใน พ.ศ. 2557 อยู่ถึง 5 จังหวัด เพื่อรักษาปอด

ความสามารถและผลงานไม่สามารถถ่ายทอดได้หมด เพราะมากมายเหลือคณานับจริง แม้จะเป็นพระนักวิชาการ มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของชนทุกชั้นทั้งในและนอกประเทศ เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นสังฆโสภณ แต่ปฏิปทาคงเส้นคงวา กราบไหว้ได้สนิทใจจริงๆ จึงไม่แปลกใจที่ได้ยินเสียงสาธุกึกก้อง เมื่อทราบข่าว ที่เป็นมงคล แต่ยังไม่เป็นทางการว่าท่านจะได้รับการสถาปนาอีกครั้ง